ถามหานักลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ กังวลผลตอบแทนอาจไม่คุ้มค่า


ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

นายแบงก์ตั้งคำถาม ใคร?...จะเป็น "ผู้ลงทุน"ปล่อยเงินกู้ให้กับโครงการขนาดใหญ่ "เมกะโปรเจ็กต์" ที่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปี จึงจะได้เงินต้นและดอกเบี้ยคืนจนครบ ขณะที่แบงก์มีกำลังปล่อยกู้ได้ในเวลาจำกัดเพียง 10-15ปี ที่ปรึกษาต่างชาติคาดการออกพันธบัตรที่มีต้นทุนต่ำ โครงการต้องน่าสนใจ มีความชัดเจนในการดำเนินการ คืบหน้าอย่างรวดเร็ว จึงจะคลายความกังวลนักลงทุนได้...

การที่สถาบันเข้ามาปล่อยกู้ให้กับโครงการดังกล่าวถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีการลงทุนแล้วนั้นย่อมหมายที่จะได้รับผลตอบแทนสูง แต่ในขณะที่โครงการเมกะโปรเจกต์เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสังคม ผลตอบแทนอาจไม่สูงอย่างที่คาดไว้

เพราะรายได้ที่เข้ามาส่วนหนึ่งต้องนำไปชำระหนี้ ดอกเบี้ย และเงินต้น ดังนั้นผลจากตรงนี้จะทำให้กระแสเงินสดในโครงการลดลง และจุดนี้ก็กลายเป็นความกังวลของนักลงทุน เพราะการที่กระแสเงินสดลดลงย่อมหมายถึงผลตอบแทนลดลงด้วย

สุภัค ศิวรักษ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารทหารไทยเพราะโครงการดังกล่าวเป็นการลงทุนเพื่อสาธารณะ ผลตอบแทนและจุดคุ้มทุนนั้นอาจต้องใช้ระยะเวลานาน นักลงทุนอาจมีความกังวลในเรื่องนี้ เช่นเดียวกันกับเรื่องความเสี่ยงจากการลงทุน และปริมาณประชาชนที่มาใช้บริการเพียงพอต่อการสร้างผลตอบแทนที่ดีหรือไม่หลังโครงการขนาดใหญ่นี้ผลิตออกมา

อย่างที่กล่าวโครงการเมกะโปรเจกต์ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการหาแหล่งกู้เงิน แต่อยู่ที่ใครจะเป็นผู้ให้กู้ ซึ่งถ้าพิจารณาแหล่งเงินกู้ที่เป็นสถาบัน ในส่วนที่เป็นธนาคาร แม้จะมีเม็ดเงินพร้อมสำหรับการปล่อยกู้ แต่ระยะเวลาในการให้กู้ที่จำกัดเพียง 10-15ปี จึงไม่สอดคล้องกับการลงทุน ในโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องการระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 ปี

โรเบิร์ต บรอดฟุต ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมือง และเศรษฐกิจประเทศฮ่องกง บอกว่าว่า การที่ธนาคารเป็นแหล่งเงินทุนที่ไม่สอดคล้องกับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ การออกพันธบัตรของรัฐบาลจึงเป็นอีกหนึ่งทางของการระดมทุน และข้อสำคัญอีกประการคือการออกพันธบัตรนั้นจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการกู้เงินจากธนาคาร แต่การจะทำได้เช่นนั้นย่อมหมายความว่าโครงการดังกล่าวมีความน่าสนใจมากน้อยเพียงใด มีความชัดเจนในการดำเนินงานหรือไม่ รวมถึงความคืบหน้าของโครงการ

เมื่อตลาดพันธบัตรเริ่มที่จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในอนาคต การพัฒนาตลาดดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะตลาดรองที่ถือว่ายังได้รับการพัฒนาไม่เพียงพอ และนอกจากการพัฒนาตลาดตราสารหนี้แล้ว นวัตกรรมการเงินรูปแบบต่าง ๆ ก็ควรได้รับการพัฒนาควบคู่กันไปด้วย เพราะจะเป็นตัวผลักดันที่สำคัญต่อการพัฒนาตลาดพันธบัตร

ธุรกิจประกันภัยเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสถาบันที่เป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญ ด้วยรูปแบบการดำเนินธุรกิจนั้นถือว่ามีความสอดคล้องอย่างมากกับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะประกันชีวิตที่ถือเป็นแหล่งเงินออมระยะยาวของประชาชน

อาจกล่าวได้ว่าธุรกิจประกันชีวิตเป็นแหล่งทุนที่เหมาะสมสำหรับโครงการเมกะโปรเจกต์จริง ๆ ในอดีตที่ผ่านมา เพราะรูปแบบกรมธรรม์ที่เน้นความคุ้มครอง ทำให้สามารถเก็บเงินออมของลูกค้าได้นานถึง 60 ปี ซึ่งระหว่างนี้เม็ดเงินดังกล่าวก็จะถูกนำไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับรูปแบบของกรมธรรม์

แต่ปัจจุบันรูปแบบกรมธรรม์เริ่มเปลี่ยนไป ด้วยความต้องการของลูกค้าที่อยากได้ผลตอบแทนคืนมาเร็ว กรมธรรม์ในยุคใหม่นี้จึงเน้นที่ออมทรัพย์ และให้ผลตอบแทนทุก ๆ 5ปี หรือ 10 ปีบ้าง ดังนั้นด้วยรูปแบบกรมธรรม์นี้ทำให้เม็ดเงินที่ไหลเข้าไม่สามารถลงทุนระยะยาวได้

และด้วยเหตุผลประการดังกล่าวจึงเป็นที่มาของแนวคิดออกกรมธรรม์เพื่อวัยเกษียณซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองและออมระยะยาวจนถึงอายุ 60 ปี โดยกรมธรรม์ดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างการให้ ภาคธุรกิจประกันชีวิตศึกษาว่ารูปแบบที่จะออกมานั้นเป็นอย่างไร และเมื่อออกมาได้ เม็ดเงินที่ซื้อกรมธรรม์ดังกล่าวจะกลายเป็นแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ

อย่างไรก็ตามเสียงส่วนใหญ่ของแหล่งทุนที่เป็นสถาบันไม่ว่าจะธนาคารหรือบริษัทประกันภัยต่างก็มีความพร้อมที่จะให้เงินกู้แก่ภาครัฐ แต่จุดสำคัญหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปคือ แหล่งเงินของสถาบันเหล่านี้ก็ได้มากจากการเก็บออมของประชาชน เพราะฉะนั้นแหล่งทุนที่สำคัญสุดจึงมาจากประชาชน...

แต่ทุกวันนี้การออมของภาคประชาชนเริ่มที่จะมีปัญหา ด้วยนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่ผ่านมาเป็นผลให้ครัวเรื่องมีหนี้สินเพื่อขึ้น และผลจากการมีหนี้และพฤติกรรมที่ชอบบริโภคทำให้สัดส่วนการออมในภาคครัวเรือนลดหายลงอย่างน่าตกใจ

ปัญหาสำคัญของการออมที่ลดน้อยลงคือการบริโภคและการใช้จ่ายเกินตัวจนกลายเป็นหนี้ ปัจจัยนี้เองที่ทำให้ประชาชนไม่ออมเงินเพราะเงินที่หามาได้ในแต่ละครั้งถ้าไม่จับจ่ายใช้สอยก็นำไปโปะหนี้ ซึ่งนั่นหมายความว่าอนาคตเงินในระบบสถาบันที่มาจากประชาชนก็จะลดลงด้วย

เชื่อว่าภาครัฐเองก็ตระหนักถึงปัญหาข้อนี้ดี ซึ่งเห็นได้จากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้ประชาชน มาตรการบังคับออมด้วยการออกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ เพื่อดึงเม็ดเงินกลับมาใช้ประโยชน์ทางสังคม ซึ่งหมายถึงการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.