|
New Entertainment Developer
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เกือบ 1 ปีหลังร่วมทุนกับ Medalist Marketing Corporation ถึงเวลาที่ไมด้า-เมดดาลิสท์ เอ็นเธอร์เทนเมนท์ ต้องระดมทุนจากตลาดหุ้นรองรับแผนขยายตลาดใหม่จากเอเชียถึงยุโรป
โดยเป้าหมายการระดมทุนจากตลาดหุ้นของ ไมด้า-เมดดาลิสท์ เอ็นเธอร์เทนเมนท์ หรือ MME ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในสิ้นปีนี้ บริษัทวางแผนขายหุ้น 60 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นสามัญออกใหม่ 40 ล้าน หุ้น และหุ้นสามัญเดิม 20 ล้านหุ้น นอกจากนี้ยังจะจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิให้แก่กรรมการ และพนักงาน โดยวัตถุประสงค์การระดมทุน เพื่อใช้ขยายโรงงาน คลังสินค้า ลงทุนในเครื่องจักร และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
ผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2548 MME มีสินทรัพย์รวม 307.91 ล้านบาท หนี้สิน 60.61 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือ หุ้น 247.30 ล้านบาท โดยมีรายได้ 126.5 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 38.81 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 220.36% เทียบครึ่งแรกของปี 2547
ทั้งนี้ ตลาดหลักจะอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 96% หรือราว 20,000 เครื่องในปัจจุบัน และ MME มีแผนขยายเครื่อง electronic dart board ในตลาดนี้เพิ่มเป็น 120,000 เครื่องภายใน 5 ปี หลังความนิยมมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแทนความนิยมในการเล่นโต๊ะ pool
ในต่างประเทศเครื่องเล่นเกมอิเล็กทรอนิกส์มักจะถูกตั้งอยู่ตามร้านอาหาร หรือสถานที่ออกกำลังกาย เพื่อให้บริการแก่ผู้เล่นหลังเลิกงานหรือครอบครัวในวันหยุด โดยกระแสความนิยมที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ในหลายๆ ประเทศนั้น มาจากข้อดีที่ว่า ผู้เล่นไม่ต้องใช้เวลาเล่นนานๆ เพราะการรู้ผลแพ้ชนะจะเกิด ขึ้นได้ภายใน 5-10 นาที และผู้เล่นยังอาจเลือก เล่นต่อเนื่องได้เรื่อยๆ ตาม level หรือตามแบบที่ชอบจากความหลากหลายของโปรแกรม ซอฟต์แวร์ที่ลงไว้ในตัวเครื่อง ทั้งยังเป็นสิ่งที่ทุกคนในทุกครอบครัวสามารถหาความสนุกรวมกันได้ ไม่มีเงื่อนไขเรื่องเพศหรือวัยจากอายุ 20-60 ปี และสามารถเล่นได้แม้กระทั่งคนพิการ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีเงื่อนไขที่ตายตัวว่า เครื่องเล่นชนิดหนึ่งชนิดใดที่แต่ละประเทศนิยมเล่นกันเป็นพิเศษ เนื่องจากกระแสความ นิยมของตลาดอาจเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ในแต่ละช่วง แต่มักเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ยูจีน ลี เป็ปเปิร์ด รองประธาน MME บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า มีบ่อยครั้งที่ความนิยมในเครื่องเล่นชนิดหนึ่ง อาจจะกำลังลดลงอยู่ในประเทศหนึ่ง แต่กลับกำลังได้รับความนิยมอย่างสุดขีดในอีกประเทศหนึ่ง หรืออาจยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของอีกประเทศ
