|
Logistics Army
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อมองจากภายนอก ศูนย์กระจายสินค้าสำหรับสินค้าทั่วไปแห่งที่ 4 (Distribution Center 4 : DC4) ของบริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น ที่ตั้งอยู่ริมถนนตลิ่งชัน-สุพรรณบุรีในพื้นที่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ไม่แตกต่างจากโกดังสินค้าที่มีอยู่ทั่วไปแต่ที่สะดุดตาเป็นพิเศษเห็นจะเป็นสระน้ำขนาดใหญ่บริเวณด้านหน้า ซึ่งขุดขึ้นเพื่อเตรียมน้ำเอาไว้สำหรับกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ สระแห่งนี้มีความลึก 2 เมตร จุน้ำได้ 80,000 ลูกบาศก์เมตร เพียงพอสำหรับใช้ดับเพลิงได้นาน 2-3 วัน นอกจากนี้ยังมีแท็งก์น้ำขนาด 800 ลูกบาศก์เมตรที่เตรียมเอาไว้ต่างหากอีกด้วย
ที่ต้องเตรียมพร้อมขนาดนี้ เพราะสินค้าที่เก็บไว้ใน DC แห่งนี้มีมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท และศูนย์แห่งนี้ยังเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่รับผิดชอบนำส่งสินค้าให้กับร้าน 7-Eleven ตั้งแต่เหนือสุดแดนสยามที่แม่สาย จ.เชียงราย จนถึงใต้สุดที่สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ยกเว้นอีสานเพียงแห่งเดียวที่อยู่ในความดูแลของศูนย์กระจายสินค้าที่ จ.ขอนแก่น หากเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นที่นี่จะส่งผลต่อสินค้าภายในร้านทันที 2,000 กว่าสาขา
"ความเสี่ยงที่สุดของที่นี่คือไฟไหม้ เราห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด ถ้าเจอพนักงานสูบบุหรี่ให้ออกเลย ถ้าเป็นรถซัปพลายเออร์มาส่งของก็ให้กลับไปเลยไม่ต้องเอาของลง และถ้ายังเจออีกก็จะตัดสิทธิ์ไม่ให้ขายในร้านเซเว่นฯ อีก" นิกร ชยานุวัชร ผู้จัดการทั่วไป ฝ่าย Distribution กล่าว
DC4 แห่งนี้เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2539 เนื้อที่กว่า 20,000 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างไม่รวมค่าที่ดินเกิน 200 ล้านบาท สามารถให้บริการร้าน 7-Eleven ได้สูงสุด 3,000 สาขา และเพื่อรองรับการขยายสาขาตามเป้าหมาย 5,000 สาขาภายในปี 2550 จึงได้มีการลงทุนก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ (DC5) ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547 ในทำเลใกล้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้วยงบประมาณลงทุน 835 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่ง DC แห่งนี้จะรับผิดชอบในการกระจายสินค้าให้กับร้าน 7-Eleven ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคอีสานตอนใต้
แนวความคิดในการจัดการระบบกระจายสินค้าของ 7-Eleven เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกของการดำเนินงาน เนื่องจากประสบปัญหาในการบริหารสต็อกสินค้า เพราะไม่สามารถควบคุมการจัดส่งสินค้าของซัปพลายเออร์ได้ตามกำหนด จึงเริ่มทดลองศูนย์กระจายสินค้าแห่งแรกที่บริเวณบางจาก มีขนาดพื้นที่ไม่กี่ร้อยตารางเมตร หลังจากนั้นก็เริ่มขยายมาสู่ DC2 และ DC3 ที่โชคชัยร่วมมิตรและประเวศ จนกระทั่งตัดสินใจสร้างศูนย์ DC4 จึงได้ยุบ DC1 และ DC3 ไป คงเหลือเพียง DC2 ที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นศูนย์กระจายสินค้าในกลุ่มนิตยสาร หนังสือพ็อกเกตบุ๊คและเบเกอรี่
"ตอนแรกต้องไปคุยกับซัปพลายเออร์นานมากและยากมาก ไม่มีใครอยากให้เรามาจัดการสินค้าเอง ทุกคนก็คิดว่าของเขาดีอยู่แล้ว เพราะเมื่อสิบกว่าปีก่อนร้านที่เป็นเชนสโตร์มีน้อยมาก แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเรา จริงๆ ไม่ใช่โนว์ฮาวใหม่ เพราะที่ต่างประเทศมีมานานแล้ว แต่กับเรายังเป็นของใหม่" พิทยา เจียรวิสิฐกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ปัจจุบันศูนย์กระจายสินค้าของ 7-Eleven บริหารจัดการสินค้าเองถึง 90% ของสินค้าทั้งหมดภายในร้าน ที่เหลือจะเป็นสินค้าที่จัดการยาก เช่น น้ำแข็ง ไอศกรีม หรือสินค้าภายในท้องถิ่น ที่ผู้ผลิตสามารถจัดส่งเองได้ รวมทั้งสินค้าบางชนิดที่ผู้ผลิตยังจัดส่งเอง แต่ในอนาคตมีการตั้งเป้าให้จัดส่งผ่านศูนย์ DC ของ 7-Eleven ทั้งหมดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการและลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด
ทุกวันนี้ศูนย์ DC4 มีรถวิ่งเข้าออกตลอดเวลา ทั้งรถส่งสินค้าจากซัปพลายเออร์และรถขนสินค้าไปยังร้าน 7-Eleven ซึ่งแต่ละวันต้องใช้รถปิกอัพกว่า 300 คัน และรถบรรทุก 6 ล้อ อีก 150 คัน เมื่อรวมกับพนักงานภายใน DC ที่มีอีก 1,200 คน กองกำลังขนาดนี้เปรียบได้กับกองทัพขนส่งเลยทีเดียว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|