บล.แห่จับคู่ตปท.รุกอนุพันธ์ร้องขอTFEXทำระบบไอทีพูล


ผู้จัดการรายวัน(26 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทหลักทรัพย์ไทยตบเท้าดึงพันธมิตรต่างประเทศเข้ามาช่วยเกื้อหนุนธุรกิจตลาดอนุพันธ์ เหตุเป็นธุรกิจใหม่หวังให้ถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมเรียกร้องให้จัดตั้งระบบไอทีพูลเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน

นายวิบูลย์ เพิ่มอารยวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) สินเอเซีย จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทจากต่างประเทศแห่งหนึ่งเพื่อที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในด้านตลาดอนุพันธ์คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งบริษัทตั้งเป้าว่าภายในปีแรกบริษัทจะเป็นโบรกเกอร์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดติด 1 ใน 5 เพราะเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรจากต่างประเทศเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ เชื่อว่าโบรกเกอร์ในตลาดอนุพันธ์ที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยนั้นจะต้องหาพันธมิตรจากต่างประเทศเข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีและประสบการณ์ให้เพราะตลาดอนุพันธ์ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยขณะที่ในต่างประเทศจะมีประสบการณ์เป็นอย่างดี ขณะที่โบรกเกอร์ที่มีต่างประเทศเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็จะใช้เทคโนโลยีของผู้ถือหุ้นเข้ามาสนับสนุน

นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บล.ภัทร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายในสัญญาความร่วมมือทางธุรกิจกับเมอร์-ริลลินช์จะครอบคลุมที่จะร่วมทำธุรกิจในด้านตลาดอนุพันธ์ด้วยซึ่งเชื่อว่าจะได้ประโยชน์จากความร่วมมือนี้ โดยลูกค้าของเมอร์ริลลินช์ที่ต้องการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ก็สามารถซื้อขายผ่านบริษัทได้

สำหรับการเตรียมความพร้อมนั้นขณะนี้ได้มีบุคลากรที่จะเข้ามารองรับแล้วและอยู่ระหว่างการเลือกระบบการซื้อขายว่าจะใช้ระบบใด เพราะขณะนี้มี 3 ระบบที่จะใช้ โดยภายในปีแรกนั้นบริษัทคาดว่าจะเติบโตในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปโดยกลุ่มลูกค้าจะเป็นนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ ที่ต้องการใช้ตราสารอนุพันธ์เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง

นางอัศวินี ไตลังคะ กรรมการผู้จัดการ บล. ธนชาต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจอนุพันธ์ของบริษัทนั้นจะร่วมกับ กลุ่มบีเอ็นพี พารีบาส์ที่ได้ร่วมทำธุรกิจด้วยกันหลายด้าน ทั้งในส่วนของธุรกิจนายหน้า, งานวิจัยและวาณิชธนกิจโดยในส่วนของตลาดอนุพันธ์นั้น บริษัทหวังจะที่ให้กลุ่มบีเอ็นพีพารีบาส์เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับบริษัท

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าว่าภายในปีแรก น่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 5% โดยพิจารณาจากโบรกเกอร์ที่มีอยู่ 20 ราย ดังนั้นส่วนแบ่งการตลาดโดยเฉลี่ยน่าจะได้รายละประมาณ 5% และบริษัทตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีแรกของการประกอบธุรกิจน่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนได้ ส่วนการแข่งขันในธุรกิจอนุพันธ์นั้นคาดว่าในช่วงแรกไม่น่าจะมากนักเพราะโบรก-เกอร์แต่ละแห่งคงจะดูแลฐานลูกค้าเดิมของตนเองเป็นหลัก

นายรพี สุจริตกุล ประธานกรรมการ บล.กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทยังไม่ได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจอนุพันธ์กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และขอเข้าเป็นบริษัทสมาชิกหรือโบรกเกอร์กับบริษัทตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) ไม่ทัน เนื่องจากบริษัทอยู่ในช่วงเพิ่งเปิดดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ตาม บริษัทก็สนใจที่จะประกอบธุรกิจดังกล่าวเพราะจะได้ให้บริการแก่ลูกค้าอย่างครบวงจร

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมที่จะยื่นขอใบอนุญาตกับสำนักงาน ก.ล.ต.ภายในเร็วๆ นี้ ซึ่งถ้าได้รับใบอนุญาต แต่ยังไม่ได้เป็นโบรกเกอร์ ก็อาจจะส่งคำสั่งซื้อขายผ่านไปยังบริษัทหลักทรัพย์อื่น ที่ได้เป็นโบรกเกอร์ได้เช่นกันเหมือนในลักษณะเป็นซับโบรกเกอร์

แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์ เปิดเผยว่า ตลาดอนุพันธ์ (TFEX) ควรที่จะจัดระบบไอทีแบบพูล เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนในการดำเนินงาน และจะได้สามารถแข่งขันกับ ต่างประเทศได้

"เราไม่ควรที่จะแข่งขันกันเองในด้านของไอที แต่ควรที่จะร่วมมือกันในส่วนของไอทีพูล แต่ควรที่จะหันไปขยายตลาดโดยเฉพาะการ ขยายฐานนักลงทุนให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น" แหล่งข่าวกล่าว

อนึ่งก่อนหน้านี้บริษัททรีนีตี้ วัฒนาได้ร่วมกับกลุ่ม Polaris จากไต้หวันในการทำธุรกิจอนุพันธ์โดยบริษัททรีนีตี้วัฒนาได้จัดตั้งบริษัทย่อยคือบริษัททรีนีตี้ ฟิวเจอร์ส โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ถือหุ้น 75.5% และกลุ่ม Polaris ถือหุ้นในสัดส่วน 24.5% ขณะที่บริษัทอยุธยาดิริฟวทีฟส์ในเครือบล.กรุงศรีอยุธยา ซึ่งทำธุรกิจอนุพันธ์เช่นกันและมีแผนที่จะดึงต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นรวมถึงบล.แอ๊ดคินซัน ที่มีแผนที่จะดึงพันธมิตรจากไต้หวันเข้ามาช่วยในธุรกิจอนุพันธ์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.