แม้จะเกิดในตระกูลที่ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แต่ไชยันต์ ชาครกุล ก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าในบั้นปลายชีวิตเขา
จะต้องมาเป็น นักพัฒนาที่ดิน
เป้าหมายในชีวิตช่วงวัยหนุ่ม ไชยันต์ต้องการเป็นนายแบงก์
ไชยันต์เรียนจบปริญญาตรี สาขาบัญชี โดยได้รับเกียรตินิยมดี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความที่เป็นคนเรียนเก่ง ทำให้ธนาคารกรุงเทพมาชักชวน ให้เขาไปร่วมงานด้วยตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ
เขาเริ่มงานในธนาคารกรุงเทพในปี 2515 โดยทำงานอยู่ใน ฝ่ายสินเชื่อ และเจริญเติบโตตามสายงานเป็นลำดับ
ก่อนลาออก เขาเป็นพนักงานระดับ VP ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อ
เขาบอกกับคนใกล้ชิดเสมอว่าชอบงานแบงก์ เพราะมีโอกาสใกล้ชิด และศึกษาชีวิตของคนหลายประเภทที่เข้ามาติดต่อ
ขอสินเชื่อ พอร์ตสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพสมัยที่เขาดูแลอยู่มีวงเงินสูงระดับหมื่นล้านบาท
ช่วงที่อยู่ธนาคาร เขาไม่ค่อยได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจของครอบครัว
ปล่อยให้ทวีศักดิ์ วัชรรัคคาวงศ์ พี่ชายคนโต เป็น คนรับผิดชอบทั้งหมด
ไชยันต์เริ่มเข้ามามีบทบาท เมื่อบริษัทบ้านและที่ดินไทยค้างจ่ายค่ารับเหมาก่อสร้าง
กับกิจการของครอบครัวเขาเป็นเงินนับล้านบาทเมื่อ 20 ปีก่อน
"เขาจ่ายเช็คมากี่ใบๆ เด้งหมด สุดท้ายก็บอกว่า ที่ดินในโครงการสุขุมวิท
101 ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ราคามันสูงเกินหนี้ให้เรารับที่ดินแปลงนี้มา แต่ที่แปลงนี้ก็ติดจำนองอยู่กับบริษัทเงินทุนส่งเสริมเงินทุนไทย
ผมก็ต้องไปเจรจาเพื่อนำเงินใช้หนี้บริษัทเงินทุนส่งเสริมเงินทุนไทย และนำที่ดินแปลงนี้มาทำต่อ"
เมื่อเบนเข็มมาทำธุรกิจพัฒนาที่ดิน โดยจัดตั้งบริษัท ลลิลขึ้นมา ภาระรับผิดชอบช่วงแรกยังเป็นของพี่ชาย
แต่เขาก็เข้ามาช่วยดูแลใกล้ชิดขึ้น "วันจันทร์ถึงศุกร์ทำงานให้แบงก์ ถึงวันเสาร์ก็ต้องเข้ามาดูงานในบริษัท"
ทวีศักดิ์พี่ชายของเขาป่วยเป็นโรคเบาหวานเรื้อรัง หลังเปิดบริษัทมาได้เพียง
4 ปี สุขภาพก็ทรุดโทรมลง ไชยันต์จึงจำเป็นต้องลาออกจากธนาคารกรุงเทพ เพื่อเข้ามาบริหารงานแทน
"ตอนยื่นลาออก ทั้งคุณปิติ คุณเดชา คุณชาตรี เรียกเข้า ไปคุยถึง 3 รอบ
แต่ผมก็บอกว่าพี่ผมสุขภาพไม่ไหวแล้วต้องออก มาช่วย"
เขาเข้ามาบริหารลลิลเต็มตัวในปี 2535 ซึ่งเป็นช่วงที่ดัชนีราคาหุ้นกำลังไต่ระดับเพื่อขึ้นไปถึงเป้าหมาย
1,000 จุด แต่เขาก็ปฏิเสธที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นในช่วงนั้น
ไชยันต์ใช้ชีวิตนายแบงก์มานาน เวลาที่เขาคิดจะทำอะไร แต่ละครั้ง จึงใช้ความระมัดระวังค่อนข้างสูง
"ราคาที่ดินตอนนั้น แพงมาก เพราะมันไปอยู่ในมือนักเก็งกำไรกันหมด ถ้าผมจะระดม
เงินเพื่อมาทำโครงการโดยต้องซื้อที่แพงอย่างนั้นมันเสี่ยงเกินไป"
ตลอด 10 ปีในการบริหารงานในลลิล ไชยันต์พยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้การทำงานภายในเป็นแบบมืออาชีพ
คนในครอบครัวเขาไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการ พนักงานส่วนใหญ่ใช้วิธีประกาศรับสมัครตามหน้าหนังสือพิมพ์
เขาเป็นคนที่ให้ความสำคัญยิ่งกับการพัฒนาบุคลากร ช่วง ที่เกิดวิกฤติ ซึ่งกิจกรรมของบริษัทลดน้อยลง
เขาไม่มีนโยบายปลดพนักงาน ในทางตรงกันข้ามกลับส่งเสริมโดยให้ทุนพนักงาน ระดับบริหารไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท
อย่างไรก็ตาม ความที่เป็นบริษัทที่อยู่นอกตลาด ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการถูกมองจากสายตาคนทั่วไปได้ว่า
ลลิลยังเป็นธุรกิจครอบครัว
เมื่อสถานการณ์ของตลาดหุ้นเปลี่ยนแปลงไป เขาจึงมองว่าขณะนี้เป็นโอกาสดีที่จะสร้างความมั่นใจให้กับพนักงาน
เขาจึงตัดสินใจนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น
แน่นอนที่สุด หุ้นจำนวนหนึ่งจะต้องถูกกระจายขายให้กับพนักงานในราคาที่จูงใจ
เพื่อเพิ่มความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของลลิล พร็อพเพอร์ตี้