เลาะสเป็ก MBA 5 บ.ดัง ผ่านสายตาคนในคนนอก HR


ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

แกะสเป็กคน MBA จากผู้บริหารทั้ง HR และ Non-HR 5 องค์กรดัง เผยตลาดแรงงานใน 'CPF'โกอินเตอร์ทั้งภาคผลิต และขาย แต่คุณสมบัติต้องพร้อมทั้ง IQ EQ และ AQ ฟาก 'IBM' ไม่ล็อกเฉพาะวิศวกร เน้นดูฝีมือวิเคราะห์กับการจัดการ ขณะที่ 'เครือปูนฯ' ย้ำ 2 คำชัด "คนเก่งและดี" เท่านั้นที่มีสิทธิ์ ด้าน 'เซ็นทรัล' เฟ้นคนวิเคราะห์เข้าเป้า เอาไว้ผุดโครงการห้าง ปิดท้ายด้วย 'ไทยธนาคาร' เปิด 2 สายพันธุ์ให้เลือกลุย อยู่ทัพหน้าหรือหลังบ้านก็ได้

ทินกร เรือนทิพย์
รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านทรัพยากรบุคคล
กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)

ธุรกิจของ CPF เป็นธุรกิจด้านการเกษตรและอาหารที่ครบวงจร ผลิตอาหารจากทั้งสัตว์บก และสัตว์น้ำ ซึ่งธุรกิจ CPF นั้นทำตั้งแต่ผลิตอาหารสัตว์ เพาะพันธุ์สัตว์ แปรรูปอาหารทั้งแบบเนื้อสด และเนื้อปรุงสุก โดยมีเป้าหมายยอดขายที่ประมาณ 120,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน CPF มีฐานการผลิตทั้งใน และต่างประเทศ กระจายอยู่ 8 ประเทศ เช่น ตุรกี จีน เวียดนาม มาเลเซีย พม่า มี Trade Office ใน 20 ประเทศทั่วโลก ถ้าจบวิศวะแล้วต่อเอ็มบีเอ อาจทำงานส่วนวางแผนการผลิต ถ้าจบขายแล้วต่อเอ็มบีเอ ก็ทำ feasibility study เป็นต้น ด้วยวิสัยทัศน์ของธุรกิจที่ต้องการเป็นครัวของโลก จึงมีแนวโน้มที่จะขยายทั้งฐานการผลิต และการขายเพิ่มขึ้น ซึ่งนี่เป็นปัจจัยสะท้อนว่า CPF ต้องการคนจบเอ็มบีเอมากขึ้น

โดยทั่วไป คนจบเอ็มบีเอ จะมีความรู้ทั้งด้านการผลิต การเงิน การตลาด และการขาย ซึ่งในทัศนะ CPF ถือเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ต้องมี แต่การรับคนเข้าทำงาน CPF มองปัจจัยอื่นมากกว่านั้น ทั้งเรื่องค่านิยม ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ทักษะการวิเคราะห์ ความมีวิสัยทัศน์ และสามารถที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากสถาบันการศึกษาจะให้ได้

ดังนั้นนักศึกษาต้องฝึกที่จะหาประสบการณ์ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติข้างต้นให้กับตนเองด้วย อยากให้ไปเปิด Harvard Business Review ฉบับเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายงานเรื่อง How Business Schools Lost Their Way เพื่อศึกษาว่าตนเองน่าจะขาดอะไร แล้วจะเติมได้อย่างไร

นอกจากนี้ ในกระบวนการคัดเลือกคนเข้าทำงาน CPF จะพิจารณาทั้ง IQ EQ และ AQ ซึ่งหลังจากรับคนเข้าทำงานแล้วจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ Good People และ Talent ที่มีศักยภาพจะก้าวเป็นผู้บริหารระดับสูงได้ใน 10 ปี ทั้งนี้ ผู้ที่จะเป็น Talent ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคนมากกว่า

ธวัชชัย ชีวานนท์
รองกรรมการผู้จัดการ
ฝ่ายธุรกิจการเงินและการธนาคาร
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด

แต่ก่อนเวลาพูดถึง IBM จะคิดถึงเมนเฟรม ซึ่ง BM เติบโตมาจากธุรกิจที่เป็น Enterprise บุคลากรในอดีตจึงรับคนจบวิศวะเป็นหลัก เพื่อให้บริการลูกค้า แต่ระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา หมดยุคของเมนเฟรมแล้ว IBM ต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยี ดูแลลูกค้าตามประเภทธุรกิจ จึงไม่สามารถพึ่งวิศวะอย่างเดียว เพราะเขาไม่สามารถสื่อสารธุรกิจกับลูกค้าได้ วิศวกรจึงเรียนต่อเอ็มบีเอมากขึ้น

