|
ตามไปดูมาติส
โดย
สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญศิลปะ อีกทั้งไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด หากพอรู้บ้างว่าใครเป็นใคร ด้วยเหตุนี้จึงขวนขวายไปชมทุกครั้งที่มีนิทรรศการผลงานของจิตรกรดัง เป็นการเพิ่มพูน "วัฒนธรรม" และ "ปัญญา" ส่วนตัว
เห็นข่าวนิทรรศการของอองรี มาติส (Henri Matisse) ที่พิพิธภัณฑ์ลุกซองบูรก์ (Musee du Luxembourg) ในบริเวณพระ ราชวังลุกซองบูรก์ (Palais du Luxembourg) อันเป็นสถานที่ตั้งของวุฒิสภา จำต้องไปดู ทว่ายังนึกขยาดแถวยาวของผู้รอเข้าชม จึงผลัดวันประกันพรุ่งอยู่นั่นแล้ว จนกระทั่งเพื่อน ซึ่งเป็นอาร์ติสต์มาเยือน
อองรี มาติส เป็นจิตรกรร่วมสมัยของ ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) ประชันขันแข่งกันในที เขาเป็นชาวเหนือเกิดที่เมืองกาโต-กองเบรซิส (Cateau-Cambresis) เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 1869 ได้เลือดอาร์ติสต์ จากแม่ซึ่งเขียนลายบนพอร์ซเลน จึงซึมซับเรื่องสี ระหว่างพักฟื้นหลังผ่าตัดไส้ติ่งในปี 1890 แม่มอบสีเขียนรูปให้หนึ่งชุด และนั่นเป็น จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจการเขียนภาพ
อองรี มาติส จบการศึกษาด้านกฎหมาย ที่กรุงปารีสและเข้าฝึกงานเป็นเสมียนสำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง พ่อมาดหมายให้ลูกชาย สืบทอดกิจการค้าของครอบครัว หากเขาไม่ชอบ ประกอบกับได้รับแรงสนับสนุนจากแม่ จึงหันไปเรียนเขียนรูปที่ Academie Julien จนสอบเข้าวิทยาลัยจิตรกรรม (Ecole des Beaux Arts) อันเลื่องชื่อและได้ฝึกเขียนรูปกับกุสตาฟ โมโร (Gustave Moreau) นำผลงานออกแสดงครั้งแรกในปี 1896 ในครั้งนั้น รัฐได้ซื้อภาพเขียนชื่อ La Liseuse ไว้ เขาเคยแสดงภาพเขียนร่วมกับเดอแรง (Derain) และวลามิงค์ (Vlaminck) การใช้สีแรงของจิตรกรกลุ่มนี้ทำให้ได้รับการเรียกขานว่า les fauves และเป็นที่มาของการเขียนภาพแบบ fauvisme อีกทั้งเคยร่วมแสดงภาพเขียนประชันกับปาโบล ปิกัสโซ ในปี 1918 ที่กรุงปารีส ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 อองรี มาติส พำนักที่เมืองนีซ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เขาเป็นจิตรกรที่ชอบเดินทาง เคยไปเที่ยวเมืองตองเจร์ (Tanger) ในโมร็อกโก รัสเซีย ตาฮิติ มาร์ตินิก กัวเดอลูป ปานามา สหรัฐ อเมริกา เป็นต้น เศรษฐีอเมริกันสั่งผลงานของ เขา และเมื่อเปิดแกลเลอรีชื่อปิแอร์ มาติส (Pierre Matisse) ในนครนิวยอร์ก
