เมื่อต้องอยู่รอด

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ในที่สุด catcha.co.th ขายกิจการในไทย ให้กับ เอ็มเว็บ ประเทศไทย จำกัด หลังจากใช้เวลา 2 ปีเต็ม ฝ่ากระแสตกต่ำของดอทคอม

"ผมไม่คิดว่าเป็นเพราะเราไม่ประสบความสำเร็จ แต่อินเทอร์เน็ตไม่เติบโตอย่างที่เราคิด" ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทแคทชา ประเทศไทย บอกกับ "ผู้จัดการ"

เกือบสองปีมาแล้ว ที่เด็กหนุ่มจากอุดรธานีผู้นี้ ตัดสินใจยุติการเรียนระดับปริญญาเอก ในมหาวิทยาลัย Stanford สหรัฐอเมริกาลงชั่วคราว เพื่อแสวงหาประสบการณ์จริง ด้วยการเป็นหุ้นส่วนทำเว็บไซต์ catcha.com เป็นเว็บไซต์ search engine ในชื่อ catcha.co.th เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาคเอเชีย จากการชักชวนของ แพทริก โกรฟ ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารแคทชา สิงคโปร์ ที่มาสะดุดตากับเว็บไซต์ siampage.com เว็บไซต์ที่เขาทำขึ้นไว้เป็นงานอดิเรกยามไกลบ้าน

ฉัตรชัยบินกลับเมืองไทย พร้อมด้วย วิสัยทัศน์แห่งอินเทอร์เน็ต catch.co.th เปิดฉากธุรกิจขึ้นอย่างร้อนแรง ผ่านโฆษณาบนตัวรถประจำทางปรับอากาศ สร้างชื่อเว็บไซต์ catcha.co.th ไปทั่วกรุง พร้อมด้วยสำนักงานบนอาคารเพรสซิเด้นท์ทาวเวอร์ ที่ได้รับการตกแต่งอย่างดีตามสไตล์บริษัทในซิลิคอนวัลเลย์

หลังฟองสบู่ดอทคอมแตก เว็บไซต์หลายแห่งปิดตัวลง แม้ว่า catcha.co.th ไม่ติดอยู่ในกลุ่มเหล่านั้น แต่เมื่อบริษัทแม่ คือ catcha.com ไม่สามารถนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นในสิงคโปร์ ทำให้พวกเขาต้องแสวงหาความอยู่รอด ปรับสู่สภาพความเป็นจริงของธุรกิจ ลดค่าใช้จ่าย รัดเข็มขัด ลดพื้นที่เช่า หารายได้จากโฆษณาอย่างเต็มที่

แม้ว่า การพัฒนาเนื้อหาของเว็บไซต์ ยังคงมีต่อเนื่อง แต่สภาพตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยทุกอย่างถูกจำกัด

ฉัตรชัยเชื่อว่า ปัญหาของ catcha. co.th ไม่ได้อยู่ที่โครงสร้างธุรกิจ เมื่อทุกวันนี้พวกเขายังสามารถหารายได้จากค่าโฆษณา เดือนละ 3-4 แสนบาท แต่กระแสตกต่ำของดอทคอม ทำให้เงื่อนไขการทำธุรกิจของ catcha เปลี่ยนไป ความต้องการเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาคต้องถูกแทนที่ความอยู่รอด

จากการสร้างเว็บไซต์ที่ต้องอาศัยความเฉพาะเจาะจง ใช้เนื้อหาท้องถิ่นของ catcha.co.th กลายเป็นข้อจำกัดในเรื่องของต้นทุน เนื่องจากไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาในนิตยสาร JUICE ร่วมกับเว็บไซต์ในเครือข่าย แคทชา ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่เป็นภาษาอังกฤษ

การตัดสินใจขายกิจการ catcha. co.th ให้กับบริษัทเอ็มเว็บ ประเทศไทย เจ้าของเว็บไซต์รายใหญ่ของบริษัทแม่ในสิงคโปร์ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขาในยามนี้

"เท่ากับเป็นการต่อสายป่านให้ catcha เดินหน้าต่อไปได้เร็วขึ้นอย่างน้อย ชื่อของ catcha ก็ไม่หายไปไหน" ฉัตรชัย บอก "ด้วยส่วนแบ่งตลาดของเอ็มเว็บ ทำให้เราก้าวขึ้นอันดับ 1 ได้ทันที แทนที่จะต้องใช้เวลาและเงินทุนอีกพักใหญ่"

แม้ว่ามูลค่าการซื้อขายครั้งนี้ไม่เป็นที่เปิดเผย แต่สำหรับเอ็มเว็บแล้ว สมาชิก 1.6 ล้านคน บริการค้นข้อมูลและเนื้อหา การเป็นเจ้าของนิตยสารไลฟ์สไตล์ JUICE ของ catcha จะช่วยเติมเต็มให้กับเอ็มเว็บ และหากการเจรจาเงื่อนไขผลตอบแทนลงตัว ฉัตรชัยและทีมงานอีก 10 คน จะถูกโอนย้ายไปอยู่กับเอ็มเว็บ

สำหรับฉัตรชัยเอง ความเชื่อมั่นในธุรกิจอินเทอร์เน็ตของเขายังไม่หายไปไหน หากไม่ได้อยู่ร่วมในเอ็มเว็บ การเริ่มต้นในธุรกิจดอทคอมจะมีขึ้นอีกครั้ง

ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เขารู้ว่า นอกจากสายป่านแล้ว เวลาก็เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการอยู่รอดในยามนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.