ไอทีวี กับการก่อเกิดช่องข่าวของเนชั่นในยูบีซี


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

หากไม่มีอะไรผิดพลาด อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ไอทีวีจะก้าวไปสู่การเป็นบริษัท (มหาชน) ที่จะเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนั่นจะเป็นการระดมทุนครั้งใหญ่ของไอทีวี ที่จะมีเม็ดเงินเข้าเป็นเรื่องเป็นราว หลังจาก ที่ไอทีวีต้องประสบปัญหาขาดทุนมามากกว่า 3 ปีเต็ม จากการเป็นสถานีข่าว ที่ประสบความสำเร็จในด้านชื่อเสียง แต่ไม่สำเร็จในเรื่องรายได้

และนี่ก็คือ ชนวนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเนชั่น และแบงก์ไทยพาณิชย์ ที่เป็นทั้งผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเจ้าหนี้รายเดียวของไอทีวี ที่ระเบิดขึ้นมาเมื่อกลางปีที่แล้ว และตกเป็นข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์เกือบตลอดอาทิตย์

เมื่อแบงก์ไทยพาณิชย์เพิ่งมาพบว่าเนชั่นเป็น 1 ในผู้ถือหุ้นรายเดียวในจำนวน 13 รายที่ได้รับประโยชน์จากไอทีวี ได้ภาพความยิ่งใหญ่ ที่ประเมินค่าไม่ได้จากไอทีวี ได้ทั้งภาพความน่าเกรงขาม และอิทธิพลของความ เป็นสื่อโทรทัศน์ไอทีวี ไปอย่างมากมาย การได้รับสิทธิพิเศษจากการได้ สัมภาษณ์บุคคลสำคัญๆ ในขณะที่สื่ออื่นๆ หรือเนชั่นเองก็ไม่ได้สิทธิ์เหล่านี้ และอานิสงส์นี้ยังแผ่ไปถึง "เนชั่นนิวส์ทอล์ก" รายการคู่บุญของเนชั่น และยังรวมไปถึงสื่อต่างๆ ของเนชั่น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ บริการออนไลน์

ในขณะที่ผู้ถือหุ้น ที่เหลืออยู่กลับไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ตอบแทนจากการลงทุนแม้แต่น้อย ! ถึงแม้ว่าภายหลังจากการระเบิดอารมณ์ของสุทธิชัย หยุ่น ที่เกิดขึ้นใน ห้องประชุมฝ่ายข่าวของไอทีวี ในช่วงเย็นของวันที่ 28 พฤษภาคม ท่ามกลางสื่อมวลชนหลายสิบฉบับเป็นเวลาถึง 3 ชั่วโมงเต็มที่ไม่พอใจกับการที่ประกิต ประทีปะเสน ที่แบงก์ไทยพาณิชย์ส่งมาแก้ปัญหาขาดทุนในไอทีวีต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารใหม่ ลดบทบาทของเนชั่นในไอทีวีลง และต้องการเพิ่มเนื้อหาบันเทิงเพิ่มขึ้นจะสงบลงในเพียงวันเดียว

ไม่มีใครเชื่อว่าภายใต้ภาพของการจับมือกันระหว่างสุทธิชัย หยุ่น และ ประกิต ประทีปะเสน ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส จะเป็นการสงบศึกลงอย่างถาวร เพราะการบรรลุข้อตกลงในวันนั้น เท่ากับว่า "เนชั่น" ไม่ได้อะไรเลยจากข้อเสนอ ที่สุทธิชัย หยุ่น ยื่นให้กับแบงก์ไทยพาณิชย์

แต่สำหรับประกิตแล้ว บรรลุเป้าหมายแรกในการดึง "เนชั่น" ลงมาจากอำนาจการบริหารขึ้นไปเป็น 1 ในบอร์ดใหญ่ เหมือนกับผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ รูปแบบรายการก็มีการเพิ่มเนื้อหาทางด้านบันเทิงมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้จากโฆษณา

ปัญหา ที่เกิดขึ้นในไอทีวียังได้กลายเป็นจุดที่ก่อกำเนิดช่องข่าว 24 ชั่วโมงในยูบีซี เคเบิลทีวี เมื่อสุทธิชัย บรรลุข้อตกลง ที่จะเหมาช่องของยูบีซีไปผลิตข่าว เวลานี้เนชั่นได้ฟอร์มทีมงานขึ้นมาแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ค่ายต่างๆ ที่มีจุดเริ่มคล้ายคลึงกับไอทีวีเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ถึงแม้ว่าสุทธิชัย หยุ่น จะรู้ดีว่ามันเป็น conflict of interest โดยตรงต่อไอทีวี ที่เขาเป็นหุ้นส่วนอยู่ 20% ในเวลา นี้แต่เป็นหนทางเดียว ที่สุทธิชัย เนชั่น ครอบครองสื่อในมือได้อย่างครบถ้วน ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต และทีวี ที่จะสร้างพลังทางธุรกิจให้กับเนชั่น ได้อย่างครบถ้วน ตามชื่อของบริษัทเนชั่นมัลติมีเดีย

แต่สุทธิชัย หยุ่น จะแน่ใจได้อย่างไรว่า ยูบีซี ที่เป็น 1 ช่องในเคเบิลทีวี ที่มีฐานลูกค้าอยู่จำนวนหนึ่ง และเป็นเพียงแค่ผู้ผลิตไม่ใช่เจ้าของสถานี จะสร้างพลังให้กับเนชั่นได้เหมือน กับการครอบครองฟรีทีวี แต่ใช่ว่าสถานีทุกช่องจะเข้าไปเป็นเจ้าของได้ โดยเฉพาะช่อง 3, 5, 7 และ 9 ที่ครอบครองโดยหน่วยงานรัฐ และเอกชน ที่ผูกขาดสัมปทานอีกหลายสิบปี มีเพียงไอทีวีเท่านั้น หากมีเงินมากพอ ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าสุทธิชัย หยุ่น จะยื่นข้อ เสนอขอซื้อหุ้นจากธนาคารไทยพาณิชย์

ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับแบงก์ไทยพาณิชย์ ด้วยว่าจะยอมเสี่ยงกับ NPL อีกครั้งหรือไม่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.