|
ปรับหน่วยงานให้ทำงานเงินด้วย Self-Marketing
ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ดูเหมือนว่าแนวคิดทางการตลาดในต่างประเทศวันนี้ จะมีการพัฒนาล้ำหน้าไปอีกก้าวหนึ่งแล้ว ด้วยการจัดหลักสูตรและให้การฝึกอบรม เพื่อให้ทุกหน่วยงานภายในกิจการทำการค้นหาตนเอง ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจการ ผ่านการหารายได้ด้วยทางหนึ่งทางใด หรือที่เรียกว่า Self Marketing
ล่าสุด ฝ่ายงานด้านไอทีในกิจการชั้นนำของโลกหลายแห่ง ที่เคยถูกมองว่าเป็นหน่วยสร้างภาระหรือเพิ่มต้นทุนการดำเนินงานแก่กิจการ ได้ใช้ Self Marketing จนสามารถเงินเข้ามาสู่กิจการแล้ว
จากการสำรวจทางการตลาดเมื่อไม่นานมานี้ ได้พบว่าบทบาทของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายไอทีของบริษัทขนาดใหญ่ของโลกหลายแห่ง มีบุคลิกภาพและความรับผิดชอบแทบจะไม่ได้ต่างออกไปจากนักการตลาดในแผนกขายของกิจการ แถมยังออกไปพบปะกับผู้คนในลักษณะเดียวกับงานของลูกค้าสัมพันธ์ได้อย่างไหลลื่นไม่แพ้กัน
สิ่งที่น่าสนใจจากการใช้ Self Marketing ในการปรับบทบาทของไอทีมาเป็นทีมงานทำกำไร มีหลายประการ ประการแรก แนวคิดของการขายของไอที คือ ทำให้ไอทีเป็นเสมือนบริการใหม่ของกิจการที่นำออกสู่ตลาด โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจคุณค่าของงานไอทีของตนเอง ว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ใดแก่ลูกค้าได้ จนกระทั่งทำให้ลูกค้ายอมจ่ายเงินเพื่อแลกกับบริการนั้น
ประการที่สอง แนวทางในการทำการตลาดตนเองของบริการในด้านไอที คือ การปรับวิถีการคิดจากเดิม มาสู่ความเป็นผู้ประกอบการอีกแผนกหนึ่ง เช่นเดียวกับฝ่ายขายอื่นๆ นั่นคือ ทำแผนธุรกิจที่เน้นการเพิ่มรายได้เช่นเดียวกับกิจการหน่วยอื่นๆ และใช้หลัก 4 พ หรือ 8 พี ในการบริหารส่วนผสมของบริการ
ประการที่สาม การออกข่าวสารหรือ Press Release หรือจ้างนักข่าวเขียนข่าวถึงผลงานหรือศักยภาพของฝ่ายไอที รวมทั้งให้ข้อมูลข่าวสารบนหน้าเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต เกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ลูกค้าเป้าหมายจะได้จากฝ่ายงานไอที แต่เนื่องจากการใช้งานไอทีเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเข้าใจยาก เพราะเต็มไปด้วยศัพท์แสงทางเทคนิค การให้ข้อมุลกว่าครึ่งหนึ่ง จึงออกไปในรูปแบบของการให้การศึกษา การเพิ่มความรอบรู้ของสังคมและเป้าหมายของกิจการ
สิ่งสำคัญในขั้นนี้คือ การทำให้สังคมและลูกค้าเป้าหมายได้รู้จักทีมงาน และสิ่งที่ไอทีสามารถสร้างให้แก่ธุรกิจที่เป็นลูกค้า การปรากฏตัวในงานหรือกิจกรรมร่วมทางสังคม การสร้างข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ และสื่อต่างๆ ที่ไม่ต้องใช้เงินค่าโฆษณา หรือใช้แต่น้อยมากแทบไม่มีผลกระทบต่อรายจ่ายรวมให้เพิ่มขึ้น
ประการที่สี่ ทำงานการตลาด ก่อนการทำงานการขาย เพราะงานการตลาดไม่ได้หมายถึงการขายอย่างเดียว แต่หมายถึงการนำชื่อ นำตนเองออกไปสู่ตลาดเป้าหมาย เพราะผู้คนเกือบทั้งหมด อยากรู้อยากเข้าใจงานด้านไอที แต่กลัวจะยากและฟังคนไอทีพูดไม่รู้เรื่อง
ด้วยกระบวนการหลักๆ เหล่านี้ ทำให้ไอทีสามารถเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ปัจจุบันของงานไอที จากศูนย์สร้างภาระรายจ่าย เป็นทีมงานการตลาดที่เข้มแข็ง ซึ่งนอกจากจะเริ่มหาเงินมาชดเชยรายจ่ายของหน่วยงานแล้ว ยังเป็นช่องทางที่มีประสิทธิผลในการยกระดับความสามารถของทีมงานขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วย
การสร้างทีมงานการตลาดขายบริการด้านไอทีจากทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว เป็นการเปลี่ยนโฉมของทีมงานที่เคยอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ มาเป็นนักบริการทั้งลูกค้าภายในกิจการหรือฝ่ายงานอื่น และลูกค้าภายนอกกิจการ เพราะกิจการห้างร้านในต่างประเทศจำนวนไม่น้อย หาทางว่าจ้างกิจการอื่นหรือ Outsourcing ทำหน้าที่ที่ตนไม่ถนัด เช่น Call Center หรือ Delivery รวมทั้งงานด้านไอทีด้วย
ในทางการตลาด แนวทางการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นนักประกอบการในที่สุดนี้ เรียกว่าZentrepreneur ไม่ใช่คำว่า Entrepreneur อย่างที่มีการใช้มาตั้งแต่อดีต เพราะเป็นการค้นหาศักยภาพของตนเอง และแนวทางการพัฒนาขึ้นไปจากเดิม รวมทั้งทำให้สิ่งที่เป็นเหมือนความฝันกลายเป็นเงินเป็นทองในเชิงพาณิชย์ และสร้างชีวิตใหม่ให้กับตนเองแทนชีวิตแบบเดิม ซึ่งผู้ประกอบการทั่วไปหรือ Entrepreneur ทำไม่ได้
การค้นพบและสร้างชีวิตของตนเองใหม่นี้ เป็นเรื่องที่พิเศษและไม่ได้ทำได้ทุกคน ทุกกรณี เพราะเป็นการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสทีเดียว จากการเป็นเสมือนกล่องดำ เป็นไอทีที่มีความพร้อมที่จะทำงานบริการได้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
สิ่งที่เหนือกว่าการดำเนินงานทั่วไป คือ ทีมงานการตลาดไอที จะต้องหาทางสร้างแบรนด์ และรักษาภาพทางบวกของแบรนด์ของตนเอง ที่อาจจะมีภาพลักษณ์ และการรับรู้จากลูกค้าที่แตกต่างจากแบรนด์หลักของกิจการก็ได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|