Be Glorious Again

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นคราวของ ปตท.ที่ต้องออกไปแสวงหาเงินทุนในตลาดต่างประเทศอีกครั้ง หลังจากไม่กี่เดือนก่อน ไทยออยล์ซึ่งเป็นบริษัทลูกเพิ่งจะเรียกเครดิตจากนักลงทุนในต่างแดนกลับคืนมาได้

ความสำเร็จในการขายหุ้นในต่างประเทศของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่สร้างความฮือฮาให้แก่ นักลงทุนใน 3 ตลาดนั้น ส่วนหนึ่งต้องยกความดีให้บริษัท เจ.พี.มอร์แกน ประเทศไทย ฐานะที่เป็นผู้จัดวางกลยุทธ์วิธีจัดจำหน่ายในรูปแบบใหม่ให้กับ ปตท.

แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด คือการอาศัยความดีงามในชื่อเสียงของประเทศมาช่วยนำทางให้ ปตท. ก้าวเข้าสู่ความสำเร็จได้เต็มภาคภูมิ เมื่อพิจารณาจาก ข้อเท็จจริงที่ว่า โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่จะออกขายบอนด์ ระยะยาวถึง 30 ปีในตลาดต่างประเทศได้นั้น จะมีก็เพียงแต่รัฐบาลจากประเทศที่มีความมั่นคงในฐานะการเงินเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยก็ยังไม่มีแผนออกบอนด์รุ่นนี้ในต่างประเทศ

ราวกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปตท. และเจ.พี.มอร์แกน ประเทศไทย ได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำ แบบไทย ณ พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน เพื่อฉลอง ความสำเร็จจากการระดมทุนขายหุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน วงเงิน 350 ล้านดอลลาร์ อายุ 30 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6%

หุ้นกู้ชุดดังกล่าวได้เสนอขายทั้งใน 3 ตลาด คือ เอเชีย สหรัฐฯ และยุโรป เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมูดี้ส์ อิสเวสเตอร์ เซอร์วิส จัดเรตติ้งความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้นี้ไว้ที่ A2 ซึ่งสูงกว่าอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ส่วนสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ จัดไว้ที่ AAA+ เป็นเรตติ้งที่เท่ากับประเทศไทย

พิชัย ชุณหวชิร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและบัญชีองค์กร ปตท. กล่าวตอนหนึ่งในงานเลี้ยงอาหารค่ำว่า ลำพังชื่อเสียง ปตท. พวกเขาไม่คิดว่าทำสิ่งนี้ได้เอง หากแต่ต้องอาศัยชื่อเสียงประเทศ ไทยเป็นตัวนำ และ ปตท.เป็นแต่เพียงผู้เดินตาม โดยสิ่งที่ได้ดำเนินการ ไปนั้น ถือเสมือนว่า ปตท.ขันอาสาทำหน้าที่สร้าง landmark สำหรับการเป็น benchmark ที่ทำในนามประเทศ

ที่มาในการตัดสินใจออกหุ้นกู้ประวัติศาสตร์นี้ เกิดจากความจำเป็นของ ปตท.ที่ต้องเตรียมจัดกลยุทธ์โครงสร้างบัญชีเงินทุนในอนาคต เพื่อที่ว่า ปตท.จะได้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนการเงินที่สูงเกินควร หลังภาระหนี้สินระยะสั้นทยอยลดลงในแต่ละช่วง

การจัดโครงสร้างทางการเงินใหม่ครั้งนี้ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและบัญชีองค์กร ปตท. บอกว่าได้พิจารณาถึงจำนวนเงินที่ต้องนำไปลงทุนในอนาคต ควรเป็นส่วนหนี้สินและทุนมากน้อยเพียงใด เมื่อ เห็นว่า ปตท.ยังน่าที่จะต้องมีหนี้สินคงค้างจำนวนหนึ่งอยู่ตลอดเวลาแล้ว ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเมื่อเทียบกับผลตอบแทน หากต้องรักษาโครงสร้างบัญชี ปตท.ก็น่าจะเลือกไปในหนี้ที่มีระยะเวลายาวที่สุดเท่าที่จะไปได้ และต้องได้ ดอกเบี้ยคงที่ด้วย

"ตอนแรกคิดกันว่าถ้าไปไกลจนถึง 50 ปีเลยจะไหวไหม แต่เห็นว่ามันน่าจะเกินตัว มีเหมือนกันที่บางแห่งมาเสนอโครงการให้เราออกเป็น bond ที่ไม่มีอายุชำระคืนเลย แต่แน่นอนว่าเมื่อพิจารณาแล้ว มันเกินความสามารถของเราอย่างมากแน่นอน" พิชัยกล่าว

ความสำเร็จในการขายหุ้นกู้ในต่างประเทศของ ปตท. ที่สร้างความฮือฮาในต่างประเทศครั้งนี้ เป็นผลของกำหนดกระบวนยุทธ์ การจัดจำหน่ายรูปแบบใหม่ จากบริษัท เจ.พี. มอร์แกนฯ ซึ่งชี้แนะให้ ปตท.ควรปรับวิธีการออกหุ้นกู้ใหม่

