กลเกมการเงิน โปรโมชั่นหมื่นล้าน จุดเปลี่ยนการตลาด-เกมโชว์ไทย?


ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นไปได้หรือนี่ ! รายการเกมโชว์ เจ้าของสินค้า จะใจป้ำแจกรางวัลนับ 10 ล้าน 100 ล้าน 1,000 ล้าน ไปจนถึง 10,000 ล้านบาท
เป็นไปได้ เป็นไปแล้วในต่างประเทศ และกำลังจะเกิดขึ้นในเมืองไทยเครื่องมือนี้จะพลิกเกมการตลาด โหมกระแสโปรโมชั่นให้เร่าร้อนขึ้นมาได้อย่างที่คุย หรือเพียงแค่ลูกเล่นเก่าๆ ที่เติมสีสันให้จัดจ้านขึ้นเท่านั้น...ต้องจับตา

เวลานี้แทบจะไม่มีสินค้าไหนไม่ตกอยู่ในสภาพถูกบ่วงโปรโมชั่นรัดคอจนแทบหายไปไม่ออกไปตามกัน ที่สำคัญโปรโมชั่นช่วงนี้ยิ่งรุนแรงและหนักหน่วงกว่าช่วงก่อนๆ จนเป็นยุคทองของผู้บริโภคไปแล้ว ขณะเดียวกันก็กลายเป็นยุคมืดของเจ้าของสินค้าที่ต้องหาโปรโมชั่นเด็ดๆออกมาสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภค เพราะลำพังการลด-แลก-แจก-แถม กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว หรือแคมเปญแจกเงินถ้าไม่ดุเดือดระดับสิบล้านก็จะหงอยแทบจะทันที

ด้วยเหตุฉะนี้หลายบริษัทที่รับทำโปรโมชั่นด้วยไอเดียแปลกๆจึงเกิดขึ้นตามมา (อ่านล้อมกรอบศึกไอเดีย โปรโมชั่นร้อน บ.ใหม่เปิดตัวรับกระแสคึก) เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ต้องการโปรโมชั่นรูปแบบใหม่ที่ไม่จำเจ และตอบสนองเจ้าของสินค้า ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่21 พ.ค. 2548 ได้รายงานเอาไว้ว่า จากนี้ไปรูปแบบของโปรโมชั่นจะพลิกโฉมครั้งใหญ่ ซึ่งจะมาจากการสร้างแรงจูงใจด้วยมูลค่าของรางวัลที่จะสร้างความเกรียวกราวให้กับโปรโมชั่นนั้นๆ ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค

ทิศทางนี้ยังชี้ให้เห็นว่าในยุคการแข่งขันแบบไร้พรมแดน การสร้างความแตกต่างให้กับตัวสินค้าเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ความแตกต่างนั้นยังต้องครอบคลุมไปถึงการวางยุทธศาสตร์การตลาดและรูปแบบที่แปลกใหม่ของการทำโปรโมชั่นที่โดดเด่นเพื่อสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง

“ถึงเวลาแล้วสำหรับการรับมือโมเดลใหม่ของเกมการตลาดในเมืองไทยที่จะสร้างความสั่นสะเทือน ด้วยกระแสการบอกต่อแบบทอล์กออฟเดอะทาวน์ โดยจะมีความเป็นอินเตอร์มากขึ้นจากการคิดรูปแบบและดีไซน์ใหม่ๆ”

กลปั่นเงินให้ฟูฟ่อง

อาจมีคำถามต่อเนื้อความข้างต้นว่าแล้วอะไรคือโมเดลใหม่ และอะไรคือความแตกต่างของโปรโมชั่นที่โดดเด่นหลุดจากกรอบของลด-แลก-แจก-แถม?

สิ่งที่ทำให้แคมเปญโปรโมชั่นของบริษัทขายไอเดีย โปรโมชั่น น่าสนใจขึ้นมาอยู่ตรงที่เป็นการสร้างโปรโมชั่นแบบมีมูลค่าเพิ่ม (Amplifying Incentive) ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ คือ 1.Condition Rebate 2.Over Redemption 3.Visible Vault 4.Twieter 5.Dice Roll 6.Padlock Payoff 7.Magic Moment 8.On-air Matching Game 9.CRM-Thermo Rewrite 10.Swipe-2-Win 11.Direct Mail และ 13.Sport Product และ Internet Products

