|

ยุติปัญหา “โทล์เวย์”เสนอซื้อหุ้นละ 5-9 บาท
ผู้จัดการรายวัน(26 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
คณะกรรมการแก้ไขข้อพิพาท ปัญหาดอนเมืองโทลล์เวย์ สรุป 2 แนวทางเสนอ รมว.คลัง-คมนาคม สัปดาห์นี้ ทางแรกขยายระยะเวลาสัมปทาน 6 ปี แลก ลดค่าผ่าน 5 ปี ส่วนแนวทางที่สองคือ เสนอ ซื้อหุ้นคืนทั้งหมด ในราคาตั้งแต่ 5 บาท ถึง 9 บาท เพื่อแก้ปัญหาอื่นๆ อย่างเบ็ดเสร็จ
นางสาวสุภา ปิยะจิตติ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง ในฐานะคณะกรรมการเจรจาเรื่องการแลกการขยายระยะเวลาสัมปทานกับการลดค่าผ่านทางของบริษัททาง ด่วนยกระดับดอนเมือง จำกัด หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้คณะกรรมการฯ จะเสนอผลสรุปแนวทางของเรื่องนี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนที่จะเสนอให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบพิจารณาต่อไป
โดยแนวทางที่จะเสนอนั้น จะมี 2 แนวทาง แนวทางแรก คือ การขยายระยะเวลาสัมปทานให้อีก 6 ปี เพื่อแลกกับการลดค่าผ่านทาง 5 ปี คือ อัตรา 20 บาทตลอดเส้นทางในช่วงปีแรก และในอัตรา 20 บาท กับอีก 10 บาทในส่วนต่อขยาย ในช่วง 4 ปีถัดไป
ส่วนแนวทางที่สอง คือ การขอเสนอซื้อหุ้น จากบริษัทฯ ทั้งหมดจำนวน 450 หุ้น เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุมทั้งในเรื่องของการเชื่อมโยงโครงข่ายการจราจรแบบเบ็ดเสร็จในอนาคต การแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างภาครัฐและบริษัทฯ และสุดท้าย คือ แก้ปัญหาให้แก่ผู้ถือหุ้นต่างชาติที่ต้องการจะขายหุ้น คืนให้แก่ทางการ ซึ่งแนวทางนี้จะมีการเสนอราคา ซื้อไว้หลายราคา ได้แก่ ราคาหุ้นละ 5 บาท 6 บาท 7 บาท และ 9 บาท ขึ้นอยู่กับตัวแปร 2 ตัวที่แตกต่างกัน คือ 1. ความเสียหายที่แท้จริง และ 2. ปริมาณการจราจรในช่วงระยะเวลาสัมปทานที่เหลืออีก 17 ปี
"ที่ต้องเสนอราคาซื้อไว้หลายช่วง ก็เพราะเราไม่รู้ว่าความเสียหายจริงๆ เนื่องจากไม่รู้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของใคร อย่าง เรื่องการสร้างทาง Local Road ที่ทางบริษัทมองว่าภาครัฐทำให้เขาเกิดความเสียหาย เช่นเดียวกับเรื่องปริมาณการจราจรที่ไม่แน่นอน ในช่วงระยะเวลาสัมปทานที่เหลืออีก 17 ปี ซึ่งทาง บริษัทฯ ใช้ตัวเลขความเสียหาย 15,000 ล้านบาท บวกกับมูลค่าทางธุรกิจในการคำนวณ ทำให้ราคา หุ้นสูงถึง หุ้นละ 18-19 บาท แต่เขาเสนอขายในราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท แต่ราคาที่เราประเมินว่าเหมาะสมอยู่ที่ 5 บาทกว่าๆ เท่านั้น"
นางสุภา กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยส่วนตัวมองว่า ถ้ามีงบประมาณจำกัด ควรเลือกแนวทางแรก เพราะการนำเงินงบประมาณมาซื้อหุ้นเท่ากับเป็นการผลักภาระให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีทั้งประเทศ ขณะที่ผู้ได้รับประโยชน์ คือ ผู้ที่ใช้เส้นทางดังกล่าว ซึ่งเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในกรุงเทพฯ เท่านั้น และแม้ว่าจะใช้เงินของกรมทางหลวงที่มีอยู่ประมาณ 8,000 ล้านบาทก็ตาม เพราะเงินจำนวนนี้ ควรนำไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนรวมของประเทศมากกว่า
อย่างไรก็ตาม หากเลือกแนวทางนี้ ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในปัจจุบัน รวมถึงปัญหาที่ผู้ถือหุ้นต่างชาติต้องการขาย และปัญหา ข้อพิพาทระหว่างบริษัทและภาครัฐในอนาคต เช่น บริษัทฯ อาจฟ้องร้องภาครัฐอีกหากมีการสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินไปรังสิต เป็นต้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|