โดยแทนการออกไปทำ road show ที่ต้องใช้เวลานาน 1-2 สัปดาห์ เพื่อเดินสายประกาศราคาหุ้นกู้ดังเช่นในอดีต ปตท.ควรใช้วิธีประกาศยอดวงเงินรวมที่ต้องการกู้จากตลาดอย่างเช่นอดีต เพื่อหยั่งเสียงตอบรับจากนักลงทุนเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงค่อยกลับมา กำหนดวงเงินกู้กันใหม่อีกครั้ง ก่อนที่จะนำหุ้นกู้ กลับออกไปขายให้กับนักลงทุนในท้ายที่สุด

"เดิมเราเสนอไปแค่ 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตอนแรกก็ไม่มั่นใจว่าจะขายได้หรือเปล่า แต่น่าประหลาดใจ หลังจากที่เราไม่ได้ออกตลาดมานานนักลงทุนยังให้ความสนใจ มีคนขอจองสูงถึง 2 เท่า ทำให้คิดว่าเราน่าจะมีโอกาสเพิ่มขนาดได้ถึง 350 ล้านเหรียญสหรัฐ" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและบัญชีองค์กร ของ ปตท.กล่าว

ทั้งนี้ เจ.พี.มอร์แกนฯ ได้เตรียมกระบวนการจัดจำหน่าย หุ้นได้อย่างรวดเร็วภายในเวลา 1 เดือนครึ่ง นับจากเข้าประเมิน สถานะการเงินของ ปตท. จนถึงการจัดทำ filing เพื่อเสนอตลาด ก่อนจะพา ปตท.ออกไปขายหุ้นกู้ในวงเงินใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็น 350 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากความสนใจของนักลงทุนซึ่งมีให้กับปตท.เป็นทุนเดิมนั้น ยังช่วย เจ.พี.มอร์แกนฯ สามารถปิดการขายลงได้ภายในเวลา 2 วัน

วรภัค ธันยาวงษ์ ผู้จัดการใหญ่ เจ.พี.มอร์แกนฯ ชี้ว่าเป็น ที่รู้กันในตลาดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ผู้กู้ทุกรายจะกลับออกมาพร้อมความสำเร็จในแบบเดียวกับ ปตท. หากโครงสร้างและฐานะ การเงินไม่แข็งแกร่งมากพอจนถึงระดับที่นักลงทุนไว้เนื้อเชื่อใจ

อีกทั้งเงื่อนไขการกระจายหุ้นเข้าสู่ตลาดต่างๆ ยังเป็นอีกประเด็นที่ต้องคำนึงถึง เพราะความสำเร็จนี้จะเป็นไปได้มาก ขึ้น หากนักลงทุนในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักที่ต้องเจาะเข้าไปให้ได้นั้น มีทีท่าตอบรับอย่างดีกับหุ้นกู้ของกิจการนั้นๆ ด้วย

"ตามเงื่อนไขหุ้นกู้ของบริษัทที่จะออกยาวๆ อย่าง ปตท. ต้องขายใน 3 ตลาด คือที่สหรัฐฯ 70% ส่วน 20% จะแบ่งมาที่เอเชีย อีก 10% ไปที่ยุโรป นับแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีแค่ 5 ราย ที่ทำได้เมื่อนับรวมถึง ปตท.ด้วย โดยก่อนหน้าเป็นหุ้นกู้จากบริษัท เอกชนของจีนและฮ่องกง" ผู้จัดการใหญ่ เจ.พี. มอร์แกนฯ กล่าว

การตัดสินใจเข้าระดมทุนของ ปตท.ในต่างประเทศ จึงถือเป็นจังหวะที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยตลาด off shore ค่อยๆ ปรับฐานขึ้นเรื่อยๆ ตามแรงขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเฟด ฟันด์ เรต จากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

โดยคนในตลาดเก็งกันว่า เฟด ฟันด์ เรต น่าจะขยับขึ้น ไปอยู่ที่ 4-4.5% เมื่อถึงปลายปีนี้ จากที่ไต่ขึ้นไปที่ 3.5% ในปัจจุบัน นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้อายุ 30 ปีของปตท. กับดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นที่ออกโดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังพบว่าไม่มีความแตกต่างกัน จึงถือได้ว่าตลาดได้เสนอเงื่อนไข ที่ดีให้แก่ ปตท.

"เมื่อมองที่ return on equity ของ ปตท.ที่ 33% ในปัจจุบัน แม้จะ discount ต้นทุนเงินกู้ยืมใหม่ 6% return on equity เขาก็ยังเหลือ 27% ซึ่งถือว่าสูงมาก" วรภัคกล่าว

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปตท.เคยขายหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกันอายุ 10 ปี วงเงิน 4,040 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.75% ให้แก่นักลงทุนสถาบัน โดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด สาขากรุงเทพฯ เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ชุดนี้ ทั้ง ปตท. ยังได้ทำธุรกรรม Cross Currency Swap เป็นสกุลเงินดอลลาร์ สหรัฐ จำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตราดอกเบี้ย 4.55%

โดยฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้จัดเรตติ้งความน่าเชื่อถือของหุ้นนี้ไว้ที่ระดับ AA+ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเท่าที่บริษัทไทยได้รับในปัจจุบัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.