ลาดกระบัง/วัดศรีฯ แจ๊ตพอต!เวนคืนเพิ่ม4พันไร่


ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

*ระบุพื้นที่ลาดกระบัง วัดศรีวารีน้อย แจ็คพอตโดนเวนคืนเพิ่ม 4,000 ไร่ ใน 15 ปี
*เตือนเจ้าของที่ดิน ไม่ควรปลูกสร้างอาคารถาวร เพราะอาจอยู่ในแนวเวนคืน
*ดีเดย์ 26 ก.ย.นี้ นายกฯทักษิณ ชินวัตร ชี้ขาดใช้ผังเมืองเฉพาะ หรือปรับปรุงผังเมืองสมุทรปราการ

สนามบินสุวรรณภูมิที่กำลังจะเปิดให้บริการเที่ยวบินปฐมฤกษ์ เที่ยวบินแรก ในวันที่ 29 ก.ย.นี้ ยังมีปัญหาคาราคาซังอีกหลายอย่างที่รอการแก้ไข อาทิ ปัญหามลพิษทางเสียง ทางอากาศ แนวรันเวย์ และล่าสุด การเวนคืนที่ดิน ที่มีแนวโน้มที่จะต้องเวนคืนที่ดินรอบ ๆ นครสุวรรณภูมิอีกราว 4,000 ไร่ ในอนาคต

สุวัฒน์ วาณีสุบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการบริหารพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) เปิดเผยว่า การพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบ ๆ สนามบินสุวรรณภูมิจะต้องมีการตั้งบรรษัทพัฒนาเมืองขึ้นมาดำเนินการเพื่อให้เกิดความคล่องตัว

นอกจากนี้การพัฒนาเมืองควรจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้การใช้ประโยชน์ในพื้นที่มีความลงตัว และสวยงาม รวมถึงไม่ให้เกิดปัญหาตามมา โดยจะต้องมีการเวนคืนที่ดินเพิ่มในอนาคตอีก 4,000 ไร่

สำหรับพื้นที่ที่อยู่ในแนวเวนคืน เป็นพื้นที่บริเวณฝั่งตะวันออกของสนามบินช่วงระหว่างลาดกระบัง-วัดศรีวารีน้อย ซึ่งในอนาคตจะมีการออกกฎหมายควบคุมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวไม่ให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ดังนั้น ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวจึงไม่ควรปลูกสร้างอาคารขนาดใหญ่หรือสิ่งปลูกสร้างถาวร หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะกับการใช้ประโยชน์ของสนามบิน เพราะในอีก 15 ปีข้างหน้าภาครัฐต้องเวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าว เพื่อใช้ก่อสร้างรันเวย์ที่ 5 รองรับการขยายตัวของสนามบิน

เสนอ“แม้ว”ชี้ขาด

ส่วนความคืบหน้าการจัดทำผังเมืองสุวรรณภูมินั้น สว่าง ศรีศกุน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมฯเตรียมนำเสนอผลการศึกษาขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการทำผังเมืองเฉพาะสุวรรณภูมิต่อคณะกรรมการบริหารสนามบิน ซึ่งมีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยจะเสนอ 2 แนวทางในวันที่ 26 ก.ย.นี้ ได้แก่ การออกผังเมืองเฉพาะ และประกาศปรับปรุงผังเมืองสมุทรปราการใหม่ เพื่อสนับสนุนพื้นที่รอบสนามบินเป็นนครแห่งการบิน

กรมฯ เห็นว่าควรประกาศเป็นผังเมืองเฉพาะ เนื่องจากสามารถควบคุมการขยายตัวของพื้นที่ และจัดทำรูปแบบผังเมืองให้มีความสวยงามและมีประสิทธิภาพมากกว่าการปรับผังเมืองใหม่ ซึ่งหากประกาศเป็นผังเมืองเฉพาะจะทำให้เกิดความล่าช้า เพราะต้องใช้ขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอย่างน้อยอีก 1 ปีจึงจะมีผลบังคับใช้ โดยในช่วงที่ยังไม่มีการประกาศใช้ผังดังกล่าวสามารถนำผังเมืองสมุทรปราการมาใช้แทนได้

