|

ทีโอทีจับมือเอดีซีกู้ชีพ"บัดดี้"
ผู้จัดการรายวัน(26 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ทีโอทีตั้งโต๊ะถกหาทางแก้ปัญหาเอดีซี ต่อลมหายใจบัดดี้บรอดแบนด์ หลังให้บริการ 6 เดือนได้ลูกค้า 5 พันรายพลาดเป้าแบบไม่เห็นฝุ่น ได้ข้อสรุป ใช้โครงข่ายเอไอเอสในพื้นที่ทีโอทีไม่ครอบคลุมหรือสายทองแดงไม่สามารถให้บริการได้เต็มประสิทธิภาพ ส่วนพื้นที่ห่างไกลใช้ไอพีสตาร์แทน หวังปีหน้ายอดลูกค้าเพิ่มเป็น 1.6 แสนราย
นายไตรรัตน์ แก้วเกิด กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ ดาต้า เน็ทเวอร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์ หรือเอดีซี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัททีโอทีกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสหรือเอไอเอสในสัดส่วน 49/51 กล่าวถึงบริการบัดดี้บรอดแบนด์ว่าตั้งแต่เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมาปรากฏว่าบัดดี้มีผู้ใช้บริการประมาณ 5,000 รายเท่านั้นซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่คาดว่าภายในสิ้นปีจะมีผู้ใช้บริการ 8 หมื่นรายเนื่องจากไม่สามารถให้บริการต่างๆ ได้ตามแผนงานที่วางไว้
เป้าหมายบริการที่วางไว้ว่าสามารถให้บริการในลักษณะทริปเปิล เพลย์ หรือทั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โทรศัพท์ ดูหนัง ผ่านโครงข่ายทีโอที แต่ปรากฏว่าโครงข่ายทีโอทีบางช่วงไม่ครอบคลุมพื้นที่บริการ และบางเส้นทางมีปัญหาเรื่องคุณภาพ ทำให้การทำตลาดต้องชะลอไปช่วงหนึ่ง
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเอดีซีกับทีโอทีจึงได้ตั้งคณะกรรมการร่วม โดยได้ข้อสรุปว่าเอดีซีจะใช้โครงข่ายโดยเฉพาะเคเบิลใยแก้วของเอไอเอส ในพื้นที่ซึ่งโครงข่ายของทีโอทีไม่ครอบคลุมถึง อย่างในหมู่บ้านหรือคอนโดมิเนียมหรือพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งในส่วนที่คุณภาพของสายทองแดงทีโอทีไม่สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่จะใช้ดาวเทียมไอพีสตาร์สำหรับให้บริการในพื้นที่ลักษณะ Remote Area ที่มีความต้องการใช้บริการ โดยคาดว่าจะเริ่มทำการตลาดอย่างจริงจังภายในเดือนต.ค.ที่จะถึงนี้ และวางเป้าหมายว่าภายในปีหน้า จะมีลูกค้าประมาณ 1.6 แสนรายและเพิ่มเป็น 2 แสนรายในปี 2550 สามารถถึงจุดคุ้มทุนในอีก 5 ปี ด้วยจำนวนลูกค้าประมาณ 5 แสนราย
"บัดดี้จะใช้ช่องทางการตลาดของดีพีซีในกลุ่มเอไอเอส เพื่อเข้าถึงตลาดระดับแมส"
นายไตรรัตน์กล่าวว่าขณะนี้มีบริษัทโฆษณาจากประเทศญี่ปุ่นสนใจที่จะดำเนินงานด้านการตลาดให้กับบัดดี้ บรอดแบนด์ด้วย ซึ่งจะเป็นในลักษณะการจัดแสดงสินค้าตามห้างสรรพสินค้า ต่างๆ เช่น โลตัส หรือโฮมโปร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกัน ขณะที่บัดดี้ บรอดแบนด์ อยู่ระหว่างการพัฒนาเนื้อหาหรือคอนเทนต์อย่างต่อเนื่อง โดยจะเพิ่มช่องทีวีจากที่มีอยู่ 10 ช่องเป็น 20 ช่องภายในสิ้นปีนี้ พร้อมทั้งการให้บริการชมภาพยนตร์ในลักษณะวิดีโอ ออนดีมานด์ ด้วยอัตราค่าบริการเรื่องละ 10-30 บาท เพิ่มจากค่าบริการพื้นฐาน ที่คิดประมาณ 650 บาท
แหล่งข่าวจากทีโอทีกล่าวว่าที่ผ่านมาปัญหาของบัดดี้ บรอดแบนด์ มี 2 เรื่องคือปัญหาด้าน บิสิเนส โมเดล และปัญหาด้านเทคนิค เนื่องจาก บัดดี้ บรอดแบนด์ วางตำแหน่งบริการในรูปแบบ 3 in 1 ทำให้สายโทรศัพท์ของทีโอทีเพียงสายเดียวสามารถใช้บริการได้ถึง 3 รูปแบบพร้อมๆ กันหมายถึงการวางโพสิชันเป็นทีวี โดยเฉพาะอินเตอร์ แอ็กทีฟทีวี ทำให้เครือข่ายต้องการแบนด์วิดท์ที่สูงมากเกินกว่าสายเคเบิลทีโอทีสามารถให้บริการได้ เนื่องจากสายทองแดงปัจจุบันของทีโอทีสามารถให้บริการบรอดแบนด์ในรัศมีเพียงไม่เกิน 4 กิโลเมตรจากชุมสายโทรศัพท์ซึ่งหากต้องการให้บริการ อินเตอร์แอ็กทีฟทีวี รัศมีดังกล่าวจะต้องลดลงอีก หมายถึงพื้นที่ให้บริการจะจำกัดลงมาก
นอกจากนี้ ผู้บริหารทีโอทีในระดับปฏิบัติงานและผู้บริหารในสายธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องไม่ให้ความร่วมมือกับบัดดี้บรอดแบนด์ อย่างเรื่องค่าเช่าสายโทรศัพท์ ที่ตอนแรกในการเจรจากันเอดีซีพร้อมจ่ายให้ทีโอทีในราคาเลขหมายละ 107 บาทซึ่งเป็นค่าบริการรายเดือน หากเลขหมายนั้นมีการใช้งานโทรศัพท์เพิ่มทีโอทีก็จะมีรายได้ในส่วนนี้ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นชอบหมดแต่เมื่อเริ่มให้บริการจริงกลายเป็นว่าทีโอทีไม่ยอม เอดีซีต้องจ่ายค่าเช่าให้เลขหมายละ 320 บาท ซึ่งเท่ากับรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานของทีโอที นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทีโอทีได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านบริการบัดดี้บรอดแบนด์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะประเด็นการคิดต้นทุน ค่าเช่าต่อเลขหมายที่ต้องการให้คิดกับเอดีซี เลขหมายละ 320 บาทแทนเลขหมายละ 107 บาท พร้อมเรียกร้องให้พนักงานใช้บริการบรอดแบนด์ของทีโอทีเอง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|