แนวรุกใหม่สแตนชาร์ด

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ความอ่อนแอในพลังต่อรองทางการเงินของวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในห่วงโซ่ธุรกิจของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ใช่จะสะท้อนแค่ภาวะจำยอมของกิจการที่ต้องตัดโอกาสการยึดโยงตัวเองอยู่ในห่วงโซ่แห่งความเติบโต

บ่อยครั้งเช่นกันที่ความอ่อนแอดังกล่าวยังกระทบถึงแผนช่วงชิงตลาดของบริษัทขนาดใหญ่แต่ละราย จากการที่ suppliers ของตนไม่มีหลักประกันมากพอที่จะขอขยายวงเงินสินเชื่อกับธนาคารได้ทันการณ์ ในยามที่การผลิตควรต้องยืดหยุ่นได้ตามปริมาณคำสั่งซื้อซึ่งอาจมีเพิ่มขึ้น ตามแผนเพิ่มยอดขายในตลาดของบริษัทในแต่ละช่วง

แรงกดดันในกลุ่มผู้ว่าจ้างยังอาจขยายใหญ่โตลุกลามต่อไปได้อีก หากต้องทนนึกภาพความเสี่ยงที่ว่า พวก buyers ของตนหลายรายอาจจะกำลังพบความยากลำบากในรูปแบบเดียวกัน จนกระทั่งขาดความสามารถในการชำระเงินค่าสินค้าได้ทันงวดเวลาที่รับปากเอาไว้

เมื่อปีก่อน ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด สาขาประเทศไทย ซึ่งเข้าใจดีถึงสถานการณ์ ดังกล่าว ได้จับเอาความสัมพันธ์ภายในกลุ่มห่วงโซ่ธุรกิจเข้ามา pool ให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อจัดเป็นโครงการสินเชื่อการค้าห่วงโซ่ธุรกิจ หรือ supply chain financing เพิ่มความคล่องตัวด้าน การเงินของ SMEs ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าของธนาคาร ในปัจจุบัน

ล่วงมาถึงปีนี้ หลังการจัดโครงสร้างการทำธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งต้องคงสถานะ เดียวตามแผนแม่บทพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยการควบรวมกิจการกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธน ซึ่งจะทำให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ได้สาขาของ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธน มาเป็นฐานอันสำคัญในการขยายผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ แล้ว สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ดูมุ่งมั่น กับการเดินกลยุทธ์เข้าไปเฉือนส่วนแบ่งเพิ่มเติมในตลาดสินเชื่อรายย่อยมากยิ่งขึ้น หลังพบว่าที่ผ่านมาสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยต่อสินเชื่อ รายใหญ่มีสัดส่วนแตกต่างกันถึงครึ่งต่อครึ่ง

โดยคอนเซ็ปต์สินเชื่อ supply chain financing นั้น สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จะเข้า ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการให้สินเชื่อเงินทุน หมุนเวียนที่ปลอดหลักประกันแก่กลุ่มเป้าหมาย สินเชื่อคือธุรกิจ SMEs ที่มีประวัติที่ดีอยู่ภายใน chain การผลิต ตามรายชื่อที่กลุ่มบริษัทขนาด ใหญ่อันเป็นฐานลูกค้าปัจจุบันของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดได้ recommend ไว้

เพื่อเป็นการลดต้นทุนการจัดเตรียมเอกสารสินเชื่อ และค่าเดินทางในการรับส่งเอกสารของธนาคาร รูปแบบการทำธุรกรรมสินเชื่อทั้งหมดจะดำเนินการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยผู้กู้แต่ละรายจะได้รับ account และ password ของตนเอง เพื่อเข้าไปตรวจสอบข้อมูลวงเงิน และยอดคงเหลือสินเชื่อในแต่ละช่วง สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะได้รับ ขึ้นอยู่กับระดับความน่าเชื่อถือของแต่ละราย แต่โดยรวมยังต่ำกว่าตลาดราว 1-2%

"ไม่ว่าตอนนี้เขาจะเป็นลูกค้ากับแบงก์ ไหนก็ไม่เป็นไร หากยังอยู่ใน chain เดียวกับ ลูกค้ารายใหญ่ของเรา และเขาก็ recom-mend มาให้ เราจะเข้าไปคุยว่าเอาด้วยไหม หากดูแล้วไม่มีปัญหา เขาก็มาเปิดวงเงินกู้กับ เราได้เลย" สยาม ประสิทธิศิริกุล Head of Supply Chain Finance บอก

กมัลกานต์ อากาวัล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อธุรกิจและสถาบันการเงิน ให้แนวโน้มของการใช้หนังสือค้ำประกันและแอล/ซีจากธนาคาร ในการประกอบการค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่กำลังลดลงว่า ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างต้องเลือกพิจารณาระหว่างการเติบโตของยอดขายกับการบริหารความเสี่ยง ที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดในห่วงโซ่ธุรกิจเดียวกัน

โดยจากแนวโน้มดังกล่าว สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เชื่อ ว่าจะช่วยสร้างสรรค์วิธีการให้สินเชื่อ supply chain financing เพื่อสนับสนุนเงินทุนได้ตรงกับความต้องการภายในธุรกิจที่เป็น กลุ่ม chain เดียวกัน นอกจากนี้สินเชื่อนี้ยังจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในระหว่างเจ้าของสินค้าและกลุ่ม SMEs ที่เรียงตัวอยู่ภายใน chain ของบริษัทด้วย

แต่เมื่อถามถึงรายละเอียดของความก้าวหน้าในการทำตลาดสินเชื่อ supply chain รวมถึงเป้าหมายการเข้าแชร์ส่วนแบ่งในตลาดจากธุรกิจใน sector นี้ กมัลกานต์กลับหลีก เลี่ยงที่จะตอบคำถาม เพียงบอกว่า

"เราเพิ่งเริ่มโครงการ คงตอบไม่ได้ว่าจะเท่าไร เดิมเรา ทำแต่สินเชื่อรายใหญ่ ออก bond ทำ cash management หรือ saving account แต่ปีนี้เราค่อยๆ ขยายตลาด supply chain financing การได้รายชื่อที่ recommend จากลูกค้า รายใหญ่ของเราเอง มันก็ย่อมดีกว่า"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.