“เป็นการเสนอผลการศึกษาให้รัฐตัดสินใจ ถ้ารัฐไม่เห็นด้วยจะต้องมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาแก้ไข และเชิญชวนประชาชนมาร่วมแสดงความคิดเห็น จากนั้นจะต้องผ่านความเห็นจากบอร์ดผังเมือง ผ่านกระบวนการกฤษฎีกา ส่ง 2 สภา และถวายลงราชกิจจานุเบกษา แล้วจึงจะประกาศใช้ได้”

ระบบขนส่งพร้อมเชื่อมสุวรรณภูมิ

ด้านจตุพร สุวรรณปากแพรก นักวิชาการขนส่ง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงแผนดำเนินการโครงข่ายระบบจราจรและขนส่งเพื่อพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบินว่า จะมีระบบทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน หรือ Airport Rail Link สายพญาไท-สุวรรณภูมิ ก่อสร้างตามแนวเส้นทางรถไฟสายตะวันออก รวมระยะทาง 28 กม. ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ทำการออกแบบและก่อสร้าง เป็นรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนวิ่งเข้าสู่อาคารผู้โดยสาร หรือรถไฟฟ้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

โดยมีสถานีรถไฟฟ้าใต้อาคารผู้โดยสาร ประกอบด้วย 8 สถานี ได้แก่ พญาไท ราชปรารภ มักกะสัน/อโศก รามคำแหง หัวหมาก บ้านทับช้าง ลาดกระบัง และสุวรรณภูมิ ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 30 นาที

นอกจากนั้นยังมี รถไฟฟ้าด่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เริ่มที่สถานีมักกะสัน/อโศก ถึงสุวรรณภูมิ ระยะทาง 25 กม. ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 15 นาที และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองตั้งอยู่รวมกับสถานีมักกะสัน/อโศก ซึ่งผู้โดยสารสามารถที่จะเลือก Check-in บัตรโดยสารเครื่องบินและสัมภาระล่วงหน้า

สำหรับระบบการคมนาคมที่เชื่อมเส้นทางเข้าสู่ท่าอากาศยาน ประกอบด้วย ถนนยกระดับและถนนที่เชื่อมเส้นทางเข้าสู่ท่าอากาศยานจาก 5 ทิศทาง ได้แก่ ทิศเหนือ เป็นถนนยกระดับขนาด 8 ช่องจราจร จากถนนกรุงเทพ – ชลบุรีสายใหม่ เข้าสู่อาคารผู้โดยสาร ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นถนนขนาด 6 ช่อง เชื่อมกับทางยกระดับจากถนนร่มเกล้าและถนนกิ่งแก้ว ทิศใต้ เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมกับถนนบางนา – ตราด และทางด่วนบูรพาวิถี ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมกับถนนอ่อนนุช และทิศตะวันตก เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมกับถนนกิ่งแก้ว

ขณะที่โครงข่ายทางหลวง ประกอบด้วย
1.โครงการรัชดาภิเษก-รามอินทรา ตอนแยกทางหลวง 351 – บรรจบทางหลวง 304 (รามอินทรา)
2.โครงการเชื่อมต่อสุขาภิบาล 1 - วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก
3.โครงการถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ ตอน สุขสวัสดิ์ – บางพลี
4.โครงการขยายถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ตอน ธัญบุรี - บางพลี
5.สายมีนบุรี-ลาดกระบัง
6.โครงการท่าอากาศยานฯ –ชลบุรี
7.โครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 34 8.โครงการสาย 3256 แยกทางหลวง 34(บางนา-ตราด) - บรรจบทางหลวง 3268 (เทพารักษ์)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.