บลจ.บีโอเอขอเวลา3ปีผงาดติดอันดับ1ใน5เจ้าตลาดกองทุน


ผู้จัดการรายวัน(22 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการควบรวมกิจการของธุรกิจต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงวงการธนาคารในบ้านเราด้วย และเป็นที่ทราบกันดีว่า หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงนั้นคือ การควบรวมกิจการระหว่างธนาคารเอเชีย และธนาคารยูโอบี รัตนสิน ด้วยการเข้ามาของ UOB จากสิงคโปร์ และการถอนตัวออกไปของ ABN Amro ที่เป็นผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารเอเชีย และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บีโอเอ จำกัด ด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ บลจ.บีโอเอต้องกลาย เป็นหนึ่งในสมาชิกของ UOB ไปโดยปริยาย ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงนี้เอง "ผู้จัดการรายวัน" จึงได้เข้าไปพูดคุยกับ วนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของ บลจ.บีโอเอ ว่า บทบาทของบริษัทจะ มี อะไรเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และภาพลักษณ์ของบีโอเอ จะสื่อออกมาให้ผู้ลงทุนเห็นในลักษณะใด

วนา กล่าวกับเราว่า หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารเอเชีย และธนาคารยูโอบี รัตนสิน ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึง ณ วันนี้ เรามีความใกล้ชิดต่อกันมากทั้งในแง่ที่เป็นตัวแทนขายหน่วยลงทุนให้เรา และในแง่การเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งการควบรวมกิจการระหว่าง 2 ธนาคารนั้นไม่มีผลอะไรต่อการทำงานของเรา โดยที่เรายังคงทำงานตามปกติต่อไป

แต่ผลดีที่ตามมาคือ เรามีช่องทางการจำหน่ายเพิ่ม จากสาขาเพิ่มขึ้นมาประมาณ 30 สาขาเป็น 160 สาขา ซึ่งหลังจากมีความชัดเจนของการควบรวมกิจการ และเริ่มส่งกองทุนไปขายผ่านแบงก์แล้ว ทำให้เรามีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นมา โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่ยูโอบี รัตนสินมีอยู่ ส่งผลให้สินทรัพย์ของเราโตกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเราก็จะเน้นการเพิ่มฐานลูกค้าให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ช่องทางที่หลากหลาย เพิ่มตัวแทนการจำหน่ายให้มากขึ้น ทั้งโบรกเกอร์ สาขา ของธนาคารต่างชาติ นอกเหนือจากการขายหน่วยลงทุนผ่านสาขาของธนาคารอย่างเดียว

"ตอนนี้บริษัทมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารประมาณ 51,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 38,000 ล้านบาทในช่วงสิ้นปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวประมาณ 34% จากเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้ว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ประมาณ 40% โดยมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เกตแชร์) อยู่ที่อันดับ 7 ของธุรกิจกองทุนรวม"

เขาบอกว่า หลัง UOB เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์กับเรา ก็มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะธุรกิจกองทุนรวมที่ UOB มีบริษัทจัดการกองทุนที่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีพอร์ตการบริหารกว่า 6 แสนล้านบาท เรียกได้ว่าเทียบเท่ามูลค่ารวมสำหรับกองทุนในบ้านเราทั้งอุตสาหกรรมเลยทีเดียว ซึ่งการที่เราได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานและศึกษารูปแบบการลงทุนของ UOB ทำให้ได้เห็นรูปแบบ ที่มีความหลากหลายค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับการลงทุน ในประเทศไทย ทั้งระบบการลงทุน ระบบควบคุมความเสี่ยง และข้อมูลต่างๆ

โดยถือว่าตลาดการลงทุนในประเทศสิงคโปร์เป็นตลาดที่พัฒนาไปได้ค่อนข้างไกล มีสินค้าด้านการลงทุนที่หลากหลาย ซับซ้อน รวมทั้งผู้ลงทุนในประเทศยังมีความรู้ความเข้าใจถึงการลงทุนเป็นอย่างดี ซึ่งจากรูปแบบการลงทุนที่พัฒนาไปค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับบ้านเรา ทำให้มองได้ว่าตลาดกองทุนรวมในบ้านเรายังมีโอกาสที่จะเติบโตและขยายตัวได้อีกมาก ประมาณ 20-30% ต่อปีจากภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งหากจะพูดถึงพฤติกรรมการลงทุนของผู้ลงทุนในบ้านเรานั้น ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และมีการศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนค่อนข้างน้อย แต่การที่ตลาดบ้านเรา เริ่มมีสินค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งนักลงทุนเองก็แสวงหาผลตอบแทนที่สูง บวกกับรัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญ ทำให้ผู้ลงทุนเริ่มเข้าใจมากขึ้น แต่รูปแบบการลงทุนที่ซับซ้อนคงต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้น

วนา กล่าวว่า หลังการควบรวมกิจการเสร็จสิ้นและมีความชัดเจนแล้ว เราคงจะเริ่มงานได้อย่างเต็มที่มากขึ้น เนื่องจากต้องพิจารณาถึงความสอดคล้องของภาพธนาคารใหม่ที่จะออกมา รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการเปลี่ยนชื่อธนาคารด้วย นั่นหมายความว่าชื่อของเราก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนตามไปด้วย โดยระหว่างนี้สิ่งที่เราต้องทำคือ พัฒนารูปแบบการลงทุนทั้งในแง่ของสินค้าและการบริการ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้เห็นผ่านความเป็นแบรนด์ของเรา