แม้จะยังไม่มีการระบุถึงเป้าหมายของรายได้เพิ่มจากการขยายตลาดไปยังตลาด ใหม่ๆ ก็ตาม แต่รองประธาน MME ได้ชี้ให้เห็นถึงตัวเลขประมาณการจากคนในแวดวงที่คาดไว้ว่า ในตลาดที่เติบโตเต็มที่แล้ว อย่างเช่น สหรัฐฯ หรืออังกฤษ จะมีเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ประเภทนี้รองรับความต้องการด้านสันทนาการของคนในประเทศ จำนวน 1 เครื่อง ต่อประชากร 1,000 คน โดยมีกลุ่มผู้เล่นที่เป็น เพศหญิง 40% ทั้งยังคาดว่าภายใน 5-10 ปี ข้างหน้า เครื่องเล่นเหล่านี้จะกระจายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกในทั่วทุกมุมโลกราว 1,000,000 เครื่อง
สำหรับแผนขยายตลาดของ MME จะมุ่งการเจาะยังตลาดแหล่งใหม่ๆ ในยุโรปและเอเชีย โดยเอเชียยังเป็นเป้าหมายสำคัญในปีนี้ ขณะเดียวกันกลยุทธ์การทำตลาดที่เน้นการจัดการแข่งขัน tournament ระดับ world champion ปีละ 2 ครั้ง รวมถึงการอาศัยวิธีประชาสัมพันธ์จากตัวแทนจัดจำหน่าย และการบอกเล่าแบบปากต่อปากของผู้เล่น ยังเป็น กลยุทธ์ที่ต้องถูกนำมาใช้ต่อเนื่องในตลาดเอเชียด้วยเช่นกัน
ตามแผน MME เตรียมส่งเครื่อง electronic dart board ลงสู่ตลาดเกาหลี 10,000 เครื่อง ไต้หวัน 20,000 เครื่อง ฮ่องกง 3,000 เครื่อง สิงคโปร์ 3,000 เครื่อง ออสเตรเลีย 20,000 เครื่อง และนิวซีแลนด์ 4,000 เครื่อง ส่วนที่อินโดนีเซีย แม้จะเป็นอีกตลาดที่ต้องเจาะเข้าให้ได้ เมื่อพิจารณาจากจำนวน ประชากรที่มากมายถึง 250 ล้านคน แต่ยังคงอยู่ในช่วงการเข้าบุกเบิก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาศึกษาโครงสร้างทางด้านวัฒนธรรมสังคม และความต้องการของผู้บริโภคอีกช่วงหนึ่ง
ส่วนแถบยุโรปตะวันตก เช่น สเปน ตุรกี MME ได้เข้าเจรจาเปิดตลาดร่วมกับตัวแทนจัดจำหน่ายที่นั่นแล้ว แม้จะเป็นการเปิดตลาดใหม่เช่นเดียวกับเอเชียก็ตาม แต่เมื่อเทียบกันยูจีนมองว่าตลาดยุโรปมีความแตกต่างอยู่มาก เนื่องจากชาวยุโรปส่วนใหญ่มีความคุ้นเคย และนิยมการเล่นชนิดนี้มานานแล้ว เพียงแต่ถึงเวลาที่ต้องการเพิ่มสีสันความสนุกสนานของการเล่นใหม่ ผู้ให้บริการจึงต้องตอบรับความต้องการ ของตลาดด้วยการเปลี่ยนมาใช้เครื่องเล่นแบบอิเล็ก ทรอนิกส์ทดแทนการเล่นในรูปแบบเดิมๆ
"การทำงานของเราเหมือนกับชาวนา เมื่อหว่านพืชผลลงไปบนผืนดินแล้ว ก็แค่รอเวลาเก็บเกี่ยว และขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ เมื่อมีโอกาส การที่เราเข้าไปที่ญี่ปุ่นก่อน เพราะเราเชื่อว่าอะไรก็ตามที่เกิดที่นั่นได้ มันก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในที่อื่นๆ ของเอเชียด้วยเช่นกัน" รองประธาน MME บอก "เกมคือการแข่งขัน มันเป็นเหมือนความฝันของผู้เล่น ทุกคนที่อยากเป็นผู้ชนะ เช่นเดียวกับ MME ฐานะผู้แข่งขันคนหนึ่งในธุรกิจ เราก็มีความฝันในแบบเดียวกัน เราเชื่อว่าเราน่าจะเอาชนะตลาดได้ไม่ยาก นัก เพราะรู้ว่าเราควรเสนอความสนุกสนานอย่างไร ให้กับคนในตลาด"