เอ็มบีเอแตกต่างจากหลักสูตรระดับปริญญาตรี ที่เน้นเรียนจากตำรา แต่จะเรียนจากกรณีศึกษา โมเดลธุรกิจต่างๆ ศึกษาความผิดพลาดขององค์กรชั้นนำทั่วโลก ซึ่งในต่างประเทศผู้จะเรียนเอ็มบีเอ ต้องมีประสบการณ์การทำงานด้วย เพราะจะเน้นพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์ให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ การเรียนเอ็มบีเอจะช่วยสร้าง 1. ความสามารถในการวิเคราะห์ พร้อมฝึกการแก้ปัญหา และ 2. ความสามารถในการจัดการ ซึ่งทั้ง 2 คุณสมบัตินี้จำเป็นสำหรับผู้บริหาร อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ที่เคยสัมภาษณ์คนจบเอ็มบีเอ ใช่ว่าจบแล้วจะทำงานได้ดี แต่ขึ้นอยู่กับตัวเอง ทั้งเรื่องความจริงใจ ความตั้งใจ และมุ่งมั่นในการทำงาน ซึ่งวุฒิการศึกษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

สำหรับผู้ที่จบวิศวะ ไม่จำเป็นต้องเรียนเอ็มบีเอเท่านั้น ขึ้นอยู่กับการวางแผนอนาคตของตนเอง ถ้าต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เติบโตในสายงานเทคนิค จะเรียนต่อวิศวะก็ได้ แต่ถ้าอยากทำงานสายบริหาร ก็อาจเลือกเรียนเอ็มบีเอ ซึ่งล้วนมีโอกาสก้าวหน้าเหมือนกัน ที่ผ่านมากรรมการผู้จัดการของไอบีเอ็มมีทั้งคนที่จบด้านเอ็มบีเอ และจบด้านวิศวกรรม

เกียรติศักดิ์ สำเภาเงิน
ผู้จัดการ
ประจำสำนักงานการบุคคลกลาง
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

จริงๆ แล้วบุคลากรในเครือซิเมนต์ไทยที่มีประมาณ 5,000 คนนั้น จบเอ็มบีเอเพียง 200 คน ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในระดับผู้บริหาร ระดับรองฝ่ายบริหารที่ต้องทำงานวิเคราะห์ และงานวางแผน นอกจากนี้ก็มีงานการตลาด และขายต่างประเทศ และงานด้านการเงิน

โอกาสเติบโตของคนเอ็มบีเอสำหรับเครือปูนฯ จริงๆ แล้วพิจารณาคนที่ความเป็นคนเก่ง และคนดีมากกว่า 'คนเก่ง' ต้องมี 4 เก่ง คือ 1. เก่งงาน ทำงานแล้วประสบความสำเร็จ มีผลงานให้เห็น 2. เก่งคน สามารถทำงานเป็นทีมได้ 3. เก่งคิด มีทั้งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ และคิดที่จะปรับปรุงงานตลอดเวลา และ 4. เก่งเรียน มีความใฝ่รู้ รักที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา ขณะที่ 'คนดี' คือ มีลักษณะ 10 อย่าง เหมือนในหนังสือหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม

ทั้งนี้ จะเห็นว่า คนเก่ง คนดี ไม่เกี่ยวกับวุฒิการศึกษา ความรู้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการต่อยอดได้ดีขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างปีนี้เครือปูนจะเปลี่ยนผู้บริหารชุดเก่า จาก 8 คนเปลี่ยนถึง 6 คน ซึ่งมีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่จบเอ็มบีเอ และครึ่งหนึ่งจบในประเทศไทย ส่วนอีกครึ่งจบจากต่างประเทศ เครือปูนฯ มองความสามารถในการขวนขวายความรู้มากกว่า

อดีตอาจเคยได้ยินคนพูดว่าถ้าไม่ทุจริตก็อยู่เครือปูนฯ ได้จนตัวตาย แต่วันนี้ถ้าไม่มีความสามารถ ไม่มีผลงาน คงอยู่ไม่ถึงเกษียณ ดังนั้นถ้าจะเป็นคนปูนฯ ต้องไม่ยึดติด และรู้จักพัฒนาตนเองเรื่องการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าตลอดเวลา

ณัฐนนท์ ไชยจักร์
ผู้จัดการ
ศูนย์คัดเลือกและสรรหาบุคลากร
บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)