สำหรับโปรโมชั่นที่เรียกว่าคอนดิชั่นนอล รีเบท ก็คือ กรณีทาโก้ เบลล์ คู่แข่งสำคัญของแมคโดนัลด์ และเคเอฟซี สร้างกระแสโปรโมชั่นสุดระห่ำให้กับคนทั่วทั้งโลกได้รับรู้เพียงเวลาชั่วข้ามคืน ทั้งที่เป็นประกาศขนาดเล็กๆขนาด เอ 4 ที่ติดไว้ที่หน้าร้านของตนเท่านั้น เพื่อแจ้งข่าวว่า หากชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่งของกระสวยอวกาศรัสเซียที่ถูกเรียกกลับสู่โลกไปสัมผัสโดนส่วนใดส่วนหนึ่งบนสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ 10x10 เมตรที่มีโลโก้ของทาโก้ฯ ลอยอยู่กลางมหาสมุทรแล้วไซร้ เมื่อนั้นชาวอเมริกันทุกคนจะได้รับสินค้าของตนไปทานกันคนละชุดฟรีทันที

แม้จะไม่มีใครได้หม่ำทาโก้ เบลล์ ฟรี แต่เรื่องนี้ก็พูดกันสนั่นเมือง และสนั่นโลก เพราะ CNN และ ABC พูดถึงแคมเปญโปรโมชั่นนี้ด้วย งานนี้เจ้าของสินค้าโชคดี 2 ต่อ ต่อแรก ไม่ต้องควักกระเป๋านับพันล้านดอลลาร์จ่ายค่าแฮมเบอร์เกอร์ให้คนอเมริกันทั้งประเทศ ต่อที่สอง ชื่อของทาโก้ เบลล์ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ทั้งที่ใช้เงินโฆษณาและประชาสัมพันธ์ไม่เท่าไร

ส่วนโปรโมชั่นในรูปแบบ Number Match ก็คือ เป๊ปซี่ กับแคมเปญ Play for Billion ที่แจกเงินให้กับผู้เข้ามาร่วมถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 4 หมื่นล้านบาท ที่ให้ผู้บริโภคกดรหัสใต้ฝาเข้าไปที่เว็บไซต์จากนั้นจะสุ่มหาผู้โชคดี โดยตั้งมูลค่าของรางวัลใหญ่ไว้ที่ 1 พันล้านเหรียญ และการันตีรางวัลที่ 1 ล้านเหรียญ หรือกรณีโนเกียที่จะแจกโทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุด และแพงที่สุดให้กับผู้ชมทั้งสนาม หากนักกีฬาเบสบอลสามารถตีลูกโฮมรันแล้วไปโดนลูกบัลลูนที่มีสัญลักษณ์โนเกีย

นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของไอเดีย โปรโมชั่น ที่ถูกนำเสนอให้กับอเมริกันชนได้สนุก ได้ลุ้นและได้รู้จักแบรนด์ไปพร้อมๆกัน

ถามว่าแล้วบริษัทในเมืองไทยหลายบริษัทที่เบี้ยน้อยหอยน้อยแต่อยากจะจัดโปรโมชั่นอลังการแจกเงินสัก 10 ล้านบาท หรืออยากทำตามอย่างเป๊ปซี่จะต้องทำอย่างไร

ตอบว่า สามารถทำได้เพราะจริงๆแล้วแม้เป๊ปซี่จะมีเงินมากมายมหาศาลแต่ก็คงไม่เสียสติพอที่จะแจกเงินนับพันล้านดอลลาร์กับเกมที่เล่นเพียงชั่วข้ามคืน หรือผู้บริหารโนเกียคงไม่ติงต๊องพอที่เสียโทรศัพท์รุ่นล่าที่สุดแพงให้กับผู้ชมในสนามนับหมื่นเครื่องฟรีๆ แต่การที่หลายบริษัทเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นโซนี่ วอลล์มาร์ท ซิตี้แบงก์ หรือทาโก้ เบลล์ กล้าทำก็เพราะมีการทำประกันความเสี่ยงเอาไว้กับบริษัทเข้าของไอเดีย โปรโมชั่นเหล่านั้น โดยบริษัทเจ้าของสินค้าจะเสียเงินเพียงส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือบริษัทเจ้าของไอเดียจะเป็นผู้รับความเสี่ยงทั้งหมด

