|
เอฟทีเอการเงินไทย-สหรัฐฯไร้ข้อสรุป ขุนคลังย้ำจุดยืนได้ประโยชน์ทั้ง2ฝ่าย
ผู้จัดการรายวัน(27 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
คลังคุยผลการเจรจาเปิดเสรีการเงินไทย-สหรัฐฯ รอบที่ 5 คืบหน้า เผยร่างความตกลงของทั้งสองฝ่ายมีประเด็นที่คล้ายกันแล้ว แต่ยังไร้ข้อสรุปในประเด็นหลัก เรื่องมาตรการระงับการโอนเงินกรณีประเทศประสบปัญหาดุลการชำระเงิน และมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจมหภาค ขณะที่ "ขุนคลัง" ย้ำจุดยืนต้องได้รับประโยชน์ ทั้ง 2 ฝ่าย ระบุเตรียมรวบรวมข้อมูลเพื่อเจรารอบต่อไปต้น ธ.ค.นี้
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย เปิดเผยถึงผลการเจรจาความตกลงเปิดเสรีบริการด้านการเงินภายใต้เขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา วันแรก (23 ก.ย.) ว่า ในช่วงเช้า คณะผู้แทนไทยนำโดย นายเชิดชัย ขันธ์นะภา ที่ปรึกษาการคลัง กระทรวงการคลัง และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้พบกับผู้แทนสำนักงาน ก.ล.ต. ของสหรัฐฯเพื่อสอบถามประเด็นที่เป็นอุปสรรคของการที่นักลงทุนไทยจะทำธุรกิจด้านหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ ซึ่งฝ่ายไทย ได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ ให้การปฏิบัติ ต่อตราสารของหน่วยงานภาครัฐของไทยที่ออกในสหรัฐฯ เทียบเท่ากับตราสารของรัฐบาลสหรัฐฯ
นอกจากนี้ คณะเจรจาฝ่ายไทย ได้พบกับผู้แทน Federal Reserve Board และผู้แทน Office of Comptroller of Currency เพื่อ ซักถามในประเด็นหลักๆ ที่เกี่ยวกับความแตกต่างในการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลกลาง และรัฐบาลมลรัฐ ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ ได้ให้ ความกระจ่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งการ ขอใบอนุญาตทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ในระดับรัฐบาลกลาง และมลรัฐ
ในช่วงบ่าย เป็นการเจรจาการเปิดเสรีด้านการเงิน ณ ที่ทำการสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ โดยคณะเจรจาฝ่ายไทยได้ยื่นร่างความตกลงเปิดเสรีบริการด้านการเงินของ ฝ่ายไทยฉบับที่ร่างโดยคณะทำงานฝ่ายไทย ซึ่งร่างดังกล่าวสะท้อนความต้องการของฝ่ายไทยในการเปิด เสรีบริการด้านการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยฝ่ายสหรัฐฯ ได้รับร่างความตกลงดังกล่าวไว้พิจารณา
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือเพื่อทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ของร่างความตกลงดังกล่าว และเปรียบเทียบกับร่างฯ ที่ฝ่ายสหรัฐฯได้เคยนำเสนอต่อฝ่ายไทยในการเจรจาครั้งแรกที่มลรัฐฮาวาย ซึ่งในขั้นต้นทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันว่าจะยังไม่มีการพิจารณาประเด็นเรื่องวิธีการเจรจาแบบ Positive List คือ เลือกบรรจุรายการที่ต้องการเปิดเสรี หรือแบบ Negative List คือเลือกบรรจุเฉพาะรายการที่ไม่ต้องการจะเปิดเสรีซึ่งเป็นประเด็นที่ยังมีความต่างกันระหว่างสองฝ่าย ในการใช้เป็นแนวทางยกร่างข้อตกลงฯ
อย่างไรก็ตาม นายนริศได้เน้นให้ฝ่ายสหรัฐฯ ทราบว่า นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้แนวทางในการเจรจาไว้ว่า ใน ทุกกรอบการเจรจาจะต้องเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย (win-win situation)จึงจะสามารถยอมรับ ข้อตกลงดังกล่าวได้
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาร่างความตกลงฯ ของทั้งสองฝ่าย พบว่ามีบาง ประเด็นที่มีความคล้ายคลึงกันหรือไม่แตกต่างกันมาก ได้แก่ 1. คำจำกัด ความของบริการด้านการเงิน (financial services) 2.ข้อบทด้านความ โปร่งใส ซึ่งเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล กฎระเบียบ (Transparency) และ 3.การตั้งคณะกรรมการด้านการเงิน (Financial Services Committee)
สำหรับประเด็นที่ยังมีความแตกต่างกันและต้องพิจารณาต่อไป ประกอบด้วย 1. บุคคลที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากการเปิดเสรี 2.การ เข้าสู่ตลาด (Market Access) 3.การ ปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) 4.การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ ที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nation Treatment)
สำหรับการเจรจาการเปิดเสรีบริการด้านการเงินภายใต้เขตการค้า เสรีไทย-สหรัฐอเมริกา ในวันที่สอง (24 ก.ย.) ณ ที่ทำการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา ที่ประชุมได้ มีการเจรจาต่อจากวันแรก โดยทางผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่ามีความสนใจในการเปิดตลาดธุรกิจ ประกันภัย ธุรกิจบริหารจัดการกองทุน และธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนในประเทศไทย
นายนริศกล่าวว่า การเจรจาใน วันที่สองมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดยฝ่ายสหรัฐฯ ได้มีความเข้าใจ มากขึ้นในระบบการบริหารงานและกำกับดูแลในธุรกิจสถาบันการเงินของไทย ขณะที่ทางฝ่ายไทยยังได้ รับฟังการชี้แจงถึงกระบวนการระงับ ข้อพิพาทภายใต้ความตกลงด้านการเงินนี้ว่า ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทในชั้นแรกจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับบริการด้านการเงิน (Financial Service Committee) ซึ่งประกอบด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของทั้งฝ่าย ทั้งนี้หากข้อพิพาทเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้มาตรการ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินก็ไม่อาจนับเป็นข้อพิพาทได้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักๆ ที่ยังไม่มีข้อยุติ ได้แก่ มาตรการระงับการโอนเงินกรณีประเทศประสบปัญหาดุลการชำระเงิน มาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจมหภาค ที่คณะเจรจาฝ่ายไทยเน้นย้ำให้ต้องมีการระบุในข้อบทหลัก เนื่องจากมีความจำเป็นต่อประเทศขนาดเล็กที่ต้องดำเนินมาตรการเหล่านี้เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ในช่วงสรุปของการเจรจาในวันที่สอง คณะเจรจาฝ่ายสหรัฐฯ ได้แสดงความยินดีที่การเจรจามีความคืบหน้าได้ผลเป็นที่น่ายินดี ถึงแม้ว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติในรอบนี้ โดยนายนริศ ได้ขอให้ฝ่ายสหรัฐฯมีหนังสือชี้แจงข้อขัดข้องในประเด็นต่างๆ ในรายละเอียด การเจรจารอบ ต่อไปคาดว่าจะมีขึ้นในประเทศไทยประมาณต้นเดือนธันวาคม 2548
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|