จริงๆ แล้ว เซ็นทรัลเพิ่งจะมาโฟกัสบุคลากรที่จบเอ็มบีเอไม่นานนี้เอง ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากสภาพแวดล้อมการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกที่มีสูงขึ้น แตกต่างจากอดีตที่มีคู่แข่งน้อยมาก แต่วันนี้มีทั้งจากต่างชาติ ทั้งห้างท้องถิ่น และบางกลุ่มที่แม้จะไม่ใช่ลักษณะธุรกิจที่เหมือนกันทีเดียว แต่ก็เรียกว่าสามารถดึงจำนวนคนช็อปปิ้งให้ลดลงได้ เช่น โรงภาพยนตร์ที่เริ่มจะขยายเป็นพลาซ่ามากขึ้น ร้านสะดวกซื้อ ที่คนอาจจะนิยมมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางยุคน้ำมันแพงนี้

นอกจากนี้ ความต้องการของลูกค้าที่มีลักษณะเฉพาะมากขึ้น ทำให้แตกเซกเมนต์ในการเจาะกลุ่มมากกว่าอดีต เซ็นทรัลจึงต้องการบุคลากรส่วนวางแผนธุรกิจมากขึ้น

ทั้งนี้ ในเซ็นทรัล มีบุคลากรหลายระดับ ตั้งแต่ 1. พนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน พนักงานขาย พนักงานเก็บเงิน 2. พนักงานฝ่ายการตลาด ที่ดูแลทั้งด้านลูกค้าสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย มีทั้งกิจกรรมลดราคา กิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์ กิจกรรมเพิ่ม Traffic กระตุ้นให้คนเข้าห้าง เพื่อผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่รู้สึกมั่นใจกับห้างด้วย ซึ่งกิจกรรมนี้ แต่ก่อนไม่ค่อยคิด แต่วันนี้ต้องคิดมากขึ้น

3. งานซ่อมบำรุง ที่จะดูแลให้ห้างดูทันสมัยตลอดเวลา 4. งานวิศวกร ที่ดูแลด้านที่ดิน การออกแบบก่อสร้างห้าง และ 5. งานพัฒนาธุรกิจ ที่ดูตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นก่อสร้างห้าง โดยไปศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง คาดการณ์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การออกแบบ การหาแม่เหล็กที่จะดึงดูดลูกค้าเข้าห้าง ซึ่งงานกลุ่มนี้ เซ็นทรัลต้องการคนจบเอ็มบีเอมากขึ้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นธุรกิจบริการ จะเฟ้นคนที่มีทักษะสื่อสารและเจรจาต่อรองมาก

พงษ์สุรีย์ บุนนาค
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่
ธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน)

งานของไทยธนาคาร แบ่งตามลักษณะ Function งานได้ 2 ลักษณะ คือ 1. งานให้บริการลูกค้า ซึ่งแบ่งเป็น กลุ่มลูกค้าองค์กรเอกชน กลุ่มลูกค้าสถาบัน ที่มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ กองทุนต่างๆ รวมถึงมูลนิธิ และกลุ่ม Retail Banking 2. งาน Back Office ที่มีหน้าที่สนับสนุนให้งานต่างๆ ดำเนินไปได้ด้วยดี มีทั้งงานระดับปฏิบัติการ งานวางแผน การเงิน ไอที ตรวจสอบกำกับ กฎหมาย บริหารทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น

องค์ความรู้ของคนจบเอ็มบีเอ ถ้าจะทำงานใน Function งานแรก ก็ต้องเน้นทักษะการวิเคราะห์ วิจัย งานการตลาด การขาย พัฒนาผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์ธุรกิจ บริหารความเสี่ยง แต่ถ้าทำงานใน Function งานที่ 2 ก็เน้นงานวางแผน งานควบคุมคุณภาพ บริหารคน บริหารความเสี่ยง

อย่างไรก็ดี คนจบเอ็มบีเอในวันนนี้ไม่เหมือนกับในอดีตเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ที่เอ็มบีเอยังเป็นของใหม่ ส่วนใหญ่จบมาจากอเมริกาและยุโรป ธุรกิจพร้อมที่จะรับความเสี่ยง ยอมจ่ายเงินเดือนสูงๆ ให้แม้ไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อนก็ตาม แต่วันนี้คนจบเอ็มบีเอมีมากขึ้น จากทั้งในและต่างประเทศ นายจ้างจึงมีทางเลือกมากขึ้น และพิจารณาที่คุณสมบัติส่วนบุคคลด้านอื่นๆ มากกว่าทั้งความสามารถในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการวิเคราะห์ วิจัย การใช้เครื่องมือสำนักงานต่างๆ ดังนั้นวุฒิเอ็มบีเอจึงเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น แต่จะได้งานดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนตัวของคนมากกว่า

เรียบเรียงจาก งานสัมมนา Business Forum หัวข้อ "จริงหรือ? ได้งานดีต้องจบ MBA (Will an MBA get me a better job)" จัดโดย ธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ที่โรงแรมอโนมา เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.