ไขศรี นิธิการพิศิษฐ์ น่าจะเป็น ผู้บริหารรุ่นที่ 4 ซึ่งได้มีโอกาสเข้ามารับช่วงดูแลกิจการที่ศาสตราจารย์ยุกต์
ณ ถลาง สร้างขึ้นมาเมื่อ 62 ปีก่อนที่มีอายุน้อยที่สุด แต่ต้องทำงานหนักและเหนื่อยมากที่สุด
ด้วยวัยเพียง 41 ปี ไขศรีต้องดิ้นรนเพื่อให้กลุ่มเคพีเอ็มจี ประเทศไทย
ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจสอบบัญชี และที่ปรึกษา ที่เกิดจากการควบรวมกันระหว่างกลุ่มแอนเดอร์เซ่น
ประเทศไทย กับกลุ่มเคพีเอ็มจีสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ที่โหมประดังเข้ามา
ตั้งแต่วันแรกที่เธอเข้ารับตำแหน่ง
ไขศรีเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการ กลุ่มเคพีเอ็มจี ประเทศไทย
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
พันธกิจเร่งด่วนของเธอ มิใช่เพียงการวางเป้าหมายในอนาคต แต่กลับต้องลงไปแก้ปัญหา
ทั้งๆ ที่ปัญหาเหล่านั้น เธอมิได้เป็นผู้ก่อขึ้น
ไขศรีเป็นศิษย์เก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นลูกศิษย์ของธวัช
ภูษิตโภยไคย
คนในวงการบัญชีที่รู้จักเธอ บอกว่าไขศรีนับถือธวัชมาก
เธอเป็นผู้หญิงที่มีความเชื่อมั่นในตนเองค่อนข้างสูง แม้สรีระจะดูบอบบาง
แต่ก็มีความแกร่งอยู่ในตัว
"เวลาจะทำอะไร จะต้องมีเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้วเสมอ" เธอบอก
เมื่อเรียนจบปริญญาตรี จากธรรมศาสตร์ ในปี 2526 บริษัทเดียวที่เธอสมัครงาน
คือบริษัทสำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง พร้อมกับสมัครเรียนปริญญาโท บริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปพร้อมกันด้วย
"อาจารย์ธวัชเป็นคนสอนในเทอมสุดท้าย และเพราะอาจารย์ธวัช ก็เลยทำให้อยากเข้ามาสมัครงานที่นี่"
เธอได้ทั้งการเป็นพนักงานในเอสจีวี-ณ ถลาง และเป็นนักศึกษาปริญญาโท บริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปพร้อมเพรียงกัน
งานแรกที่เธอทำ พร้อมกับการเรียนปริญญาโทภาคค่ำคือการเป็นผู้สอบบัญชี เธอสอบได้ใบอนุญาตผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
ลำดับที่ 3491
ไขศรีใช้เวลาเรียนปริญญาโท 4 ปี จึงจบ ในตอนแรกเธอตั้งใจว่าจะทำดอกเตอร์
"แต่อาจารย์ธวัชก็มาชวนให้เข้าไปบุกเบิกงานด้านที่ปรึกษา"
เธอเริ่มจับงานเป็นที่ปรึกษาในเอสจีวี-ณ ถลาง ตั้งแต่ปี 2531 จนมีความชำนาญทั้งทางด้านการบริหาร
การวางแผนการเงิน การจัดหาแหล่งเงินทุน และการปรับโครงสร้างหนี้
ด้วยความชำนาญเหล่านี้ เมื่อเอสจีวี-ณ ถลาง มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเป็นกลุ่มบริษัทแอนเดอร์เซ่น
ประเทศไทย และเบนเข็มไปเน้นทำธุรกิจที่ปรึกษา เธอจึงได้รับเลือกให้ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการของกลุ่ม
ในปี 2543
เป็นผู้บริหารสูงสุดรุ่นที่ 4 ที่สืบทอดตำแหน่งต่อมาจากยุคของ ศาสตราจารย์ยุกต์
ณ ถลาง, มาริษ สมารัมภ์ และธวัช ภูษิตโภยไคย
"คุณไขศรีถูกเลือกเพราะเชี่ยวชาญในการเป็นที่ปรึกษา" ธวัชบอกกับ "ผู้จัดการ"
แต่หลังเข้ารับตำแหน่งเป็นต้นมา ไขศรีกลับต้องนำความเชี่ยวชาญงานที่ปรึกษา
มาใช้กับบริษัทที่ตัวเองเป็นผู้บริหาร
เธอเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับ KPMG เพื่อที่จะนำกลุ่มบริษัทที่เคยเป็นอดีตสมาชิก
Arthur Andersen ในประเทศไทย เข้าไปเป็นสมาชิก KPMG ทั้งที่ในขณะนั้น KPMG
มีตัวแทนในไทยอยู่แล้ว เป็นสำนักงานของศาสตราจารย์สุธี และสุพจน์ สิงห์เสน่ห์
แต่เธอก็สามารถเจรจาจนทั้ง 2 สำนักงานบรรลุข้อตกลงในการควบรวมกิจการกันได้
และเธอก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารสูงสุดในประเทศไทย ของ KPMG
ในวันนี้ ภารกิจการเป็นที่ปรึกษาของเธอยังไม่เสร็จสิ้น