"ประสาร"ชี้สภาพคล่องล้นกว่า5แสนล. ลดแรงกดดันแบงก์ปรับขึ้นออมทรัพย์


ผู้จัดการรายวัน(23 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

บิ๊กแบงก์กสิกรไทย "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" เชื่อสภาพคล่องยังเกินอยู่กว่า 5 แสนล้านบาท ลดแรงกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องเร่งขยับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ระบุธนาคารต่างรีรอการส่งสัญญาณที่ชัดเจนจากธนาคารพาณิชย์อื่น ขณะที่เงินบาทแข็งค่าตามค่าเงินเยนของญี่ปุ่น

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2548 ยังไม่ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามากนัก โดยสภาพคล่องอยู่ที่ประมาณ 500,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับช่วยต้นปี ดังนั้นจึงไม่มีแรงกดดันที่จะทำให้ธนาคารพาริชย์ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากนัก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ เกิดจากการบริหารเงินและต้นทุนปกติ โดยมองว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสปรับขึ้น จึงมีการระดมเงินฝากระยะยาวต้นทุนดอกเบี้ยคงที่ไว้ อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาร์พี 14 วัน ทำให้เป็นช่องทางของธนาคารพาณิชย์ในการเข้าไปหากำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ยนั้นด้วย

สำหรับทิศทางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ ขณะนี้คิดว่ายังไม่น่าจะปรับขึ้น แต่จะขึ้นอยู่กับธนาคารอื่น เพราะหากมีธนาคารแห่งใดขยับ ธนาคารแห่งอื่นจำเป็นต้องปรับตาม เพื่อไม่ให้เสียเปรียบในการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารมีสเปรดอยู่ที่ 3.5-3.7% ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา ที่อยู่ 3.2% เป็นผลมาจากการขยายฐานสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารที่ทำให้สเปรดเติบโตได้ และคิดว่าในสิ้นปีนี้ ก็ยังรักษาอัตราการเติบโตได้ในระดับดังกล่าว ส่วนการขยายตัวของสินเชื่อในปีนี้คาดว่าทั้งระบบจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 6% จากครึ่งปีแรกที่มีอัตราการเติบโต 2-3%

"ทิศทางอัตราดอกเบี้ยก็เป็นแนวโน้มขาขึ้น แต่ยังไม่เห็นแบงก์พาณิชย์ปรับดอกเบี้ยขึ้นรุนแรง เนื่องจากสภาพคล่องส่วนเกินมีมาก นอกจากนี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับเพิ่มขึ้นก็ทำให้แบงก์พาณิชย์ส่วนใหญ่เน้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำเกินกว่าธนาคารพาณิชย์ จะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในจุดหนึ่งที่คงที่ โอกาสปรับขึ้นน้อยมากแล้ว จุดดังกล่าวจะส่งผลให้แบงก์พาณิชย์หันมาปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์โดยทั่วไปคิดว่ายังไม่ปรับขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับคู่แข่งด้วย"

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยกดดันให้ระบบธนาคารพาณิชย์ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ยกเว้นนโยบายการเงินของ ธปท. ที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดอาร์พีขึ้นไปอีกและการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากแบบมีระยะเวลาไปสูงแล้ว แต่การจะปรับขึ้นดอกเบี้ยออมทรัพย์ยังต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่างประกอบกันโดยเฉพาะนโยบายทางการ อัตราเงินเฟ้ออัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ และสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก ส่วนปลายนี้จะได้เห็นอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ขยับหรือไม่นั้น คงจะต้องตอบยาก เนื่องจากยังคงมีปัจจัยอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)แจ้งว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักของวันที่ 22 กันยายน (วานนี้) อยู่ที่ระดับ 41.05 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า และแข็งค่าขึ้น 0.73 % เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หากเทียบกับค่าเงินยูโร สหภาพยุโรป ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้น 0.57% เมื่อเทียบกับเมื่อวานนี้ และแข็งค่าขึ้น 0.86 %เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่เมื่อเทียบกับค่าเงินเยน จะพบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 0.09% ในวันก่อน และแข็งค่าขึ้น 1.03 % เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ด้านนักค้าเงินจากธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าบาทเงินบาทของไทย เปิดตลาดที่ 41.06 - 41.09 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 41.02 - 41.04 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดระหว่างวันในช่วงเช้าโดยอยู่ที่ระดับ 41.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และต่ำสุดอยู่ที่ 41.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ เงินสกุลบาทได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามเงินสกุลเยนที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น เนื่องจากหลายฝ่ายกำลังจับตาดูทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นว่าจะปรับขึ้นหรือไม่ รวมทั้งค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยเนื่องจากนักลงทุนเกรงว่าภัยธรรมชาติพายุอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐไม่มากก็น้อย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.