ชาญวิทย์ วิทยสัมฤทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท โปรโมชั่น พาร์ทเนอร์ เวิลด์ไวด์ (ประเทศไทย) กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า ถ้ามูลค่า 1 ล้านเหรียญ ทาโก้ เบลล์ จ่ายไม่ถึง 10% ของมูลค่าสินค้าที่เขาจะแจก บางคนอาจบอกว่าแคมเปญนี้บ้า มันจะไปถูกได้อย่างไร แต่ถ้าเกิดมันถูกขึ้นมาล่ะ เราก็เป็นคนจ่ายให้ วันนี้เราเล่นกับ odd กับ probability เจ้าของสินค้าจ่ายเงินเพียงเล็กน้อย แต่เรา blow ให้มันมหาศาล

“วันนี้คุณทำวิธีเดิมมี 1 แสนก็คือ 1 แสนเท่าเดิม แต่เราจะมาช่วยคุณจัดโปรโมชั่นเรื่องแคมเปญ วันนี้จาก 1 แสนบาท เอาเงิน 5 หมื่นบาทมาแจกเป็นของรางวัลให้ลูกค้าไป แต่อีก 5 หมื่นเป็น Coverage fee ของเรา แต่เงินที่ผมเก็บไปนั้นจะช่วย Blow มันขึ้นมาเป็น 1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาถึง 10 เท่า ที่เราเรียกว่าแอมพลิฟายจากการบริหารความเสี่ยง

ตอนนี้เกมโชว์รางวัล 10 ล้านบาทมันน้อยไปแล้ว เพราะหลายคนส่วนใหญ่เริ่มหันมาใช้วิธีนี้แล้ว สิ้นปีทุกอย่างจะเปลี่ยนไปหมด ส่วนใหญ่เราจะ blow เงินให้สูงขึ้น บางงานงบ 10 ล้านบาท แต่ใช้ fee แค่ 5 แสนบาท ซึ่งการคิด fee จะขึ้นอยู่กับ 1.ความยากง่ายของเกม ถ้าความเสี่ยงสูงค่า fee จะแพง แต่ถ้าลูกค้าต้องการให้รางวัลแตกง่ายก็คิด fee อีกแบบหนึ่ง”

โปรโมชั่นร้อยล้านเริ่มแล้วในไทย

จำกันได้หรือไม่ว่า มูลค่าการลด-แลก-แจก-แถม ที่ใหญ่สุดในบ้านเรามีมูลค่าเท่าไร บางคนบอกว่า 30 ล้านบาท กับแคมเปญโชคฟ้าผ่า 30 ฝา 30 ล้านของโออิชิ ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปหมาดๆ ส่วนใครบางคนที่เป็นแฟนบะหมี่สำเร็จรูป ตะโกนบอกว่า โชคทองกับซองมาม่านั่นไงที่แจกทองคำมูลค่า 100 บาท แต่ถ้าเป็นนักดื่มเบียร์อาจบอกว่าต้องช้างสิที่ใจป้ำแจกทองคำถึง 500 บาทเลยทีเดียว ส่วนบรรดาแฟนเกมโชว์ต้องยกให้กับเกมทศกัณฐ์ 10 หน้า 10 ล้านของเวิร์คพอยต์ ที่มี ปัญญา นิรันดรกุล เป็นพิธีกร ออกอากาศทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี

ดังที่เคยบอกไว้ข้างต้นแล้วว่าหลังจากที่บริษัทขายไอเดีย โปรโมชั่นเข้ามาในบ้านเรามากขึ้นจะทำให้เม็ดเงินที่เคยสร้างความฮือฮาพวกนี้กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย เพราะมีข่าวว่าค่ายบุญรอด เจ้าของเบียร์สิงห์ ลีโอ และไทเบียร์ เพิ่งเซ็นสัญญาทำโปรโมชั่นมูลค่า 100 ล้านบาท ไปกับบริษัทโปรโมชั่นพวกนี้ไปเมื่อไม่นานมานี้ หรือนกแอร์ก็กำลังจะเริ่มแจกเงินล้านบนเครื่องบินทุกไฟล์ทเป็นเวลา 3 เดือนแทนการแจกมือถือที่กำลังจะสิ้นสุดลง ส่วนคอนซูเมอร์ โพรดักส์ก็มีการพูดคุยกันไปบ้างแล้ว เช่น ค่ายเนสท์เล่ เป็นต้น