โดยสิ่งที่เราทำอยู่ในขณะนี้ คือการลงทุนพัฒนาระบบไอที เพื่อให้เป็นช่องทางหนึ่งในการให้บริการแก่ลูกค้า ทั้งในด้านข้อมูลข่าวสาร และความสะดวกสบายในการซื้อขายหน่วยลงทุน เช่น การซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตและ รูปแบบการให้บริการผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยอื่นๆ ซึ่งการ พัฒนาระบบดังกล่าวต้องรอความพร้อมของการควบรวมกิจการ เนื่องจากมีข้อมูลที่ต้องเชื่อมโยงระหว่างกันด้วย โดย คาดว่าระบบต่างๆ จะพร้อมให้บริการได้ในปีหน้าพร้อมกับความชัดเจนของธนาคารที่จะออกมาด้วย

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การสร้างแบรนด์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะบริษัทจัดการกองทุนที่ต้องการสร้างความมั่นใจ หรือสร้างความเข้าใจที่ดีให้แก่ผู้ลงทุน นอกเหนือจากการสร้างผลตอบแทน ที่ดีแล้ว การสร้างแบรนด์ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ดังนั้น เราจึงมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์เข้ามาช่วยในจุดนี้ เพื่อสื่อให้ผู้ลงทุนเห็นว่าเราเป็นนักลงทุนประเภทไหน มีรูปแบบการลงทุนที่น่าสนใจอย่างไร

"ภาพที่เราจะสื่อออกมาจากการสร้างแบรนด์ในครั้งนี้ คือ การเป็นบริษัทจัดการกองทุนที่ทันสมัย มีความคิดสร้างสรรค์ มีสินค้าใหม่ๆ ที่มีความหลากหลาย และให้ความสำคัญกับลูกค้าด้วยการลงทุนที่ระมัดระวัง มีความเสี่ยงน้อย และเป็นอะไรที่ไม่หวือหวามากเกินไป"

ภาพที่กล่าวมาทั้งหมด เราตั้งเป้าที่จะขยับตัวเอง ขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 5 หรือท็อปไฟว์ ในธุรกิจจัดการกองทุนภายใน 3 ปี ซึ่งสิ่งที่จะทำควบคู่กันไปคือการ มุ่งเน้นออกสินค้าที่มีความแปลกใหม่ เพิ่มการบริการ ช่องทางการจำหน่ายที่มากขึ้น สอดคล้องกับสิ่งที่เราเชื่อว่าจากนี้ไปอีก 3 ปีทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เป็นผู้ควบคุมดูแลหลัก ก็ต้องการให้กองทุนซื้อสินค้าที่มีความแปลกใหม่ หรือซับซ้อนมากขึ้นเช่นกัน เช่น กองทุนที่ลงทุนในตลาดอนุพันธ์ ทองคำ หรือกองทุนใหม่ๆ ที่มีรูปแบบผลตอบแทนเชื่อมโยงกับอะไรสักอย่าง

ท้ายสุด วนา กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจกองทุนของบีโอเอว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเราเปิดขายหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนตราสารหนี้ไปแล้วจำนวน 15 กองทุน โดยสามารถระดมทุนในช่วงการเสนอขายครั้งแรก (ไอพีโอ) ได้ประมาณ 20,087.218 ล้านบาท แต่จากกองทุนอายุ 6 เดือนที่เปิดขายในช่วงต้นปีมีการ สิ้นสุดอายุโครงการไป จึงมีมูลค่ารวมสุทธิสำหรับกองทุน ตราสารหนี้ประมาณ 13,000 ล้านบาทในปัจจุบัน ซึ่งจากการเปิดขายกองทุนตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารเพิ่มขึ้นเป็น 51,000 ล้านบาทจาก 38,000 ล้านบาทในช่วงสิ้นปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวประมาณ 34% จากเป้าหมาย ที่บริษัทตั้งไว้ว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ประมาณ 40%

สำหรับกองทุนตราสารหนี้ที่เปิดขายหน่วยลงทุนไปนั้น จะเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลังระยะสั้นๆ ที่มีความมั่นคงเป็นหลัก รวมไปถึงตั๋วเงินระยะสั้น (บี/อี) ของธนาคารพาณิชย์ที่มีความเสี่ยงน้อยด้วย โดยมีทั้งกองทุนอายุ 6 เดือน 1 ปี และ 3 ปี ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนที่ต้องการรูปแบบการลงทุนที่แตกต่างกัน ซึ่งหลังจากเปิดขายหน่วยลงทุนไปแล้ว ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี เกินเป้าหมายที่บริษัทคาดการณ์ไว้

"จากผลตอบแทนของกองทุนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ย เงินฝากประจำในธนาคาร อีกทั้งผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรมีแนวโน้มสูงขึ้นไปอีก ในขณะที่เงินฝากธนาคารยังไล่ไม่ทัน ปัจจัยดังกล่าวทำให้กองทุน ประเภทนี้น่าสนใจและเป็นที่ต้องการสำหรับผู้ลงทุน จึงทำให้กองทุนของเราขายดีกว่าที่คาด"

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา การลงทุนผ่านกองทุน รวมตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้นทั้งอุตสาหกรรม คาดว่าน่าจะมีมูลค่ารวมประมาณ 90,000-100,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ามีเม็ดเงิน ลงทุนจากเงินฝากประจำของธนาคารไหลเข้ามาลงทุนในกองทุนประเภทดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากให้ ผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่า โดยความต้องการลงทุนยังมีแนวโน้มอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าธนาคารจะเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยกันบ้างแล้วก็ตาม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.