ที่เหนือกว่ายุทธศาสตร์ซี.พี.

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าบทสรุปของนักวิเคราะห์ธุรกิจไทย จะบอกว่า ความสำเร็จของการสร้างอาณาจักรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) มาจากความเข้าใจยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทว่าประสบการณ์และบทเรียนที่สำคัญนั้น ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่ง (ซึ่งเป็นส่วนเล็กๆ เท่านั้น) ของยุทธศาสตร์ที่มีความยิ่งใหญ่ เชื่อมโยงสู่ระดับสังคมไทยในภาพกว้าง ที่ความคิดรวบยอดในทางธุรกิจล้วนๆ ไม่อาจจะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง

ในบรรดาโครงการตามพระราชดำริจำนวนมากมาย ซึ่งมีคุณูปการในฐานะเป็นภูมิปัญญาของสังคมไทย มีอยู่เพียง 2 โครงการที่สำคัญในปัจจุบัน ที่กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยโดยตรง โครงการแรก ธนินท์ และวัลลภ เจียรวนนท์ ผู้บริหารซี.พี.เข้าถือหุ้นรวมกัน 20% ในบริษัท สุวรรณชาด จำกัด เจ้าของเครือข่าย ร้าน Golden Place

อีกโครงการหนึ่ง บุคลากรต่างๆ ของ ซี.พี.ได้ทำงานกันอย่างเข้มข้น ในหลายขั้นตอนของโครงการสร้างแบรนด์แห่งชาติ "สุวรรณชาด" ซึ่งนำร่องด้วยเสื้อยืดโปโล สุวรรณชาด รุ่นทองแดง เป็นสินค้าชนิดแรก ที่เปิดตลาดในต้นเดือนพฤศจิกายน 2545

ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่เชื่อมโยง และสะท้อนหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งล้วนแต่เป็น ความคิดทางยุทธศาสตร์ของสังคมไทย ที่อยู่เหนือโครงสร้างความคิดทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของรัฐ รวมทั้งอยู่เหนือยุทธศาสตร์ ธุรกิจใดๆ ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วยอย่างมิพักสงสัย

ซี.พี.เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่ง ที่ได้ดำเนินกิจกรรมสนับสนุนโครงการตามพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสมอมา เอกสารทางการของซี.พี.ไม่ว่ารายงานประจำปี Website ของบริษัท (www.cpthailand.com) ฯลฯ จะกล่าวถึงโครงการเหล่านี้ไว้อย่างเฉพาะเจาะจง นอกจากนี้ งานแสดงต่างๆ ของซี.พี. ไม่ว่าจะเป็นงานบีโอไอแฟร์ หรือเวิลด์เทค ซึ่งจัดมาแล้ว ผู้เข้างานจะได้ชมสไลด์มัลติวิชั่น พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะโครงการในพระราชดำริเป็นปฐม แม้แต่งานเปิดตัว Super Brand Mall ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นงานใหญ่ล่าสุดในวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็มีนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับ Chia Tai International Progress Fair 2002 ด้วย

ผู้บริหารระดับสูงซี.พี.แสดงความภาคภูมิใจเสมอที่กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในโครงการในพระราชดำริ ซึ่งพิจารณาได้ใน 2 ระดับ ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ดูแลกิจการด้านนี้กล่าวกับผมว่า ในบรรดากิจกรรมทางสังคมของซี.พี. ส่วนสำคัญที่สุดคือ โครงการตามแนวพระราชดำริ ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว เริ่มต้นด้วยโครงการเกษตรกรรมผสมผสานในเนื้อที่นับพันไร่ ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จากนั้นก็มีอีกหลายโครงการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

อีกระดับหนึ่งที่ซี.พี.ได้เข้าไปมีส่วนสนับสนุนอย่างมาก โดยเฉพาะกับมูลนิธิโครงการหลวง วัลลภ เจียรวนนท์ กรรมการบริหารซี.พี.บอกว่า ซี.พี.มีส่วนร่วมมาตั้งแต่โครงการหลวงที่ดอยอ่างขาง โดยมีส่วนร่วมสนับสนุนการศึกษาและแสวงหาความร่วมมือกับรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา ตลอดจนเข้าไปมีส่วนในช่วงสั้นช่วงหนึ่งในการปรับปรุงการบริหารโครงการ ทั้งในด้านการบริหารทั่วไป การผลิต และการจำหน่าย ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของเครือข่ายกาญจนาภิเษก (ภายใต้พระราชดำริของสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) ใน www.kanchanapisek.net.th ซึ่งให้รายละเอียดโครงการหลวงไว้อย่างครบถ้วน และแสดงข้อมูลความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ไว้ด้วย ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานราชการในประเทศไทย โดยไม่เคยปรากฏชื่อหน่วยงาน ภาคเอกชนในประเทศไทยแม้แต่รายเดียว

