|
องค์การไปรษณีย์นิวซีแลนด์
โดย
อนิรุต พิเสฏฐศลาศัย
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
องค์การไปรษณีย์ของนิวซีแลนด์ (New Zealand Post Office) ถือกำเนิดมากว่า 160 ปีแล้ว โดยในช่วงเริ่มต้นจนกระทั่งถึงปี 1987 องค์การไปรษณีย์นั้นถูกจัดตั้งเป็นหน่วยงานราชการ ซึ่งดำเนินงานให้บริการครอบคลุม 3 หน่วยงานหลัก คือองค์การไปรษณีย์และโทรเลข (The Post Office), องค์การโทรศัพท์ (The Telephone Exchange) และธนาคาร Post Office Savings Bank นอกเหนือจากบริการ 3 ด้าน หลักแล้ว องค์การไปรษณีย์ยังมีความผูกพัน และให้บริการเอื้อประโยชน์ต่อสังคมในอีกหลายๆ ด้านมาเป็นเวลาเนิ่นนาน ในอดีตที่ทำการไปรษณีย์เป็นที่ที่ประชาชนโดยทั่วไปสามารถไปแจ้งเกิด แจ้งตาย จดทะเบียนสมรส แจ้งชื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้ง รับเงินบำนาญ หรือแม้กระทั่งต่อทะเบียนรถยนต์ นอกจากนั้นในอดีตบุรุษไปรษณีย์ยังสามารถ ประกอบพิธีแต่งงานแทนบาทหลวงได้อีกด้วย
การปฏิรูปองค์การไปรษณีย์ของนิวซี แลนด์ เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในปี 1987 เมื่อองค์การไปรษณีย์แต่ดั้งเดิมได้ถูกแยกออกเป็น 3 องค์กร อิสระจากกัน ซึ่งก็คือ New Zealand Post, Telecom และ Post Bank นอกจากนั้นองค์การไปรษณีย์อันใหม่นี้ยังได้รับการแปรรูปจากหน่วยงานราชการ เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็เพิ่มความอิสระและความคล่องตัวในการดำเนินการให้กับองค์การไปรษณีย์เป็นอย่างมาก และหลังจากปี 1987 เป็นต้นมา องค์การไปรษณีย์จึงได้เริ่มขยายบริการด้านไปรษณีย์ออกไปในอีกหลายรูปแบบ นอกเหนือจากการจัดส่งจดหมายโดยทั่วไป การให้บริการจัดส่งจดหมายเร่งด่วนข้ามคืน (Fast Post) และจัดส่งจดหมายลงทะเบียนแบบติดตามได้ (Courier post) ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นและได้รับความนิยมอย่างสูง
นอกจากนั้นองค์การไปรษณีย์ยังได้ทำการร่วมทุนจัดตั้งสายการบิน Air Post เพื่อ ช่วยในการจัดส่งจดหมายอีกด้วย ในปี 1998 รัฐบาลได้ทำการปฏิรูปธุรกิจไปรษณีย์ครั้งใหญ่ โดยทำการเปิดเสรีธุรกิจไปรษณีย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจ ไปรษณีย์ภายในประเทศให้มากขึ้น การเปิดเสรีครั้งนี้เองที่ส่งผลให้องค์การไปรษณีย์ ต้อง ก้าวเข้าสู่ยุคแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบ และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้องค์การไปรษณีย์ขยายขอบเขตทางธุรกิจ ครอบคลุมออกไปในหลายๆ ด้านนอกเหนือจากธุรกิจไปรษณีย์
ในปัจจุบัน การรับ-ส่ง จดหมาย เอกสาร พัสดุ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ได้เป็นเพียงธุรกิจหลักประเภทเดียวที่สร้างรายได้ให้กับองค์การไปรษณีย์เหมือนเช่นในอดีต นอกเหนือจากธุรกิจไปรษณีย์ ธุรกิจการให้บริการการชำระเงิน (Bill Pay-ment Services) ก็เป็นธุรกิจหนึ่งที่องค์การไปรษณีย์ให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบัน องค์การไปรษณีย์สามารถขยายเครือข่ายการให้บริการการชำระเงินผ่านที่ทำการไปรษณีย์ เชื่อมโยงได้มากกว่า 80 องค์กร ประชาชนโดยทั่วไปนอกจากจะสามารถชำระค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าโทรศัพท์ ค่าภาษีโรงเรือน ค่าตั๋วเครื่องบินของบางสายการบิน ค่าตั๋วรถทัวร์ในประเทศ ค่าเรือโดยสาร แล้วยังสามารถทำ การต่อทะเบียนรถ ซื้อขายเปลี่ยนโอนกรรมสิทธิ์ รถ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วที่ที่ทำการไปรษณีย์ แทบทุกสาขา โดยไม่ต้องเสียเวลาไปสำนักงาน ขนส่งในเขตต่างๆ ล่าสุดองค์การไปรษณีย์ยังเปิดให้บริการการชำระเงินออนไลน์ที่ทันสมัย ซึ่งเรียกกว่า 'ebill' นอกจากนี้ธุรกิจการจำหน่วยตั๋ว (Ticketing) โดยเฉพาะตั๋วชม กีฬา ก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่องค์การไปรษณีย์ เริ่มเข้ามาดำเนินการมากขึ้น
