New era of content

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

โลกของคนใช้อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไป เมื่อความเร็วในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นด้วยเทคโนโลยี "บรอดแบนด์" เช่นเดียวกับโฉมหน้าของคอนเทนต์ ที่วันนี้ทำเอาหลายคนแทบจะตั้งตัวและเรียนรู้กันไม่ทันเลยทีเดียว

วิทยุเครื่องเก่าถูกทิ้งไว้บนชั้นวางของมุมห้อง โดยที่เจ้าของไม่ได้สังเกตเลยว่าฝุ่นจับจนเกรอะมากน้อยเพียงใด เสียงเพลงสลับ เสียงพูดจากับผู้ฟังของดีเจชายหญิงที่คุ้นหู แต่กลับถูกคั่นอารมณ์ด้วยโฆษณาที่ยืดยาวหลายนาที กลายเป็นเพียงความทรงจำสำหรับ ใครบางคนไปเสียแล้วในตอนนี้

ยามนี้หลายคนหันไปฟังวิทยุจากสถานี เพลงบนอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น เสียงเพลงที่คอยเปิดวนไปเวียนมานับร้อยนับพันเพลง โดยไม่มีเสียงดีเจ และโฆษณาคอยขัดจังหวะอารมณ์ของผู้ฟัง กลายเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดคนฟังได้มากที่สุดอย่างหนึ่ง

ยิ่งข้อจำกัดในเรื่องคุณภาพของเสียงที่ได้จะเทียบไม่ได้กับเพลงที่เปิดจากเครื่องเสียงหรือเครื่องเล่นเพลงโดยตรง เนื่องจากผ่านการย่อขนาดไฟล์ให้เล็กลงจนสามารถนำมาใส่ไว้ในเว็บไซต์ได้ทีละจำนวนมากๆ ถูกพังทลายลงหลังจากที่เมืองไทยเริ่มให้ความสำคัญในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์กันมากขึ้น แนวโน้มของสถานีเพลงแบบนี้ก็ยิ่งมีทีท่าว่าจะเติบโตได้อีกมากในทันที

เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา True เพิ่งจะเปิดเว็บท่า หรือ web portal แห่งใหม่ต่อสายตาสื่อมวลชนนับร้อย ภายใต้ชื่อ www. trueworld.net โดยที่ผู้บริหารระบุว่าเว็บท่าแห่งใหม่นี้โดดเด่นที่สุดในเรื่องการเป็น "สถานีเพลง" (Music Station) บนอินเทอร์ เน็ต

ต้องยอมรับว่าในวันนี้ www.true world.net กลายเป็นกรณีศึกษาสำหรับการสร้างคอนเทนต์หรือเนื้อหาสำหรับโลกบรอดแบนด์ในประเทศไทย เนื่องจากประชากรเข้าถึงบรอดแบนด์ในบ้านเราจำนวนในระดับไม่ถึงครึ่งล้านจากประชากรรวมทั้งสิ้นกว่า 60 ล้านคน การผลักดันให้การใช้งานบรอดแบนด์เติบโต จึงต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กับคอนเทนต์ที่มีคุณภาพด้วยเช่นเดียวกัน

แม้ Trueworld จะรองรับการใช้งาน สำหรับผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตบ้านหรืออินเทอร์เน็ตโมเด็มปกติได้ แต่เนื้อหาคอนเทนต์ส่วนใหญ่จะใช้ได้ดีสำหรับคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

True ต้องยอมควักกระเป๋ากว่า 200 ล้านบาทไปกับการสร้างระบบไอทีหลังบ้านใหม่เพื่อรองรับการสร้างคอนเทนต์ให้กับเว็บไซต์ใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์ หรือกำลังคน

หน้าแรกของเว็บไซต์เต็มไปด้วยเมนูหลากหลายให้คนเยี่ยมชมได้เลือกสรร เริ่มตั้งแต่เมนูเด่นเมนูแรกอย่าง True Music เมื่อคลิกเข้าไป ผู้ใช้จะเตะตาทันทีกับเมนู "Music Station" ซึ่งจัดแบ่งประเภทของสถานีเพลงเป็นหลายๆ แบบทั้งสถานีเพลงรัก, เพลงฮิตติดชาร์ต, เพลงอกหัก, เพลงยุค 90's หรือแม้แต่สถานีเพลงยุคสตริงคอมโบ

เมื่อคลิกเลือกสถานีเพลงใดสถานีหนึ่งแล้ว หน้าต่างขนาดเล็กที่เรียกว่า Music Station Player ที่ได้รับการออกแบบใหม่จาก ทีมงานของ True จะแสดงผลขึ้นมา

เพลงแรกในสถานีจะเริ่มเล่นสลับไปมาทั้งเพลงไทยและสากล เพลงจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อเพลงก่อนหน้านั้นจบลง ตามจำนวนเพลงในประเภทนั้นๆ ที่ทีมงานใส่เข้าไปในระบบ ซึ่งปัจจุบันมีนับแสนเพลง และจะเพิ่มเป็นนับล้านเพลงก่อนสิ้นปีนี้ จากค่ายเพลงในประเทศและทั่วโลก ซึ่งผู้บริหารของ True ลงทุนเจรจาเป็นรายๆ เพื่อขออนุญาตนำเพลงมาใช้กับ Station ของตนโดยเฉพาะ

