ธุรกิจ"น้ำประปาทะเล"บูมเล็งขยายสู่แหล่งท่องเที่ยว


ผู้จัดการรายวัน(26 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เอกชนสยายปีกผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล เจาะแหล่งท่องเที่ยว ที่สำคัญของประเทศ หลังลงทุนเกาะสีชัง-เกาะสมุยได้ผลเกินคุ้ม เล็ง "ภูเก็ต-เกาะช้าง-เกาะพงัน" คิวต่อไป แนะภาคอุตสาหกรรมหวังพึ่งน้ำธรรมชาติอย่างเดียว ไม่ได้ ต้องนำระบบสกัดน้ำทะเลไปใช้ เพื่อป้องกันความเสี่ยง

นายไพโรจน์ สัตยสัณห์สกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทิลิตี้ส์ จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ผู้จัดการรายวัน" เกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทในการ นำเทคโนโลยีการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลมาใช้ในประเทศว่า การดำเนินงาน ของบริษัทในการขายน้ำจืดที่ได้จากการสกัดน้ำทะเลได้ผลเป็นที่น่าพอใจทั้งในแง่การ ลงทุนและในแง่ของการช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ

ปัจจุบันบริษัทผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล โดยใช้ระบบ "รีเวอร์ส ออสโมซีส" หรือ "RO" จ่ายน้ำให้กับ เทศบาล ต.เกาะสีชัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จำนวน 500 ลบ.ม./วัน ขณะเดียวกันบริษัทยังจ่ายน้ำให้กับ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 2,500 ลบ.ม./วัน ด้วยวิธีเดียวกัน ทำให้เกาะสีชังและเกาะสมุยไม่ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำเหมือนแหล่งอื่นๆ ของประเทศ

นายไพโรจน์ กล่าวว่า น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะ ต้นทุนถูกกว่า แต่ในสภาพภูมิประเทศบางแห่งที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติและมีผู้คน อาศัยอยู่เยอะ มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้ จึงต้องนำเทคโนโลยีมาสู้กับธรรมชาติ

"เกาะสีชังเป็นภูเขาหมดพื้นที่ราบที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำไม่มีเลย ไม่สามารถทำน้ำประปาได้ ส่วนการทำท่อมีข้อเสียคือใช้เงินลงทุนสูง ประกอบกับเกาะสีชังเป็นเกาะที่มีการทอดสมอเรือสินค้า อาจโดนท่อแตกได้ ส่วนที่เกาะสมุยนักท่องเที่ยว เยอะน้ำไม่พอใช้ การพัฒนาแหล่งน้ำที่เหมาะสมคือการสกัดน้ำทะเลเป็นน้ำจืด" นายไพโรจน์ กล่าว

สำหรับต้นทุนการผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำจืดประมาณ 40 บาท/ลบ.ม. แต่ต้นทุนดังกล่าวจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ ขณะที่ราคาขายน้ำของทุกโครงการจะคำนวณกำไรประมาณ 10% หรือ 44-45 บาท/ลบ.ม แต่ราคาขายอาจมากขึ้นถ้าต้องจ่ายน้ำถึงบ้านเรือนของผู้ใช้ เพราะต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า โครงการของบริษัททั้งสองแห่งสามารถคืนทุนได้ในระยะเวลา 5-7 ปี โดยบริษัทเตรียมลงทุนอย่างต่อเนื่องตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ซึ่งโครงการต่อไปของบริษัทจะลงทุนที่เกาะล้าน และเกาะช้าง นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างทำการศึกษาความคุ้มค่าต่อการลงทุนที่เกาะพงัน และเกาะภูเก็ตด้วย

"การบริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบ RO ร่วมกับการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องออกแบบว่าจะใช้น้ำธรรมชาติกี่เปอร์เซ็นต์และจะต้องใช้ RO กี่เปอร์เซ็นต์ โดยพิจารณาจากสภาพของแต่ละพื้นที่ อย่างเกาะสีชังต้องใช้ RO เกือบ 100% เพราะแหล่งน้ำธรรมชาติไม่มีเลย ส่วนที่เกาะสมุย ใช้ระบบ RO 15% และที่เกาะล้าน ปัจจุบันใช้การขนน้ำจืดทางเรือ 100% แบบนี้ใช้ RO ดีกว่า" นายไพโรจน์ กล่าว

นายไพโรจน์ กล่าวถึงการนำระบบ RO มาใช้แก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลนในภาคอุตสาหกรรมว่า หากภาคอุตสาหกรรมนำวิธี RO ไปใช้เพื่อสกัดน้ำจืดให้ผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุนอย่างแน่นอน แต่สาเหตุที่ปัจจุบันยังไม่ทำ เนื่องจากต้นทุนสูงมากกว่าการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีราคาประมาณ 11 บาท/ลบ.ม. แต่ถ้าหากน้ำวิกฤตจนต้องหยุดเครื่องจักร การสกัดน้ำทะเลถือว่าคุ้มค่ากว่ามาก

นอกจากนี้ ในแต่ละวันภาคอุตสาหกรรมปล่อยน้ำทิ้งออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งน้ำเหล่านั้นสามารถใช้กรรมวิธี RO สกัดเป็นน้ำบริสุทธิ์ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งการใช้น้ำทิ้งจากโรงงานมาสกัดยังมีผลดีในแง่ใช้แรงดันในการสกัดน้อยกว่า ทำต้นทุนการผลิตต่ำกว่า การสกัดจากน้ำทะเลอีกด้วย ดังนั้น RO เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากในสภาวะที่รถขนน้ำวิ่งกันอยู่อย่างนี้

"ในอีกแง่หนึ่งถ้าวันที่ขาดน้ำจริงๆ และหยุดเครื่องจักรไม่ได้ ถ้าต้องสกัดน้ำทะเลก็คุ้ม ซึ่งระบบ RO นี้ เป็นระบบที่เหมาะสำหรับเป็นแบ็กอัพ คือ ทำให้ เกิดเสถียรภาพต่อการใช้น้ำ หรือเป็นการป้องกันความ เสี่ยงอย่างหนึ่ง แต่ระบบหลักผมยังเชียร์การใช้น้ำธรรมชาติดีกว่าเพราะต้นทุนถูกกว่า" นายไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.