นอกจากนี้ธุรกิจการให้บริการการจัดการด้านเอกสารและข้อมูล (Document and Data Management) ก็เป็นธุรกิจอีกประเภทหนึ่งที่องค์การไปรษณีย์ให้ความสนใจ เป็นอย่างมากในขณะนี้ และนับได้ว่าเป็นธุรกิจ ยุทธศาสตร์ที่สำคัญขององค์การไปรษณีย์ในปัจจุบันก็ว่าได้ จุดสำคัญที่องค์การไปรษณีย์ให้ความสนใจในธุรกิจประเภทนี้ก็คือ ในปัจจุบันบริษัทสมัยใหม่ มีแนวโน้มที่จะจ้างบริษัทอื่นมาจัดการงานด้านเอกสาร ข้อมูลไอที และด้านอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัทของตน หรือที่หลายๆ คนนิยมเรียกว่า 'Outsourcing'
กระแสการทำ Outsourcing ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วอยู่ในขณะนี้ ก็มีส่วนผลักดันให้องค์การไปรษณีย์ได้เริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจประเภทนี้อย่างเต็มรูปแบบให้ กับหลายๆ บริษัทและองค์กรในนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะการให้บริการการจัดพิมพ์และจัดส่งเอกสาร อย่างเช่น ใบรายการทางบัญชี (statements), ใบแจ้งยอดชำระเงิน (invoices) ทางไปรษณีย์และทางอีเมลให้กับลูกค้าของบริษัทเหล่านั้น นอกจากนี้องค์การไปรษณีย์ยังให้บริการจัดพิมพ์และจัดส่ง แค็ตตาล็อกและใบโฆษณาสินค้าให้กับผู้บริโภคทางไปรษณีย์อีกด้วย การจัดส่งใบโฆษณาและแค็ตตาล็อกสินค้าโดยตรงจากผู้ขายสู่ผู้บริโภค ซึ่งเรียกว่า Direct Mail ก็นับว่าเป็นวิธีโฆษณา สินค้าที่ประสบความสำเร็จและเข้าถึงผู้บริโภค ได้เป็นอย่างดี Direct Mail จึงเป็นธุรกิจหนึ่ง ขององค์การไปรษณีย์ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
นอกเหนือจากธุรกิจที่กล่าวมาแล้ว องค์การไปรษณีย์ยังให้บริการด้านการเงินในรูปแบบต่างๆ อย่างเช่น รับโอนเงินในประเทศ และระหว่างประเทศ รับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ออกพันธบัตรที่เรียกว่า Bonus Bonds ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสลากออมสินในบ้านเรา แต่ก้าวที่สำคัญในธุรกิจการเงิน การธนาคาร ขององค์การไปรษณีย์ ก็คือการจัดตั้งธนาคารกีวีแบงก์ (Kiwi Bank) ในปี 2002 กีวีแบงก์นั้นมีลักษณะแตกต่างจาก ธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปตรงที่ที่ทำการของกีวีแบงก์ นั้นเป็นที่เดียวกับที่ทำการไปรษณีย์ ลูกค้ากีวีแบงก์ สามารถเบิก-ถอนเงิน เข้าเช็ค และทำธุรกรรมรายวันประเภทอื่นๆ ได้ที่เคาน์เตอร์เดียวกับเคาน์เตอร์ที่ดำเนินงานด้าน ไปรษณีย์ ส่วนธุรกรรมประเภทอื่นๆ ที่มีความซับซ้อน อย่างเช่น การกู้เงิน ลูกค้าต้อง โทรศัพท์เพื่อทำการนัดหมายเพื่อพบกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารในด้านนั้นๆ ดังนั้น ลูกค้าของกีวีแบงก์อาจขาดความสะดวกสบาย ในบางส่วน แต่จุดนี้กลับช่วยกีวีแบงก์ลดต้นทุนในการดำเนินการได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็ทำให้กีวีแบงก์สามารถปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นๆ และสามารถจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากได้สูงกว่าธนาคาร พาณิชย์อื่นๆ เช่นกัน อัตราดอกเบี้ยจึงเป็นยุทธศาสตร์ ที่สำคัญที่สุดของกีวีแบงก์ในการแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์อื่น
นอกจากนี้แล้ว หลักการพื้นฐานที่สำคัญของกีวีแบงก์อีกอย่างหนึ่งก็คือ การรวมตัวระหว่างบริการด้านต่างๆ ที่องค์การไปรษณีย์เปิดให้บริการมาช้านานกับบริการด้านธนาคาร จะช่วยลดเวลาการเดินทาง สร้าง ความสะดวกสบายให้กับลูกค้า ที่ใช้บริการเหล่านี้เป็นประจำสม่ำเสมอ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กีวีแบงก์ก็สามารถขยายกิจการได้อย่างรวดเร็ว ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย ดังนั้นในปัจจุบันกีวีแบงก์จึงได้กลายเป็นธุรกิจหลักที่สำคัญขององค์การไปรษณีย์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าธุรกิจด้านไปรษณีย์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักมาอย่างช้านาน และคาดกัน ว่ากีวีแบงก์คงจะเป็นธุรกิจสำหรับอนาคตที่สำคัญที่สุดขององค์การไปรษณีย์ต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|