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แนวทางของซี.พี.ดังกล่าว สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ซี.พี.ในการสร้างธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ ที่มีเป้าหมายชัดเจนที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรกรรมเดิมในระดับชุมชนและหมู่บ้าน ทั้งกระบวนการผลิตและบริโภค (ซึ่งก็คือลูกค้าสำคัญของซี.พี.) ความสำเร็จในเชิงธุรกิจของซี.พี.จึงมาจากความเข้าใจในวิวัฒนาการทางสังคม ที่ซี.พี.มีส่วนในการกระตุ้นและควบคุมวิวัฒนาการที่ว่านั้นไม่ทางตรงก็ทางอ้อม (อ่านเรื่อง Evolution ของวิรัตน์ แสงทองคำ ในคอลัมน์หมายเหตุธุรกิจ หน้า 62 ประกอบด้วย)

Golden Place เครือข่ายร้านค้าชุมชน

หนังสือพิมพ์รายวันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษของไทยได้ให้ความสำคัญ ลงข่าวบริษัท สุวรรณชาด จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อสร้างเครือข่ายร้านค้าชุมชนภายใต้ชื่อ Golden Place มาตั้งแต่ต้นปี 2544

บริษัทใหม่แห่งนี้มี ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และวัลลภ เจียรวนนท์ กรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งดูแลงานด้านสังคมของเครือฯ เข้าร่วมถือหุ้นคนละ 15% อย่างไรก็ตาม วัลลภ เจียรวนนท์ กล่าวกับผมล่าสุดว่า เขาทั้งสอง ได้ลดการถือหุ้นลงเหลือคนละ 10% เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งนี้เพื่อกันข้อครหาที่ว่าด้วยอำนาจในการบริหารบริษัทจำกัดตามกฎหมายว่า ผู้ถือหุ้นร่วมกันเกินกว่า 25% จะมีบทบาทในการโต้แย้งหรือคัดค้านการกระทำใดๆ ของผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม กรรมการที่เข้าบริหารบริษัทนี้มีผู้แทนพระองค์ 5 ท่าน (ดิสธร วัชโรทัย พิพิธ พิชัยศรทัต พลโททวีศักดิ์ ทวีศรี กวี อังศวานนท์ และทำนุ ธรรมมงคล) ในขณะที่ฝ่ายซี.พี.มี 4 ท่าน (วัลลภ เจียรวนนท์ มนตรี คงตระกูลเทียน สุเมธ ภิญโญสนิท ชรัส ลิขิตคุณวงศ์) ทั้งนี้การบริหารประจำวันจะอยู่ในความดูแลของฝ่ายซี.พี.

เครือข่ายของร้าน Golden Place ปัจจุบันมี 5 สาขา โดยมีเพียงสาขาเดียวในต่างจังหวัดที่หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จอย่างดี มียอดขายกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท กำไรมากถึง 30% ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 3%

ผู้บริหารซี.พี.จำเป็นต้องอธิบายแง่มุมนี้ในเชิงธุรกิจกันพอสมควร แนวความคิดสร้างเครือข่ายร้านชุมชนนี้ มิได้มุ่งกำไร หากเป็นโมเดลสำหรับพสกนิกรให้มีร้านค้าขายอาหารของตนเองที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษ สินค้าเหล่านี้เท่าที่สังเกตจากร้านสาขาที่ซี.พี.ทาวเวอร์ พบว่ามาจากหลายแหล่ง ทั้งสินค้าโครงการหลวงต่างๆ สินค้าจากชุมชนที่เลือกสรร รวมทั้งสินค้าจากซี.พี.ด้วย

"เรากำลังคิดและพัฒนาระบบเพื่อให้ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมสร้างเครือข่าย Golden Place" ผู้บริหารคนหนึ่งระบุ

Golden Place เกิดขึ้นท่ามกลางเครือข่ายค้าปลีกในสังคมไทยขยายตัวอย่างดุเดือด คืบคลานเกือบไปทั่วชุมชนขนาดกลางของไทย เครือข่ายที่ทรงอิทธิพลอย่างมากเหล่านี้ มาจากแรงบันดาลใจอย่างสูงของซี.พี.เสียด้วย

