|
ออสเตรเลีย
โดย
วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อไม่นานนี้รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลียออกมาประกาศยุทธศาสตร์สำคัญว่า ประเทศของเขาจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคนี้
ยุทธศาสตร์นี้ดูจะมิใช่เรื่องใหม่นัก เนื่องจากในความเป็นจริงประชากรในเอเชียจำนวนไม่น้อยได้เข้าสู่ระบบการศึกษาของออสเตรเลียอย่างเด่นชัดและมีจำนวนมากขึ้นในหลายปีมานี้ ที่น่าสนใจของประเด็นใหม่น่าจะอยู่ที่ออสเตรเลียจะรักษาความเป็นผู้นำในเรื่องนี้อย่างไรต่างหาก
ออสเตรเลียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ลงทุนกับการศึกษาอย่างมากให้กับประชากรของตนเอง และจากนั้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็เริ่มพัฒนาเข้าสู่ยุคใหม่ ในยุคการศึกษากลายเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้สูงมากทีเดียว ที่สำคัญกลายเป็นศูนย์การศึกษาสำคัญแห่งใหม่ของโลก รองจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร
ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง ออสเตรเลียพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อการส่งออก มีรูปแบบหลากหลายและเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
นี่คือประเด็นการปรับตัวที่น่าสนใจ และมีผลกระทบต่อทั้งภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ประเทศออสเตรเลียมีระบบการศึกษาที่หลากหลาย หลายระดับ และมีสถาบันจำนวนมากพอที่จะเป็นสินค้าที่มีความหลากหลายของตนเอง ความหลากหลายนี้จึงกลายเป็น ความหลากหลายของนักศึกษาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชีย ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้เกิดบุคลิกใหม่ที่น่าสนใจ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ที่ไม่สมดุลกับการพัฒนาทางการศึกษา การลงทุนเรื่องการศึกษากลายเป็นความจำเป็นที่รอไม่ได้ ตลาดใหญ่ย่านนี้จึงเป็นฐานที่สำคัญของออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม พลวัตของการศึกษาระหว่างประเทศก็ยังปรับตัวอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนนโยบาย กฎระเบียบ สถานการณ์ ของแต่ละประเทศ รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนของเงิน ฯลฯ ล้วนเป็นปัจจัยของความไม่แน่นอนทั้งสิ้น มันเป็น "ความอ่อนไหว" ของอากัปกิริยาเคลื่อนย้ายของนักศึกษาที่แสวงหาการศึกษาในต่างประเทศทั้งสิ้น
ออสเตรเลียเป็นศูนย์กลางใหม่ มีการปรับตัวเร็วกว่าทุกที่ ก็ว่าได้โดยพยายามสร้างระบบการศึกษาที่เป็นเครือข่ายทั้งภูมิภาค มีการส่งออกความร่วมมือไปในย่านประเทศเป้าหมาย รวมทั้งตั้ง Campus ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในภูมิภาค แม้กระทั่งการเรียนทางไกล ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีประสบการณ์ และโนว์ฮาวมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่งด้วย
การสร้าง Campus ใหม่ๆ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก
นอกจากจะสร้างความหลากหลายของบริการการศึกษาแล้ว ในความหลากหลายที่สำคัญประการหนึ่งก็คือค่าใช้จ่าย เท่าที่ศึกษาพบว่า Campus ในมาเลเซียมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการเรียนที่ออสเตรเลียมากกว่า 2 เท่า เช่นเดียวกับเวียดนาม ส่วนที่สิงคโปร์ประมาณ 1 เท่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นดูจะเป็นไปตามแนวความคิด Global Factory ของญี่ปุ่นเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว อันเนื่องมาจากค่าเงินเยนที่แข็งค่า ทำให้สินค้าญี่ปุ่นไม่สามารถรักษาตลาดสำคัญในย่านนี้ไว้ได้ ในที่สุดญี่ปุ่นก็ย้ายโรงงานไปที่ประเทศเป้าหมายเสียเลย
การศึกษาจากนี้ไปเป็นเรื่อง Globalization มากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ โครงสร้าง องค์กร และการบริหาร ซึ่งบังเอิญที่ประเทศเรามีความ "อ่อนแอ" มากที่สุดในเรื่องนี้เสียด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|