|
Who do you think you are?
โดย
วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
คุณผู้อ่านเคยนั่งนึกเล่นๆ บ้างไหมคะว่า บรรพบุรุษของตัวเองนั้นเป็นใครมาจากไหน
สำหรับคนธรรมดาทั่วไป ที่ไม่ได้มีเทือกเถาเหล่ากอมาจากตระกูลดังอย่างเราๆ ท่านๆ แล้ว การจะไปสืบประวัติตระกูลย้อนขึ้นไปถึงรุ่นปู่ย่าตาทวดนี่ คงจะเป็นเรื่องลำบากพอสมควร
ยิ่งชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งบรรพบุรุษหอบเสื่อผืนหมอนใบมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในไทยนานหลายชั่วอายุคน จนกลายเป็นไทยถึงขนาดที่พูดจีนกันไม่ค่อยจะได้แล้วล่ะก็ การจะดั้นด้นไปสืบหาสายเลือดของตัวเองที่เมืองจีน ก็คงจะราวกับงมเข็มในมหาสมุทรเลยทีเดียว (แต่ก็ไม่แน่ เพราะการไปคำนับสุสานบรรพบุรุษตัวเองถึงเมืองจีนของนายกทักษิณ อาจจะกระตุ้นให้คนไทยเชื้อสายจีนเริ่มอยากค้นประวัติตระกูลของตนขึ้นมาบ้างก็ได้)
ทั้งนี้ทั้งนั้น คงเป็นเพราะไทยเราเพิ่งจะนำระบบนามสกุลมาใช้กันในสมัยรัชกาลที่ 6 เท่านั้น เพราะคนสมัยก่อนใช้แต่ชื่อเรียกขานกัน ไม่ได้มีนามสกุลมาต่อท้ายอย่างทุกวันนี้ อีกทั้งข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้มีบันทึกไว้เป็นกิจจะลักษณะ
ในอังกฤษ ศาสตร์แห่งการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับวงศ์ตระกูลของตัวเอง (Genealogy) กำลังได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็คงต้องยกให้เป็นความดีความชอบของสถานีโทรทัศน์บีบีซีไป ที่ผลิตรายการ "Who do you think you are?" ออกมากระตุ้นกระแสใฝ่รู้นี้เข้าเมื่อปีที่แล้ว โดยใช้ นักแสดง พิธีกร และนักร้องชาวอังกฤษชื่อดังหลายคนเป็นตัวดำเนินเรื่อง แต่ละคนพาคนดูไปสืบประวัติบรรพบุรุษของตน ที่มีทั้งชาวอินเดีย ยิว และแคริบเบียน ซึ่งหลังจากที่รายการฉายจบไปได้ไม่นาน กระแสความอยากเป็นนักสืบสมัครเล่น ก็ถูกปลุกขึ้นมาในใจของชาวอังกฤษเป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณลุงคุณป้าแห่งเมืองผู้ดีที่เกษียณแล้วและว่างพอที่จะไปทุ่มเงินและเวลา สืบประวัติต้นตระกูลของตนได้ เหมือนอย่างที่ไปเรียนวาดรูปเป็นงานอดิเรกยามเกษียณ อย่างที่ได้เล่าให้คุณผู้อ่านฟังไปบ้างแล้วเมื่อฉบับก่อน
การสืบค้นประวัติต้นตระกูลของชาวยุโรปนั้นทำได้ไม่ยาก เพราะทั้งรัฐและโบสถ์จะเก็บข้อมูลแจ้งเกิดและตายของประชาชนไว้ ซึ่งบางครั้งย้อนหลังไปถึงสองสามร้อยกว่าปีก่อนโน้นเลยทีเดียว อีกทั้งปัจจุบัน ข้อมูลประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของผู้คนเมื่อหลายร้อยปีก่อนนั้น ก็มีไว้ให้ค้นได้ตามห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศอังกฤษ ห้องสมุดของนิวคาสเซิลนั้นมีแหล่ง archive ที่ชื่อ Family History Resources หรือ 'Familia' เป็นแหล่งค้นคว้าที่สำคัญ โดยทาง archive เก็บประวัติชาวนิวคาสเซิลที่มีชีวิตอยู่เมื่อหลายร้อยปีที่แล้วเอาไว้ อีกทั้งยังสามารถค้นข้อมูลทางเว็บไซต์ของห้องสมุดได้ด้วย
