|
Inside ชีวิต : โรคจิตเภท
โดย
วิทยา นาควัชระ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ในสังคมที่สับสนวุ่นวายมากขึ้น โรคทางจิตใจที่พบได้มากที่สุดน่าจะเป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวและไม่ยอมรับว่าป่วยหรอก
โรคนี้พบมากในช่วงวัยรุ่นและมักไม่หายขาด ในผู้ใหญ่ก็พบได้ทุกสถานภาพและอาชีพ
มาพูดถึงเรื่องอาการกันดีกว่า ซึ่งญาติจะสังเกตเห็นได้ง่ายกว่าผู้ป่วยแน่ ๆ
อาการที่สำคัญ ๆ ของโรคจิตเภทได้แก่
1. อาการหลงผิด (Delusion) เช่น ชอบจับผิดคนอื่น โทษคนอื่นด้วยความระแวง บางคนชอบแอบอ้าง และเชื่อว่าตนเองเป็นคนสำคัญ ชอบนำเอาเรื่องราวของคนอื่นหรือในหนัง ละคร มาเป็นเรื่องของตนเอง บางคนหลงผิดทำสิ่งแปลก ๆ โดยเชื่อว่ามาจากการควบคุมของอำนาจภายนอก หรือคิดว่าคำพูดทั้งหลายที่เขาพูดไม่ใช่ความคิดของเขา แต่เป็นความคิดของผู้อื่นที่มีอำนาจเหนือกว่า บางคนรู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงในตนเองซึ่งเชื่อว่ามาจากอำนาจของผู้อื่น หรือคิดว่าทุก ๆ คนรู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ จึงเกิดความกังวล และความกลัวมาก
ความหลงผิดที่อันตรายมากคือ ความหลงผิดชนิดระแวง คิดว่าจะมีคนมาปองร้ายหรือทำร้าย เขาอาจจะทำร้าย ด่า หรือจับผิดคนอื่น หรือหนีจากบุคคลที่คิดว่าจะมาทำร้ายจนถึงฆ่าตัวตายก็ได้ บางคนระแวงว่าคู่ครองมีชู้ ตามเฝ้าระวัง ใช้อาวุธทำร้ายคู่ครองก็พบได้
2. อาการประสาทหลอน (Hallucination) ที่พบบ่อยๆ จะเป็นประสาทหลอนทางหู มีหูแว่ว มีเสียงมาเข้าหูโดยไม่มีคนพูดจริง ๆ อาจเป็นเสียงวิจารณ์ หรือเสียงประหลาด ๆ หรือสั่งให้ทำพฤติกรรมต่าง ๆ บางคนได้ยินเสียงของความคิดของตนเอง บางทีเป็นเสียงถกเถียงกันหรือวิจารณ์ผู้ป่วยเกี่ยวกับความคิดหรือพฤติกรรมต่าง ๆ ของเขา
บางคนมีประสาทหลอนทางตา เช่น เห็นภาพต่าง ๆ แปลก ๆ โดยไม่มีต้นตอ
3. พูดแปลก ๆ เช่น พูดโดยไม่เชื่อมโยงกัน ไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่น ๆ ได้ตามปกติ พูดอย่างหนึ่ง คิดอย่างหนึ่ง และทำอย่างหนึ่ง หรือพูดออกไปโดยไม่มีความหมาย ไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความเป็นจริง พูดอ้อมค้อมไม่ตรงเป้าหมาย ถามอย่างหนึ่งตอบอย่างหนึ่งไม่ตรงคำถาม
4. พฤติกรรมแปลก ๆ เช่น มีการแสดงท่าทางและการแต่งกายแปลก ๆ ที่ไม่เหมาะสม เช่น พูดคนเดียว หัวเราะคนเดียว เดินเปลือยกาย หรือถ่ายปัสสาวะโดยไม่อายใคร ตะโกนโหวกเหวกไร้ความหมาย
หรือมีพฤติกรรมที่ตรงข้ามกับที่กล่าวมาแล้ว เช่น เฉยชา ไม่พูด ไม่สบตาคน ไม่กิน ไม่ทำอะไร แต่นั่งเฉย ๆ ตาลอย อารมณ์เรียบเฉยมาก ขาดความกระตือรือร้น ไม่สนใจตัวเองและสิ่งแวดล้อม บางคนจะหนีจากสังคม กว่าจะตามตัวพบปรากฏว่าผอมโซ สกปรก พูดจาไม่รู้เรื่องแล้ว
พฤติกรรมแปลก ๆ นี้ รวมถึงการเสื่อมถอยในเรื่องการเข้าสังคม การทำงาน หรือการดูแลสุขภาพตัวเองด้วย
5. อารมณ์แปลก ๆ คือมีการแสดงอารมณ์ไม่สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง เช่น กำลังคุยเรื่องสนุก แต่ร้องไห้ หรือคุยเรื่องเศร้า แต่หัวเราะ หรือมีอารมณ์เฉยเงียบผิดปกตินาน ๆ
สาเหตุของโรคจิตเภทนี้ ยังไม่ทราบแน่นอน แต่มีความเชื่อกันว่ามาจากพันธุกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีในสมอง หรือมาจากปัจจัยทางครอบครัวและสังคมก็ได้ หรือมีบุคลิกภาพพื้นฐานที่อ่อนแอ ทำให้ปรับตัวลำบาก
การรักษานั้น จิตแพทย์จะต้องวิเคราะห์และแบ่งความรุนแรงของโรคนี้ให้ได้
ส่วนใหญ่ก็รักษาด้วยการให้ยาต้านโรคจิตหรือการใช้ไฟฟ้าช็อต และตามด้วยจิตบำบัด ครอบครัวบำบัด กลุ่มบำบัด และนิเวศน์บำบัด คือการช่วยจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับคนไข้
มีคนป่วยด้วยโรคจิตเภทนี้มากขึ้นทุกปี ผู้ป่วยมีทุกระดับชั้นของสังคม และทุกระดับชั้นของการศึกษา เป็นปัญหาและภาระแก่สังคมมาก จึงควรรู้จักดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดให้ดี
ฝากข่าวท้ายคอลัมน์
พบกับ...วิธีคิด ให้ชีวิตเป็นสุข พ็อคเก็ตบุ๊คเล่มใหม่ เขียนโดย ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ หนังสือเล่มนี้จะบอกวิธีคิดเกี่ยวกับสิ่งสำคัญในชีวิต เมื่ออ่านแล้วคุณจะมีวิธีคิดเกี่ยวกับชีวิตที่เหมาะสมมากขึ้น และมีความสุขได้มากขึ้น มีวางจำหน่ายแล้ววันนี้ ตามร้านขายหนังสือทั่วไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|