ในปี 1931 ผลงานของเขายิ่งแพร่หลายในหมู่ชาวอเมริกัน มีการแสดงภาพเขียน ของเขาที่ Museum of Modern Art ในนครนิวยอร์ก
ในปี 1938 อองรี มาติส ย้ายไปพำนัก ที่ซีมีเอซ์ (Cimiez) เมืองเล็กๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองนีซ เขาซื้ออพาร์ตเมนต์สองยูนิตและ ตีทะลุกัน อยู่ในอาคารเก่าที่ชื่อ le Regina ซึ่งสร้างขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 เพื่อรับรอง การเสด็จของควีนวิกตอเรีย และได้ออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับบัลเลต์รัสเซียแห่งมงต์การ์โล (Monte-Carlo) ในปี 1941 เขารับการผ่าตัดมะเร็งที่เมืองลิอง (Lyon) ต่อมาในปี 1943 ย้ายไปพักในวิลลาชื่อ Le Reve ที่เมืองวองซ์ (Vence) เพื่อหนีภัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 และเดินทางมาพักที่กรุงปารีสบ้างช่วงสั้นๆ เขามีอพาร์ตเมนต์ในย่านมงต์ ปาร์ นาส (Montparnass) อันเป็นศูนย์รวมอาร์ติสต์ ในยุคนั้น
หลังการผ่าตัดในปี 1941 อองรี มาติส ไม่สามารถรังสรรค์งานได้ดุจเดิม เขาจึงริเริ่มศิลปะแบบใหม่ด้วยการนำกระดาษมาตัดเป็น รูปต่างๆ และนำมาติดเข้าด้วยกัน กลายเป็น ภาพสวยอย่างน่าทึ่ง สีที่เขาใช้ยังแรง ผลงาน เหล่านี้นำออกแสดงในปี 1953 ในกรุงปารีส ลอนดอน และนิวยอร์ก พิพิธภัณฑ์มาติสแห่งใหม่เปิดในปี 1952 ที่เมืองกาโต-กองเบรซิสบ้านเกิดของเขา หลังจากนั้นสองปีอองรี มาติส ก็ถึงแก่กรรมที่เมืองนีซและฝังที่ซีมีเอซ์
ในปี 1947 แม่ชีที่เคยดูแลอองรี มาติส ขณะรับการผ่าตัดที่เมืองลิอง ได้นำภาพเขียน ที่ตนร่างไว้เพื่อทำกระจกสีสำหรับโบสถ์ Chapelle de Rosaire ที่เมืองวองซ์ที่จะบูรณะขึ้นใหม่มาให้อองรี มาติส แก้ไข ทว่าจิตรกรดังผู้นี้ตัดสินใจว่าจะเป็นผู้ออกแบบกระจกสีเอง รวมไปถึงหลังคา แชนดาเลียร์ ลายปักผ้าปูหน้าแท่นบูชา ลายกระเบื้อง ฯลฯ อองรี มาติส เดินทางกลับมายังซีมีเอร์เพื่อเริ่มทำงานให้ Chapelle de Rosaire de Vence โดยเขียนเป็นภาพร่างคร่าวๆ ก่อน มีทั้งภาพนักบุญโดมินิค ภาพพระแม่มารีอุ้มพระเยซู ภาพพระเยซูแบกไม้กางเขน...ตามผนังห้องและเพดาน หากไม่พอใจภาพร่างใด เขาจะขอให้ผู้ช่วยลบทิ้งเสีย และเริ่มร่างใหม่ในวันรุ่งขึ้น เมื่อได้ภาพที่พอใจแล้ว จึงเขียนภาพสีดำลงแผ่นเซรามิกสีขาว แล้วจึงส่งไปยังโบสถ์ ส่วนกระจกสีนั้น อองรี มาติส ใช้กระดาษสีฟ้าและสีเหลืองตัดเป็นรูปต่างๆ การบูรณะโบสถ์เสร็จสิ้นในปี 1951 ได้ภาพยาว 15 เมตร สูง 5 เมตรและกว้าง 6 เมตร งานชิ้นเอกนี้ได้รับคำชมเชยจากปาโบล ปิกัสโซ ทว่าในใจนั้น ปาโบล ปิกัสโซ อดอิจฉา เพื่อนคู่กัดมิได้ อีกทั้งไม่เข้าใจว่า ทำไมอองรี มาติส ซึ่งไม่ได้ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้านัก จึงสามารถรังสรรค์ผลงานเลิศเช่นนั้นได้ว่าพลางปาโบล ปิกัสโซรับเขียนภาพภายในโบสถ์เมืองวัลโลริส (Vallauris) ถึงสองภาพด้วยกัน ภาพหนึ่งอุทิศแก่พระผู้เป็นเจ้า อีกภาพหนึ่งแก่มนุษยชาติ