นอกจากนี้หนังสือพิมพ์ก็เป็นแหล่งข้อมูลเด็ดอีกแหล่งหนึ่ง เพราะจะมีข่าวเด็กเกิด หรือข่าวคนตายลงหน้าหนังสือพิมพ์สมัยก่อนกันไม่เว้นแต่ละวัน บางคนที่นักข่าวเขียนถึง อาจเป็นปู่ทวดตาทวดของใครบางคนก็ได้ ส่วนข้อมูลจากสำมะโนประชากรของนิวคาสเซิล ก็มีย้อนไปถึงปี 1841 (พ.ศ.2384) สำหรับประวัติจากนายทะเบียน (Registrar) สามารถค้นย้อนหลังได้ถึงปี 1837 (พ.ศ.2380) และสุดท้ายข้อมูลจากโบสถ์นั้นก็มีมากพอกัน เพราะชาวคริสต์ต้องพาลูกแรกเกิดไปให้พระลงทะเบียนตั้งชื่อและอวยพรให้ พอญาติพี่น้องตายก็ต้องไปลงทะเบียนจองหลุมและให้หลวงพ่อทำพิธีฝังศพให้อีก ดังนั้นการสืบข้อมูลเกี่ยวกับบรรพบุรุษของคนที่นี่ จึงไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงจนเกินไปนัก เพราะภาครัฐสนับสนุนโดยเปิดแหล่งข้อมูลให้ประชาชนสามารถค้นคว้าได้มากมาย ทำให้แม้แต่คนหนุ่มสาวเองก็หันมาให้ความสนใจกับศาสตร์ Genealogy แขนงนี้ไม่น้อย
ยัน คูร์บัช (Jan Kurbatsch) หนุ่มเยอรมันจากเบอร์ลินวัย 30 ก็เป็นหนึ่งในบรรดาคนรุ่นใหม่ที่คลั่งไคล้กับการเป็นนักสืบสมัครเล่น เวลากว่า 5 ปีที่ยันเสียไป เพื่อแลกกับแผนผังวงศ์ตระกูล (family tree) ที่พิมพ์ออกมาเป็นกระดาษได้ยี่สิบกว่าแผ่นแปะเรียงติดไว้บนประตูห้องนอน ซึ่งยาวเหยียดจากขอบประตูบนไล่ลงมาจนจรดพื้นนั้น เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีถึงความมุ่งมั่นอุตสาหะของเขาที่จะสืบหาให้ได้ว่าต้นกำเนิดของตนนั้นมาจากไหน
ยันเล่าว่า ก่อนที่เยอรมันตะวันตกและตะวันออกจะกลับไปรวมตัวอีกครั้งเมื่อปี 1989 นั้น การเดินทางข้ามชายแดนไปเยี่ยมญาติอีกทางฝั่งหนึ่งเป็นเรื่องลำบากแสนเข็ญ แต่หลังจากที่แม่ของยันข้ามฝั่งไปเยี่ยมตาของเขาที่รัฐบาวาเรีย และกลับมาเล่าเรื่องของตาและญาติๆ ให้เขาฟังแล้ว ความคิดที่จะแกะรอยสืบเรื่องวงศ์ตระกูลของตัวเองก็เริ่มบังเกิดขึ้นในสมองของยันทันที
ยันย้อนประวัติของประเทศเยอรมนีให้ฟังว่า สมัยที่จอมเผด็จการฮิตเลอร์เรืองอำนาจตั้งแต่ปี 1933-1945 นั้น ชาวเยอรมันที่อยากจะรับราชการหรือต้องติดต่อกับรัฐ จะต้องเตรียมเอกสารที่เรียกว่า An-pass หรือ Ahnen pass (Ahnen = บรรพบุรุษ และ pass = พาสปอร์ต) ไว้ให้ เจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจได้ตลอดเวลา เอกสารนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าตนมีบรรพบุรุษเชื้อสายยิวหรือไม่ และจะต้องทำประวัติของบรรพบุรุษย้อนกลับไปถึงสามชั่วอายุคน
การทำเอกสารดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย Pure Race Law ที่รัฐบาลของฮิตเลอร์ตั้งเอาไว้เมื่อปี 1935 โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 1936 ซึ่งฮิตเลอร์ใช้กฎนี้เป็นข้ออ้างในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว ใครที่มีเชื้อยิวอยู่ในสายเลือดมากเท่าไร ก็จะถูกกดขี่ข่มเหงมากเท่านั้น ซึ่งตอนแรกๆ ก็เป็นเพียงแค่ถูกลิดรอนสิทธิในฐานะพลเมืองของประเทศ เช่น เด็กยิวจะถูกกีดกันไม่ให้เข้าเรียนในโรงเรียนเดียวกันกับเด็กเยอรมันทั่วไป ส่วนผู้ใหญ่ก็จะถูกจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพเกือบทุกด้าน อาจารย์มหาวิทยาลัยรายไหนที่มีเลือดยิวอยู่ก็จะถูกไล่ออก ใครทำธุรกิจก็จะถูกรัฐยึดกิจการไปเสียเฉยๆ
นอกจากนี้ชาวยิวทุกคนยังต้องปะตรา ดาวสัญลักษณ์ของยิวไว้บนเสื้อผ้าของตน เป็นการประจานความผิดของตนในฐานะที่ "เกิดเป็นยิว" จนกระทั่งในที่สุด ฮิตเลอร์ออกมาตรการขุดรากถอนโคนชาวยิวมาในปี 1941 คือมาตรการ 'Endloesung' หรือ 'the Final Solution' ซึ่งเป็นการฆ่าล้างโคตร กล่าวกันว่า ยิวกว่า 6 ล้านคน ถูกฮิตเลอร์ปลิดชีวิตจนเกือบจะสิ้นซาก หลายคนหนีมาอยู่อังกฤษ กลายเป็นพลเมืองอังกฤษไป (เช่น บรรพบุรุษของ Michael Howard หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนก่อนก็เป็นยิวอพยพเช่นกัน)
เพราะยายของยันอยากให้ทั้งแม่และป้าของยัน ได้มีโอกาสดีๆ ที่จะได้แต่งงานโดยไม่ต้องมานั่งปวดหัวเรื่องสายเลือดเอาทีหลัง ยายจึงทำเอกสาร An Pass ไว้ให้ลูกสาวทั้งสอง ซึ่งเอกสารฉบับนี้เป็นชนวนจุดประกายให้ยันเริ่มหันมาสนใจในเรื่องราวของบรรพบุรุษของเขา ซึ่งหลังจากที่ไปสืบเสาะมา ก็พบว่าบรรพบุรุษมีอาชีพหลายหลาก บางคนเป็นช่างทำรองเท้า บ้างก็เป็นพนักงานเหมือง เป็นคนอบขนมปัง ช่างตัดเสื้อ ช่างไม้ ช่างทำกุญแจ ผลิตเกลือขาย บ้างเป็นชาวนา เป็นพนักงานเก็บภาษี บางคนเป็นชาวเดนมาร์กที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเยอรมนี มีอยู่สองคนที่เป็นลูกไม่มีพ่อ ซึ่งคงถูกสังคมสมัยนั้นตราหน้าไว้ให้อับอาย
ข้อมูลเก่าแก่ที่สุดที่ยันหามาได้ก็คือ บันทึกการแต่งงานของบรรพบุรุษคู่หนึ่งเมื่อปี 1678 หรือเมื่อ 327 ปีมาแล้ว เพื่องานอดิเรกนี้ ยันถึงกับนั่งรถไปค้นข้อมูลถึงประเทศโปแลนด์ เสียค่าใช้จ่ายในการค้นข้อมูลให้กับโบสถ์ไปก็ไม่น้อย เพราะสมัยก่อนโบสถ์ทำหน้าที่เก็บข้อมูลแทนรัฐ และสำนักทะเบียนของเยอรมนีก็เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 1874 เท่านั้น
ทุกวันนี้ยันเลิกสืบหาบรรพบุรุษแล้ว เพราะยิ่งค้นลึกก็จะยิ่งหาข้อมูลได้ยากขึ้นทุกที และที่เสียเงินเสียเวลาไปกับงานอดิเรกนี้ตั้งห้าปีก็เพียงเพราะอยากรู้ว่า สภาพแวดล้อมและความคิดอ่านของผู้คนในสังคมสมัยก่อนนั้นเป็นอย่างไร น่าสนใจแค่ไหนเท่านั้น
นับว่ายันโชคดีที่พบว่าตัวเองไม่มีญาติโก โหติกาเป็นชาวยิวกับเขาเลย ไม่อย่างนั้นเขาเองอาจไม่มีโอกาสได้มานั่งเล่าเรื่องบรรพบุรุษของเขาให้พวกเราฟังกันอย่างวันนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|