|

3 บิ๊ก 'Black Canyon' ฟันธง 'ธุรกิจกาแฟขาลง'
ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ในบรรดาธุรกิจแฟรนไชส์ ปฎิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจกาแฟ จัดเป็นเซ็คเม้นท์ที่มีการเข้าลงทุนอยู่ในอับดับต้นๆ มีอัตราการเติบโตตลอดช่วงระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา จากการขยายสาขาลงทุนอยู่ทุกมุมเมือง แต่ ณ วันนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์กาแฟ ยังเป็นธุรกิจที่ยังน่าสนใจอยู่หรือไม่ โอกาสการเติบโตของธุรกิจเป็นอย่างไร
'แบล็คแคนยอน' ธุรกิจกาแฟสัญชาติ ปัจจุบันดำเนินธุรกิจสู่ปีที่ 12 โดยผู้บริหารทั้ง 3 ท่าน ได้ฉายภาพรวมธุรกิจกาแฟกับ 'ผู้จัดการรายสัปดาห์' ไว้อย่างน่าสน
ซึ่ง ประวิทย์ จิตนราพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด อภิรัตน์ สัจจานิตย์ ผู้จัดการทั่วไปและกรรณิการ์ ชินประสิทธิ์ชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ต่างมองในทิศทางเดียวกันว่าเข้าสู่ภาวะธุรกิจกาแฟขาลง และในอนาคตจะเหลือเพียง 5 แบรนด์เท่านั้น
ประวิทย์ กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจกาแฟ ณ ปัจจุบัน ว่า อัตราการเติบโตจะไม่ก้าวหน้าเหมือนที่ผ่านมา คาดจะเหลือแบรนด์ในตลาดไม่เกิน 5 แบรนด์เท่านั้น ส่วนอีก 50-60 แบรนด์จะล้มหายตายจาก ที่เหลืออยู่อาจจะอยู่ได้แต่ไม่โต เพราะต้องแข่งขันกันสูงและเกิดการปรับตัวด้านการบริหาร ผลิตภัณฑ์ การตกแต่งสถานที่และการวางแผนด้านการเงิน
และสิ่งสำคัญทำเลที่ตั้ง เจ้าของพื้นที่จะเลือกแบรนด์รายใหญ่มากกว่า เพราะมั่นใจในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย มีความพร้อมด้านการเงินที่ไม่เป็นปัญหาและรักษามาตรฐานเชิดหน้าชูตาให้กับเจ้าของพื้นที่ได้ ขณะเดียวกันศูนย์การค้าได้ปรับราคาค่าเช่าสูงขึ้น ประกอบกับศูนย์การค้าใหม่ๆ ไม่มีเกิดขึ้นทำให้การหาทำเลในศูนย์การค้ายากขึ้น หรือศูนย์ค้าส่งพื้นที่จำกัด และกฎหมายผังเมือง ทำให้ร้านแต่ละแห่งไม่สามารถเปิดศูนย์ใหญ่ได้เหมือนเดิมถูกจำกัดขนาด
ซึ่ง ประวิทย์ วิเคราะห์จุดอ่อนของธุรกิจกาแฟโดยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือแบรด์เนมและไม่มีแบรนด์ ซึ่งมีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกัน ที่ผ่านมาแบรด์เนมจะมีมาตรฐานการลงทุน ทำเลเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนไม่มีแบรนด์เปิดที่ไหนก็ได้ วันหนึ่งขาย 20-30 แก้ว เจ้าขอมายืนขายเอง ก็สามารถอยู่รอดได้
แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นว่า ธุรกิจกาแฟไม่ได้ทำง่ายอย่างที่คิดแนวโน้มเริ่มตก ส่วนแบรนด์ที่อยู่รอดล้วนเป็นแบรนด์ที่มีสายป่านยาวทั้งสิ้น เป็นแบรนด์ที่มีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 10 ปี ส่วนใหญ่มีธุรกิจกาแฟมาก่อน รุ่นลูกได้พัฒนาสู่ระบบแฟรนไชส์ทำให้อยู่รอดมาได้ และหลายรายนำเข้าเครื่องชงกาแฟมาเองทำให้ต้นทุนต่ำกว่ารายอื่นและขายส่งเครื่องทำกาแฟด้วย ซึ่งคนซื้อก็จะซื้อเครื่องในราคาแพงมาร์จิ้นไม่ได้มากอย่างที่คิดไว้
จุดหลักที่มองว่าผิดพลาด คือการวิเคราะห์ยอดขาย ขาดการคำนวณยอดขายที่จะลดลงช่วงเสาร์ อาทิตย์ กรณีทำเลใกล้สำนักงาน หรือพฤติกรรมคนไทยที่ไม่ดื่มกาแฟช่วงเย็น การจ้างงานอาจได้แรงงานไม่มีคุณภาพ การซ่อมบำรุงเครื่อง การขอใบอนุญาตภาษี
ซึ่งหากมองถึงความแตกต่างของแบล็คแคนยอน ประวิทย์ กล่าวว่า 12 ปีที่ทำธุรกิจกาแฟมาให้ความสำคัญกับทำเลในอันดับต้นๆ ทุกวันนี้ยังมีทำเลดีๆ ซ่อนอยู่ อยู่ที่ใครจะมองเป็นโอกาส เช่นโรงพยาบาล หรือปั๊มน้ำมันเจ็ท ที่มองว่าไม่น่าจะมีแบรนด์ที่สองได้แต่ลูกค้าคนละกลุ่มน่าจะเสริมกันได้ ปัจจุบันในปั๊มน้ำมันเจ็ทมีถึง 15 สาขาแล้ว เขามองว่า ทำเลในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ยังมีโอกาสและช่องว่างอีกมาก ยกตัวอย่างเชียงใหม่ที่มองกันว่าร้านกาแฟน่าจะมีได้ 1-2 สาขา เฉพาะแบล็คแคนยอนมีถึง10 สาขาแล้ว
"การมองหาทำเล เราถือว่าเป็นหนึ่งที่มองทำเลทะลุ อย่างสนามบิน เราก็ไปบุกเบิก สู้ราคาเต็มที่ ทำให้แบรนด์เราเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติมากขึ้น ยอมลงทุนกับพื้นที่ที่เหมาะสมเพราะ ทำเลที่เป็นรอง แม้จ่ายต้นทุนค่าเช่าต่ำกว่า แต่กลุ่มเป้าหมายก็จะลดน้อยลงไปด้วย
และการมีเงินทุนเพียงพอทำให้เราอยู่ได้นาน แม้ในช่วงต้นจะยอมขาดทุน1-2 ปีก็ทำได้ ในปีที่ 3 เราก็กำไร ถ้าเป็นรายย่อยทำไม่ได้" ประวิทย์กล่าว
กรรณิการ์ เสริมว่า การขยายสาขาเป็นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก จะขยายตามโลเคชั่นใหม่ๆ เช่น ศูนย์การค้าเปิดใหม่ ดิสเคาท์สโตร์ที่เติบโตมากในช่วงที่ผ่านมา หรือการขยายตัวการให้บริการใหม่รูปแบบเอนเตอร์เทรนเม้นท์คอมเพล็กซ์มองว่าทำเลเหล่านี้เป็นโอกาส
หรือศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สนามบินที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แม้ค่าเช่าที่จะสูงก็ตาม เพราะแบล็คแคนยอนไม่ใช่บริษัทท้องถิ่นแต่เป็นบริษัทที่เริ่มเป็นสากล จึงมีงบประชาสัมพันธ์ในการสื่อสาร ให้คนมีความมั่นใจ เพราะวันหนึ่งเมื่อแบรนด์ติดตลาดก็ใช้ประโยชน์ได้นาน