สิ่งที่น่าสนใจคือแม้มูลค่ารางวัลจะดูสูงลิ่วนับร้อยล้าน พันล้านบาทก็ตาม แต่ใช่ว่าเงินรางวัลนี้จะถึงมือผู้ร่วมรายการทุกครั้งที่มีการแจก ไม่เหมือนกับเบียร์ช้าง มาม่า หรืออื่นๆ ที่พอจับรายชื่อผู้โชคดีขึ้นมาคนนั้นจะได้รับของรางวัลนั้นไปเลย ด้วยโปรโมชั่นในรูปแบบใหม่นี้คนที่ถูกหยิบชื่อขึ้นมาอาจไม่ได้เงินรางวัลนี้ทั้งก้อน สิ่งที่ได้แน่นอนคือรางวัลก้อนหนึ่งที่การันตีไว้แล้ว จากนั้นต้องไปเล่นเกม หรือมีกิจกรรมอื่นๆอีก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะได้รางวัลนี้ไปครองทั้งหมด ยกเว้นโชคดีจริงๆ

อย่างไรก็ตาม นักการตลาดหลายรายในบ้านเรากล่าวแทบเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่บริษัทขายไอเดีย โปรโมชั่นทำนั้น เป็นเพียงเครื่องมือตัวหนึ่งที่ทำให้โปรโมชั่นน่าสนใจเท่านั้น แม้จะเป็นเรื่องใหม่ในบ้านเรา แต่เป็นสิ่งที่ทำกันมานานแล้วในต่างประเทศ และเป็นเพียงแค่ลูกเล่นหนึ่งของโปรโมชั่นเท่านั้น โดยเชื่อว่าวิธีการนี้อาจได้ผลในช่วงแรก แต่นานไปผู้บริโภคจะเกิดความเคยชินว่าดูดีเพียงแค่ตัวเลข แต่เนื้อแท้ไม่มีอะไร และค่อยๆหมดความน่าสนใจไปในที่สุด

นักการตลาดยังให้ความเห็นอีกว่า สิ่งที่ทำให้แคมเปญโปรโมชั่นพวกนี้น่าสนใจ และเกิดเป็นกระแสทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ไม่ได้อยู่ที่เม็ดเงินมหาศาลที่จะนำมาล่อใจให้กับผู้บริโภค แต่อยู่ที่กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ และการตลาดที่จะนำมาใช้โปรโมทรายการมากกว่า

รางวัลยิ่งสูง เกมยิ่งยาก สุดท้ายถอดใจทั้งคนดูและคนเล่น

แม้ว่าปัจจุบันจะมีผู้ที่หันมาทำธุรกิจบริหารความเสี่ยงด้วยการรับประกันที่จะจ่ายเงินรางวัลให้กับผู้บริโภคที่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการชิงรางวัลได้ครบทุกประการ โดยที่เจ้าของสินค้าหรือเกมโชว์ไม่ต้องจ่ายทั้งหมดหากรางวัลแตก แต่ก็ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทที่มารับประกันเงินรางวัลให้ เหมือนกับการเคลมประกันที่ต้องมีการจ่ายเบี้ยประกัน ซึ่งถ้าไม่มีอุบัติเหตุ หรือแจกพอตไม่แตก ก็เท่ากับเจ้าของสินค้าหรือเจ้าของรายการเกมโชว์ต้องจ่ายเงินไปฟรีๆ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีคนจ่ายเงินแทนหากแจกพอตแตก รวมถึงเป็นการสร้างลูกเล่นใหม่ๆในการดึงดูดให้คนหันมาสนใจสินค้าหรือรายการนั้นๆโดยมีเงินรางวัลสูงๆอาจจะเป็นหลักร้อยล้านพันล้านบาทเพื่อล่อใจผู้บริโภค

สำหรับวงการเกมโชว์ในบ้านเรา ผู้คร่ำหวอดในวงการอย่าง สรพงศ์ เอื้อชูชัย หัวหน้าฝ่ายผลิตรายการโทรทัศน์ บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ให้ทัศนะกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เกมโชว์ในบ้านเราได้รับความสนใจส่วนใหญ่จะมาจากรูปแบบของรายการที่น่าสนใจ แต่ก็อาจจะมีบ้างบางรายการที่ใช้เงินเป็นตัวล่อให้คนสนใจ