โรคภัยจำกัดให้อองรี มาติส อยู่แต่ภายในบ้าน ถึงกระนั้นเขายังคงผลิตผลงานต่อไป งานชิ้นสำคัญคือออกแบบกระจกสีในโบสถ์แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นที่รำลึกถึงนางเนลสัน ร็อกกี้เฟลเลอร์
อองรี มาติส ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 1954 ขณะอายุ 84 ปี บนเพดานห้องของเขา มีภาพเทวดาน้อยสามองค์ เขาบอกว่าเป็นภาพหลานๆ ยามค่ำคืนจะได้รู้สึกว่าไม่เดียวดาย ด้วยมีหลานๆ มองอยู่
Matisse, une seconde vie-ชีวิตที่สองของมาติส เป็นชื่อนิทรรศ การที่พิพิธภัณฑ์ลุกซองบูรก์ ด้วยว่าเป็นผลงานที่อองรี มาติส สร้างสรรค์ในช่วงหลังการผ่าตัดใหญ่ แพทย์คาดว่าอองรี มาติส คงจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 6 เดือน ทว่าเขาสามารถอยู่ได้ถึง 13 ปี จึงเสมือนว่าเขาฟื้นคืนชีพขณะอายุได้ 71 ปี นิทรรศการนี้แสดงให้เห็นว่าอองรี มาติส มิใช่เป็นจิตรกรเพียงอย่างเดียว หากยังมีพรสวรรค์เชิงวรรณกรรมด้วย เห็นได้จากบทกวีและบรรดา จดหมายที่เขาเขียนถึงอองเดร รูแวร์ (Andre Rouveyre) เพื่อนที่รู้จักกันตั้งแต่เริ่มเรียนเขียนรูปภาพเขียนที่นำมาแสดงนั้นเป็นภาพที่ทำด้วยกระดาษตัดเป็นรูปต่างๆ ภาพชุดแจ๊ซ (Jazz) วางเรียงกันเป็นตับ ภาพขนาดใหญ่บางภาพเต็มผนังด้านหนึ่งที่สวยมากคือ ภาพ "นกแก้วกับนางเงือก" สีสันน่าทึ่ง ภาพ "ต้นไม้ แห่งชีวิต" ก็งามงด ภาพ "ต้นไม้ใบหญ้า" ก็สวยสดที่ชอบมากอีกอย่าง คือพรมที่อองรี มาติส ออกแบบใช้สีฟ้าเข้ม สีเขียวอมเทาสลับกับสีขาว ภาพที่นำมาแสดงนั้นหยิบยืมจากประเทศต่างๆ ที่เห็นมากคือจากเดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา และวาติกัน
วันนั้นมีเวลาชมเพียง 45 นาทีเพราะได้เวลาปิดพิพิธภัณฑ์จึงชมแบบเร่งด่วน แป๊บ เดียวถึงทางออกเสียแล้ว ทำใจไม่ได้ที่จะเดิน ออก จึงเดินย้อนกลับไปชมตั้งแต่ภาพแรก อีก ทั้งนั่งม้ายาวแก้เมื่อยพลางชมภาพขนาดใหญ่ ไปด้วย ยิ่งพิศยิ่งเห็นความวิจิตรของสีและองค์ประกอบ
บอกตัวเองได้ทันทีว่าชอบภาพเขียนของอองรี มาติส แต่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมไม่ชอบภาพเขียนของปาโบล ปิกัสโซ อาจเป็นเพราะเป็นแอ็บสแทร็คแบบน่ากลัวสำหรับตนเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|