MME เป็นกิจการที่ก่อตั้งเมื่อ 7 มกราคม 2535 โดยกลุ่มตระกูลเอี้ยวศิวิกูล และธเนศ ดิลกศักยวิทูร ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ภายใต้ชื่อ ไมด้า อุตสาหกรรม เพื่อผลิตและจำหน่ายดอกลำโพงและตู้ลำโพงเครื่องเสียงภายในบ้าน และ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ที่ทำจากไม้
จนปี 2545 บริษัทแห่งนี้ได้ผันตัวจากธุรกิจเดิมมาสู่การเป็นฐานการผลิต original equipment manufacturer หรือ OEM เพื่อรับจ้างผลิตเครื่องเล่น อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องเล่นปาเป้าอิเล็กทรอนิกส์ (electronic dart board) โต๊ะพูล (pool table) และโต๊ะฟุตบอล (soccer table) ให้แก่ลูกค้าที่เป็นเจ้าของตราสินค้าในต่างประเทศทั้งหมด โดยลูกค้าดังกล่าวจะเป็นผู้จำหน่ายต่อไปยังผู้กระจายสินค้า ตัวแทนจำหน่ายสินค้า และผู้ประกอบการ ที่ดำเนินธุรกิจด้านบันเทิงและสันทนาการในประเทศ นั้นๆ อีกทอดหนึ่ง
เมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน MME และ Medalist Marketing Corporation หรือ MMC ได้ตัดสินใจเข้าร่วมทุนกับบริษัท โดยปัจจุบัน MMC ถือหุ้นสัดส่วน 35% ของทุนที่ชำระแล้ว 200 ล้านบาท จากเงินเพิ่มทุนใหม่โดยรวมของ MME 250 ล้านบาท
เพื่อป้องกันการแข่งขันกันเองในอนาคต MME จึงทำสัญญาซื้อตราสินค้า (trademark agreement) กับ MMC ซึ่งจะทำให้ MME ได้รับสิทธิจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้า medalist แต่เพียงผู้เดียว (exclusive right) ภายในพื้นที่ได้รับสิทธิ
ทั้งนี้ MMC เป็นทั้งบริษัทผู้ผลิตและจำหน่าย electronic dart board รายใหญ่ของโลกจากสหรัฐฯ และยังเป็นเจ้าของแบรนด์ Medalist ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดอเมริกา ยุโรป เอเชีย รวมทั้งเป็นลูกค้าแต่ดั้งเดิมของ MME ด้วย
ผลจากสัญญาร่วมทุนจึงทำให้ MMC ไม่อาจขายสินค้าภายใต้ trademark เดียวกัน ในพื้นที่ MME ได้รับสิทธิตลอดไป เช่นเดียวกับ MME ที่ไม่สามารถเข้าทำตลาดในประเทศต่างๆ ของทวีปอเมริกา รวมถึงรัสเซีย จีน และอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดของ MMC โดยเงื่อนไขนี้จะมีผลผูกพันกับ MME ต่อเนื่องไปอีก 6 ปี กรณีที่มีการยกเลิกสัญญาการถือหุ้นระหว่างกันแล้ว
นอกจากนี้ MMC ยังจะหน้าที่เป็นผู้ทำตลาดและจัดกิจกรรม การส่งเสริมการขายร่วมกับ MME ตามสัญญาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ (supporting agreement) และความร่วมมือนี้ ทั้ง 2 บริษัทจึงมีฐานะเป็นทั้งผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัท โดยตรง อย่างไรก็ตาม MME จะยังคงเป็นฐานการผลิต pool table และ soccer table ภายใต้ตราสินค้าอื่นๆ ตามคำสั่งซื้อของลูกค้า เช่น Super League ของอังกฤษ และ Sun Line ของญี่ปุ่น แต่อนาคตบริษัทมีแผนรวมการผลิตและส่งออกสินค้าทั้งหมดเข้ามาอยู่ภายใต้แบรนด์ Medalist อีกด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|