สรพงศ์ มองว่ารูปแบบเกมโชว์ในบ้านเราค่อนข้างดีอยู่แล้ว อีกทั้งผู้บริโภคก็เข้าใจถึงรูปแบบรายการได้อย่างดี อย่างการเปิดป้ายในรายการเกมโชว์ อาจจะมีแค่ 1 ใน 10 ป้ายที่จะได้ 1 ล้านบาท คนดูหรือผู้เข้าแข่งขันก็รู้ถึงกติกาและโอกาสในการได้รางวัลอย่างดี ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าของรายการนั้นๆ หากแต่มีการให้บริษัทบริหารความเสี่ยงเข้ามารับประกันเงินรางวัลให้เพื่อที่จะได้จูงใจให้คนสนใจด้วยเงินรางวัลมูลค่ามหาศาลอาจทำให้เกิดปัญหาได้ เพราะเจ้าของรายการเมื่อต้องเสียเงินค่าประกันแล้วก็ย่อมอยากให้รางวัลแตก เหมือนเวลาที่คนจ่ายประกันถ้าไม่มีการเคลมก็จะรู้สึกว่าไม่คุ้ม

ยิ่งเงินรางวัลสูงๆเวลาแจกพอตแตกก็มักจะเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์เหมือนสมัยก่อนในยุคที่เกมเศรษฐีออกอากาศในบ้านเราช่วงแรกๆก็ได้รับความนิยมจากผู้ชม เวลาที่มีเงินล้านแตกแต่ละครั้งก็จะเป็นที่กล่าวขานของผู้ชมทั่วไปจนทำให้หลายๆคนสนใจที่จะเข้ามาร่วมแข่งขัน และก็มีหนังสือประเภทเก็งคำถามเหมือนการทำข้อสอบออกมาจำหน่าย ซึ่งในยุคนั้นยังไม่ค่อยมีรายการเกมโชว์ที่แจกรางวัลเป็นหลักล้าน อย่างมากก็แค่เงินแสน

ในส่วนของบริษัทที่รับประกันเงินรางวัล ก็พยายามที่จะควบคุมรูปแบบของเกมการแข่งขันให้ยากเพื่อที่โอกาสที่แจกพอตจะแตกเป็นไปได้ยาก เพราะเวลาที่แจกพอตแตกแต่ละครั้งหมายถึงบริษัทอาจจะขาดทุนได้ อย่างเช่นถ้าไปรับเงินจากเจ้าของรายการมา 1 ล้านบาท แล้วประกันว่าหากแจกพอตแตกจะจ่าย 10 ล้านบาท คงไม่มีใครยอมที่จะให้แจกพอตแตกได้ง่ายๆ

เมื่อรูปแบบรายการหรือเกมการแข่งขันมีความยากมากขึ้นก็อาจจะทำให้ผู้บริโภคหรือสึกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่พอแจพอตแตกแต่ละทีก็จะถูกตั้งข้อสงสัยในเชิงลบว่ามีการวางแผนกันล่วงหน้าเพื่อให้แจกพอตแตกหรือเปล่า

"เวลาที่เราทำเกมโชว์เราจะไม่คิดถึงสถิติว่าโอกาสที่แจกพอตจะแตกเป็นเท่าไร เพราะเป็นสูตรที่ทั่วโลกใช้กันอยู่แล้ว่าเกมยิ่งยากรางวัลก็ยิ่งมาก เกมง่ายๆรางวัลก็อาจจะน้อยลงมา การคำนึงถึงรูปแบบของเกมเป็นสิ่งสำคัญกว่า เพราะเกมที่จะได้รับความสนใจจะต้องสนุก ท้าทาย ดูเหมือนไม่ยาก แต่มีปัจจัยอื่นๆมาประกอบทำให้การได้รางวัลไม่ง่ายเกินไป ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ และการทดสอบรูปแบบของเกมที่ดีพอ"

การตีกอล์ฟให้ลงหลุมในครั้งเดียวหรือโฮลด์อินวัน เป็นรูปแบบเกมที่ สรพงศ์ เชื่อว่าไม่มีทางที่แจกพอตจะแตก เพราะจากประสบการณ์ในการการตีกอล์ฟทำให้รู้ว่ามีรูปแบบของการปักธงที่หลุมซึ่งจะทำให้ไม่มีทางที่ผู้เข้าแข่งขันจะสามารถตีกอล์ฟให้ลงหลุมได้ในครั้งเดียว

