"นกแอร์"เลื่อนเส้นทางบินแทนจำปี นัดบินไทย-ผู้ว่าฯถกแก้ปัญหาด่วน


ผู้จัดการรายวัน(27 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

นกแอร์รื้อแผน เลื่อนบินเส้นทาง เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน อย่างไม่มีกำหนด พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารทั้งของนกแอร์ การบินไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด เคลียร์กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง หวังทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่การ บินไทยหยุดบินและให้นกแอร์บินแทน ต้องศึกษา ตลาดก่อนกำหนดแผนงาน คาด 2-3 สัปดาห์รู้ผลด้าน CEO นกแอร์ จับมือ 5 พันธมิตร ขยายเครือข่าย ช่องทางจัดจำหน่ายและชำระค่าตั๋วผ่าน ATM เคาน์เตอร์เซอร์วิสพลัส และโทรศัพท์มือถือ

นายสีหพันธุ์ ชุมสาย ณ อยุธยา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการตลาด สายการบิน นกแอร์ เปิดเผยว่า บริษัทจะยังไม่เปิดเส้นทางบิน เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ซึ่งจากกำหนดเดิมที่จะเริ่มบินในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ แทนการบินไทยที่จะหยุดบินในเส้นทางดังกล่าว ทั้งนี้เพราะในการเปิด เส้นทางบินเส้นนี้เป็นการเปิดเพื่อมาแทนการบินไทย ที่จะหยุดบินเพราะประสบภาวะขาดทุนมาก ดังนั้น จึงจะขอเวลาทำความเข้าใจและตกลงกับลูกค้าผู้ใช้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจ ล่าสุดได้ ส่งคณะผู้แทนคือนายปิยะ ยอดมณี รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ สายการบินนกแอร์ พร้อมตัวแทนจากการบินไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปเจรจาทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ประท้วง ตลอดจนศึกษาตลาดอย่างละเอียด คาดว่าใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ จะได้ข้อมูลครบถ้วน

ดังนั้นจึงยังไม่สามารถตอบได้ว่า นกแอร์จะเปิดเส้นทางบิน เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอนได้เมื่อใด คงต้องรอผลศึกษา แล้วนำมาประเมินแผนงานและกลยุทธ์ก่อน แต่แน่นอนว่าราคาของตั๋วเครื่องบินในเส้นทางนี้จะต้องสูงกว่า 1,500 บาทต่อที่นั่ง เพราะเราต้องคำนวณหาต้นทุนก่อนกำหนดราคา ซึ่งนกแอร์ ได้เตรียมใช้เครื่อง ATR-72 ขนาด 66 ที่นั่ง สำหรับบินในเส้นทางดังกล่าว

ปัจจุบัน เส้นทางเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน มีการบินไทยเพียงสายเดียวที่บินอยู่โดยประสบภาวะขาดทุนมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในอดีต การบินไทยกำหนดราคาตั๋วที่ 800 บาทต่อที่นั่ง และมาปรับเพิ่มเป็น 1,500 บาทต่อที่นั่ง โดยการปรับเพิ่มมาจากค่าเซอร์ชาร์จน้ำมัน และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ให้บริการวันละ 4 เที่ยวบิน

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเรียกร้องของผู้ชุมนุมประท้วง ไม่ยอมรับสายการบินนกแอร์เพราะไม่พอใจที่จะต้องใช้บริการสายการบินโลว์คอสต์ โดยอ้างเหตุผลว่า ออกบินไม่ตรง เวลา และไม่มีบริการขณะอยู่บนเครื่องบิน ไม่เหมือนการบินไทย ประกอบกับมองว่าราคาตั๋วที่การบินไทยกำหนดอยู่ปัจจุบันนี้เหมาะสม เพราะระยะทางบินสั้น แต่นกแอร์ซึ่งเป็นโลว์คอสต์กลับย้ำชัดเจนว่าจะกำหนดราคาค่าตั๋วสูงกว่าการบินไทย จับมือ 5 พันธมิตรชำระค่าตั๋วนกแอร์

ทางด้านนายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร สายการบินนกแอร์ เปิดเผยถึงแผนการตลาดในด้านช่องทางจัดจำหน่ายว่า ล่าสุด นกแอร์ ได้จับมือพันธมิตร 5 รายเพื่อให้ลูกค้าได้ใช้บริการ จองและชำระค่าบริการเที่ยวบิน (ค่าตั๋ว) ผ่านเครือข่าย ประกอบด้วย เคาน์เตอร์ เซอร์วิส พลัส ณ ร้าน 7-อีเลฟเว่น, ชำระผ่านตู้ ATM ของ 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) และแอดวานซ์ เอ็มเปย์ (เอไอเอส) ซึ่งเป็นการชำระผ่านโทรศัพท์มือถือในระบบแว็บ

โดยก่อนหน้านี้ นกแอร์ เปิดให้บริการชำระค่าตั๋วเครื่องบินผ่านเคาน์เตอร์ เซอร์วิส พลัส ณ ร้าน 7-อีเลฟเว่น และตู้ ATM ของธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ยังต้องการให้ลูกค้าสะดวกสบายยิ่งขึ้น จึงได้เจรจากับธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย รวมถึงแอดวานซ์ เอ็มเปย์ เพื่อให้ลูกค้านกแอร์ สามารถชำระเงินผ่านระบบเครือข่ายได้เพิ่มเติมสอดคล้องไลฟ์สไตล์ของคนไทยในยุคปัจจุบัน เพราะจากฐานข้อมูลของนกแอร์ พบว่าลูกค้า 60% ของนกแอร์ มีการจ่ายเงินแบบไม่ใช้บัตรเครดิต สำหรับ ขั้นตอนการสำรองที่นั่ง ให้ใช้คอลเซ็นเตอร์ เบอร์ 1318 เพื่อสำรองที่นั่งจากนั้นลูกค้าจะได้หมายเลข PAY CODE เพื่อมาชำระผ่าน ตู้ ATM

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ นกแอร์จะเร่งเพิ่มคุณภาพบริการให้ลูกค้าเกิดความประทับใจและเข้ามาเป็นลูกค้าประจำของนกแอร์ สำหรับแผนการเปิดเส้นทางบินไปต่างประเทศ จะเลื่อนออกไปเป็นปีหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาน้ำมันแพง ทำให้บริษัทต้องทบทวนต้นทุน ก่อนวางแผนในการดำเนินธุรกิจ สำหรับในประเทศปัจจุบันนกแอร์บินอยู่ 4 เส้นทาง คือ ภูเก็ต อุดรธานี หาดใหญ่ และเชียงใหม่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.