ในเวลาเดียวกันหากผู้ใช้ต้องการฟังเพลงสุดโปรดในความถี่มากกว่าเพลงอื่น เหมือนกับเป็นการโทรไปหาดีเจในคลื่นวิทยุ เพื่อขอฟังเพลงโปรดที่ต้องการ ผู้ใช้สามารถ เลือกโหมดการจัดอันดับเพลงที่ชื่นชอบหรือ Rate เพลงนั้นตามความชอบ ซึ่งแสดงผลเป็น รูปดาวเอาไว้ เมื่อเลือกดาวมากสุด เพลงนั้นก็จะถูกระบบจำว่า ผู้ใช้งานได้เลือกเพลงนี้วนมาให้ฟังบ่อยกว่าเพลง แต่ Rate ดังกล่าว จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อผู้ใช้สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซต์เสียก่อน เพื่อให้ระบบระบุตัวตนการใช้งานได้ตรงกันนั่นเอง

หากคำบอกเล่าของอาจกิจ สุนทรวัฒน์ ผู้อำนวยการและผู้จัดการทั่วไป-ธุรกิจด้านมัลติมีเดีย ทรู คอร์ปอเรชั่น ในวันนัดหมายเพื่อพูดคุยเรื่อง Trueworld เป็นจริง ภายในเดือนตุลาคมนี้ในหมวดของ Music Station จะเปิดให้บริการดาวน์โหลดเพลงนั้นมาเก็บไว้ฟังที่บ้านได้ด้วย

ในหน้าของ Music Station มีฟังก์ชัน ดาวน์โหลดเพลงติดตั้งเอาไว้อยู่แล้ว แต่ยังไม่เปิดให้บริการจนกว่าจะเจรจากับค่ายเพลง เป็นที่เรียบร้อยในเรื่องราคาการดาวน์โหลดเพลง และเรื่องระยะเวลา หรือแม้แต่การอนุญาตให้ใช้งานต่อหลังจากที่ดาวน์โหลดเพลงนั้นมาได้แล้ว

คอนเซ็ปต์ของการดาวน์โหลดเพลง ก็คือ ผู้ใช้เลือกเพลงที่ชอบ คลิกดาวน์โหลด เพลงดังกล่าวจะมีคุณภาพเทียบเท่ากับเพลงฟอร์แมต MP3 ที่ฟังกันจากคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องเล่นทั่วไป แต่ข้อดีอยู่ที่ผู้ใช้สามารถ เลือกเพลงได้อย่างที่ต้องการ โดยไม่ต้องซื้อแผ่นซีดีทั้งแผ่น เพื่อฟังเพลงโปรดเพลงเดียว กันอีกต่อไป

เพียงแต่ผู้ที่จะเลือกดาวน์โหลดเพลงได้ต้องเป็นผู้ใช้ตามบ้าน ซึ่งใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของค่าย True ด้วย เนื่องจากระบบการคิดเงิน เป็นการคิดต่อเพลงและ เรียกเก็บไปกับบิลค่าบริการรายเดือนของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนั่นเอง ขณะที่ผู้ใช้ตามหอพักหรือองค์กรคงต้องรอกันสักนิดสำหรับระบบการจัดเก็บเงินที่ True ต้องพัฒนาขึ้นมารองรับการใช้งานสำหรับกลุ่มเหล่านี้ด้วยในไม่ช้านี้

นอกจาก Music Station แล้วมุมที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ "e-book" ซึ่งผู้ใช้ สามารถเข้าเว็บไซต์ www.ebookworld.in.th ได้อีกทางหนึ่ง

"ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมการใช้งานคอมพิวเตอร์สำหรับคนทั่วไปในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไป หลายคนไม่ดูทีวี นี่คือความเป็นจริง ที่จะเกิดขึ้น คอมพิวเตอร์กลายเป็นสื่อกลาง ที่ช่วยให้คนทำอะไรหลายๆ อย่างได้พร้อมกัน บางคนแชตกับเพื่อน ขณะที่ดูคอนเสิร์ตถ่ายทอดสดทางอินเทอร์เน็ตไปพร้อมกับทำงาน หรือบางคนอาจจะเลือกฟังเพลงไปพร้อมกับการทำงาน"

คำพูดของอาจกิจนั้นสื่อให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มรูปแบบได้เป็นอย่างดี แม้แต่การอ่านหนังสือหลายคนเลือกที่จะอ่านหนังสือผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปร้านหนังสือและซื้อกลับมาอ่านที่บ้านกันอีกต่อไป e-book จึงเป็น ทางออกการใช้งานดังกล่าว

เพียงแต่ผู้ใช้ต้องสมัครเป็นสมาชิกและดาวน์โหลดโปรแกรม อ่านหนังสือผ่านคอมพิวเตอร์มาติดตั้งและเลือกดาวน์โหลดหนังสือ ในเว็บไซต์มาเก็บไว้ในโปรแกรมดังกล่าว แค่นี้ก็สามารถอ่านหนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งวางแผง หรือหนังสือเก่าที่หาซื้อไม่ได้แล้วตามแผงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ทันที

tv, movie, sport, fashion, game, animation, astro, shopping และ news & money คือเมนูที่เหลือในเว็บไซต์ trueworld ที่แต่ละมุมมีความสามารถในการรองรับการใช้งานที่มากกว่าเว็บไซต์ปกติธรรมดาทั่วไป

ตัวอย่างของ trueworld ทำให้เราได้เห็นว่าคอมพิวเตอร์ไม่ได้เป็นเพียงอุปกรณ์ที่ใช้พิมพ์งานกันอีกเท่านั้น แต่ยังทำตัวเป็นตู้เอทีเอ็ม, ร้านค้า, วิทยุ, เครื่องเสียง, โรงภาพยนตร์ส่วนตัว ขณะที่ความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น เป็นตัวช่วยสำคัญทำให้ คอมพิวเตอร์เป็นอีกหลายๆ อย่างที่เราอาจจะคาดไม่ถึง ส่วนใครอยากจะใช้คอมพิวเตอร์ เป็นอะไรบ้าง ก็ต้องเลือกและสัมผัสสิ่งนั้นด้วยตนเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.