กรรณิการ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ขณะเดียวภาพลักษณ์หรือลุคของร้านปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย ที่ผ่านมาสไตล์คันทรี แต่ทิศทางตลาดเป็นเทรนดี้ จึงเปลี่ยนลุคของร้านให้ทันสมัยตั้งแต่โลโก้จากคาวบอยแก่ๆ ปรับเป็นหนุ่มทันสมัยทะมัดทะแมง รวมถึงการแต่งกายพนักงาน หรือการปรับเปลี่ยนเมนูเสมอๆ ให้ลูกค้าพึงพอใจในเมนู บางครั้งเป็นรายการเดิม แต่เปลี่ยนแปลงภาชนะที่ใส่ ให้ดูสวยงามขึ้น เช่น คาปูชิโน่ จะให้ทำลวดลายบนหน้าตากาแฟ เป็นลาเต้ อาร์ต ศิลปะบนฟองนม เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า
ประวิทย์ กล่าวว่า เป็นการเก็บข้อมูลจากกลุ่มลูกค้าและเดินทางดูเทรนด์ในต่างประเทศ "ซึ่งเราสร้างความแตกต่างกับธุรกิจกาแฟรายอื่นๆ คือ 1.ขายอาหารคู่กับกาแฟ 2.ยืดหยุ่นในการเจาะทำเลเป้าหมาย 3.ราคาเหมาะสมครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม"
นอกจากนี้ ด้านการดูแลคู้ค้าหรือแฟรนไชซี กรรณิการ์ กล่าวว่า การทำกิจกรรมการตลาด ดปรโมชั่น การพัฒนาโปรดักส์ใหม่ๆ เช่น เบเกอรี่มายเบรดด์ อย่างล่าสุดกาแฟสูตรเจ ฝึกอบรมบุคลากรเรียนรู้โปรดักส์ใหม่
"ผู้ที่จะมาซื้อแฟรนไชส์เหมือนคนที่จะมาแต่งงานกับเรา เพราะต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน และการที่ให้โอกาสเขาไม่ได้มองแค่ว่าอยากจะขายแค่แฟรนไชส์ แต่เอยากให้เขาประสบความสำเร็จ ถ้าเขาเดือดร้อนเราทุกข์กว่า ดังนั้นการคัดเลือกขายแฟรนไชส์ให้ใคร เราจะดูให้ดี เหมาะสมใหม่ทั้งคุณสมบัติเขาและโลเคชั่น" กรรณิการ์กล่าว
ประวิทย์ ยังได้กล่าวถึงเป้าหมายการขยายสาขาในอนาคตว่า ยังคงนโยบายลงทุนในพื้นที่ขนาดใหญ่และขนาดเล็กควบคู่กันไป แต่ปัจจุบันให้น้ำหนักที่พื้นที่ขนาดเล็ก เนื่องจากว่าโอกาสการหาทำเลในพื้นที่เล็กๆ หาได้ง่ายคืนทุนได้เร็วเงินลงทนไม่สูง สัดส่วนขยายตัวได้ดี ส่วนพื้นที่ขนาดใหญ่นั้น โอกาสเปิดยังมีอีกมากถ้ามีศูนย์การค้าใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่างไอทีสแควร์ เซ็นทรัลพระราม 9 เซ็นทรัลชลบุรี
ด้าน อภิรัตน์ ให้ข้อมูลจำนวนสาขาปัจจุบันในไทยว่ามี 120 สาขา สิ้นปี 2548 ตัวเลขจบที่ 130 สาขา ส่วนสาขาในต่างประเทศปัจจุบันมีที่ อินโดนีเซีย 3 สาขา สิงคโปร์ 1 มาเลเซีย 3 สาขาและดูไบ 1 สาขาและเล็งขยายไปยังเวียดนาม จีน
สำหรับรูปแบบการลงทุนนั้น ในกรุงเทพ ปริมณฑล บริษัทจะลงทุนเอง ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดและต่างประเทศจะเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ ส่วนนโยบายสาขาในต่างประเทศ เน้นการลงทุนแต่ละแห่ง โดยยังไม่พิจารณาเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ เพราะนักลงทุนต้องมีความพร้อมด้านเงินทุนค่อนข้างมาก รวมถึงความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์เทรนนิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประวิทย์ กล่าวถึงโอกาสการลงทุนธุรกิจกาแฟ ว่า ยังเป็นธุรกิจที่พอลงทุนได้ แต่ไม่สดใสเหมือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันธุรกิจกาแฟที่มีความมั่นคงแล้วไม่ต้องการขายแฟรนไชส์ ตรงกันข้ามกับรายที่ต้องการขายแฟรนไชส์ให้ได้มาก เพราะบ่งบอกถึงความไม่มั่นคงต้องการระดมทุนเข้ามา ด้วยปัจจัยการแข่งขันของธุรกิจกาแฟ ภาวะเศรษฐกิจทำให้นักลงทุนมีความเสี่ยงหากไม่พิจารณาแฟรนไชซอร์อย่างละเอียด และเงินที่จะนำมาลงทุนนั้นกู้ยืมมาหรือไม่ หากกู้ยืมมายังมีโอกาสไปลงในธุรกิจอื่นอาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น ธุรกิจความสวยความงาม ธุรกิจด้านบันเทิง ธุรกิจสอนภาษาหรือธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและให้บริการที่เกี่ยวข้อง
Key Success 'Black Canyon'
แบล็คแคนยอน ธุรกิจกาแฟสัญชาติไทย มีดำเนินธุรกิจมานานกว่า 12 ปี ท่ามกลางกระแสการแข่งขันของธุรกิจกาแฟทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ขยายสาขาการลงทุน แต่มีความน่าสนใจที่ว่า วันนี้ของแบล็คแคนยอนยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ ซึ่ง 'ประวิทย์' กล่าวถึง ความสำเร็จของแบล็คเกิดจากหลายองค์ประกอบได้แก่
1.เป็นรายแรกๆ ที่นำกาแฟคั่วบดมาทำตลาด ทำให้โปรดักส์ผ่านการพัฒนา บ่มเพาะมาพอสมควร และขึ้นชื่อของการเป็นผู้นำตลาดกาแฟคั่วบด
2.เป็นร้านกาแฟที่จำหน่ายอาหาร ซึ่งร้านกาแฟนั้นทำไม่ยาก แต่ร้านอาหารยากกว่า โดยเฉพาะการปรุงสดแต่ละสาขา ซึ่งเป็นความท้าทายและก้าวผ่านอุปสรรคมาได้
3.ปัจจัยความสำเร็จด้านทำเลที่เลือกเปิด ซึ่งกล่าวได้ว่าแบล็คแคนยอนมีสาขาที่ครอบคลุมพื้นที่ที่แตกต่างและหลากมากที่สุด ตั้งแต่ศูนย์การค้า ปั๊มน้ำมัน บ้านจัดสรร โรงพยาบาลและสะแตนอะโลนทำให้เข้าถึงผู้บริโภค
4.สร้างระบบงานรองรับ จัดทำเป็นคู่มือมาตรฐานทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งพัฒนาจากไม่มีพื้นฐานด้านอาหารและเครื่องดื่มเพราะใจชอบ แต่พอมาทำจริง ความชอบอย่างเดียวไม่พอจึงต้องสร้างระบบงานเข้ามารองรับ
5.การสร้างบุคลากรอย่างต่อเนื่องเริ่มต้นจาก 20 คนเป็น 1,000 คน มีการพัฒนาตลอด รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ด้านบัญชี การเงิน ควบคุมสินค้าคงคลัง การสั่งซื้อและงานแคชเชียร์ และเตรียมนำระบบออนไลน์มาใช้กับสาขาเพื่อลิง์สู่สำนักงานใหญ่
"เรายังอยู่ในช่วงสู่ความเป็นวัยรุ่นเราไม่ได้มองว่าเราโตเต็มที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่เราต้องเผชิญคือความท้าท้าทายสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่จะต้องมีความมั่นคง แล้วจะต้องมีบุคลิกภาพที่เหมาะสมทางด้านการตลาดเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น" ประวิทย์กล่าวสรุป
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|