"เวลาที่มีการแข่งขันตีโฮลด์อินวันแล้วแจกรถ แจกรางวัล ถ้าแจกพอตไม่แตกก็เก็บรางวัลไว้ ไม่มีการจับฉลากเพื่อให้รางวัลแตก รูปแบบอย่างนี้ผมรู้ได้ในทันทีว่าไม่มีการแจกรางวัลแน่ แต่ถ้าเป็นรูปแบบเกมที่เวลาแจกรางวัลแน่ๆแม้ไม่มีใครทำได้ก็จะจับฉลากแจกรางวัล อย่างนี้คนจัดงานเขาไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการปักธงที่หลุมเพราะอย่างไรเสียก็ต้องแจกรางวัลอยู่ดี"

นอกจากความยากง่ายของเกมแล้ว จำนวนเงินรางวัลที่มากเกินไปก็ทำให้ผู้บริโภคเชื่อว่าไม่มีทางที่แจกพอตจะแตก เพราะโดยสามัญสำนึกแล้วคนย่อมมองว่าไม่มีใครยอมทำธุรกิจให้ขาดทุน การทำธุรกิจเกมโชว์ก็เช่นกัน สมมุติว่าออกอากาศสัปดาห์ละครั้ง 1 ปีก็จะมี 52 ครั้ง ก็อาจทำเงินจากโฆษณาได้ประมาณ 50 ล้านบาท จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้เชื่อได้ว่าธุรกิจที่มีรายได้ 50 ล้านบาทต่อปี จะยอมจ่ายเงิน 100 ล้านบาทในครั้งเดียว เว้นแต่เป็นการสะสมเงินรางวัลจากครั้งก่อนๆจนมีมูลค่าเพิ่มเป็นเท่าตัว

แต่ถ้าเป็นรายการเกมโชว์ที่ออกอากาศทุกวัน และมีเรตติ้งดีๆก็เป็นไปได้ที่จะมีรายได้และเงินจากสปอนเซอร์หลายร้อยล้านบาท หากเจ้าของรายการอยากจะสร้างกระแสและเรตติ้งให้สูงขึ้นก็อาจยอมหั่นรายได้เพื่อไปการแจกเงินรางวัล 100 ล้านบาท ซึ่งมีความเป็นไปได้และน่าเชื่อถือกว่ารายการแรก

ต่อกรณีที่ว่ามีบริษัทมารับประกันเงินรางวัลให้คนก็ยังมองในแง่ลบอยู่ดีว่าไม่มีทางที่ใครสักคนจะเข้ามารับเงิน 1 ล้านบาทแล้วยอมจ่าย 10 ล้านบาท ถ้าเป็นเช่นนั้นเวลาแจกพอตทีบริษัทนั้นอาจจะต้องปิดตัวไปก็เป็นได้ เว้นแต่ว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากๆ เหมือนกับการทำประกันที่มีลูกค้ามากมายซึ่งก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะมาเคลมประกัน ดังนั้นบริษัทจึงสามารถโยกรายได้จากจุดหนึ่งไปโปะอีกจุดหนึ่ง เช่นเดียวกับการทำเกมโชว์ในอเมริกาที่ทุกรายการจะมีการทำประกันเงินรางวัลเอาไว้ บริษัทที่รับประกันก็มีรายได้เข้ามามากจึงสามารถโยกเงินจากลูกค้ารายหนึ่งไปโปะให้กับอีกรายที่มีการทำแจกพอตแตก

"วิธีการคิดโปรโมชั่นเงินล้าน ไม่ได้แตกต่างจากเกมโชว์ที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นเพียงการหาจุดโปรโมทให้คนหันมาสนใจรายการเท่านั้นเอง ซึ่งแน่นอนว่าทันทีที่มีการโปรโมทออกไปเชื่อว่าจะมีคนตอบรับ แต่รายการจะอยู่ได้นานเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของรายการนั้นๆว่ามีความเป็นไปได้และมีเหตุผลน่าเชื่อถือแค่ไหนที่จะมาจ่ายรางวัลมูลค่ามหาศาลในเมื่อบริษัทมีรายได้ไม่เท่าไร แต่อย่างไรก็ดีรูปแบบโปรโมชั่นเงินล้านที่ว่านี้อาจจะประสบความสำเร็จก็ได้ แต่ต้องรอดูก่อนว่ารูปแบบเกมจะเป็นเช่นไรเนื่องจากตอนนี้ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน เป็นเพียงการให้มุมมองตามความเข้าใจ ณ ตอนนี้" สรพงศ์ เอื้อชูชัย กล่าวปิดท้าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.