ซี.พี.เข้าสู่ธุรกิจนี้มาตั้งแต่ปี 2531 ด้วยการร่วมทุนกับธุรกิจค้าปลีกระดับโลกในการลงทุนธุรกิจ ตั้งแต่การสร้างเครือข่ายร้าน Discount Store ขนาดค่อนข้างใหญ่ โดยยึดพื้นที่เมืองใหญ่ หรือชุมชนขนาดใหญ่ ได้แก่ Makro และ Lotus (ต่อมาขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับ Tesco แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ เปลี่ยนชื่อเป็น Tesco Lotus) จนถึงร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) ด้วยการซื้อแฟรนไชส์ 7-Eleven ที่พัฒนาโดยญี่ปุ่น แล้วยึดพื้นที่ชุมชนขนาดกลางและเล็กทั่วประเทศ ปัจจุบัน 7-Eleven เปิดสาขาไปแล้ว 2002 สาขา

การรุกคืบธุรกิจค้าปลีกของต่างชาติ ต้องเผชิญแรงต้านไม่น้อยทั้งจากบรรดาธุรกิจค้าปลีกแบบเดิม จนถึงความพยายามของคนในรัฐบาลบางคน ในการเข้ามาแทรกแซงการเปิดธุรกิจค้าปลีกต่างชาติอย่างเสรี

บทสนทนาล่าสุดระหว่างธนินท์ เจียรวนนท์ กับผม ดูเหมือนเขากระตือรือร้นที่จะพูดเรื่องนี้อย่างมาก แน่นอนเขาย่อมจะยืนอยู่ฝ่ายถูกต่อต้าน เขาบอกว่าการเข้ามาของธุรกิจค้าปลีกของต่างชาติ เป็นวิวัฒนาการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จะส่งผลกดดันโดยตรงต่อธุรกิจค้าปลีกแบบเดิมซึ่งล้าหลังให้พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพ โดยผลดีสุดท้ายจะตกอยู่กับผู้บริโภค

ขณะเดียวกันการที่ธุรกิจต่างชาติเข้ามาแข่งขันกันเองในเมืองไทย นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวการลงทุนแล้ว ผู้บริโภคจะได้รับการบริการที่ดี ด้วยสินค้าที่ดี ยิ่งไปกว่านั้นเครือข่ายเหล่านี้จะเกื้อกูลให้ผู้ผลิตรายเล็กๆ ของไทย มีเครือข่ายจัดจำหน่ายสินค้าตนเองเป็นครั้งแรกๆ ที่จะเอื้อให้สามารถแข่งขันกับสินค้าอุปโภคบริโภคของบริษัทต่างชาติได้ด้วย หากเราจะไม่ให้ฝรั่งเข้ามาในธุรกิจนี้ ก็ต้องขจัดฝรั่งที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเดิมออกไปด้วย เขาสรุปด้วยความคิดที่ดูเป็นระบบมากขึ้น และดูเหมือนจะเป็นท่าทีที่สำคัญในสถานการณ์ขณะนี้

เป็นที่เข้าใจกันได้อย่างดีว่า การเกิดขึ้นของเครือข่ายร้านค้าชุมชน Golden Place นั้น ซี.พี.ได้อาศัยประสบการณ์ของการดำเนินธุรกิจค้าปลีกร่วมกับต่างชาติ พัฒนามาเป็นระบบการบริหารโดยเฉพาะของ Golden Place

ส่วนแนวทางสำคัญตามพระราชดำริฯ คือการสร้างร้านค้าที่มีบุคลิกเฉพาะขึ้นมา เพื่อดำรงอยู่ได้ท่ามกลางเครือข่ายค้าปลีกที่กำลังขยายตัวอย่างมากมาย

ร้านนี้คือโมเดลภูมิปัญญาของสังคมไทย ที่ไม่เพียงจะสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นทางออกอย่างหนึ่งของชุมชุนที่สามารถดำรงอยู่ได้ โดยไม่อยู่ภายใต้แรงกระตุ้นและครอบงำของเครือข่ายค้าปลีกของต่างชาติเท่านั้น

แน่นอนเป็นที่เชื่อกันว่า บุคลิกของ Golden Place ร้านค้าชุมชน ซึ่งขายสินค้าอาหารเป็นหลัก ตามความจำเป็นพื้นฐานที่สุดของสังคมไทยทุกระดับชั้น บุคลิกนี้แตกต่างจากเครือข่ายค้าปลีกของต่างชาติทั้งหมด ซึ่งเชื่อแน่ว่าเครือข่ายธุรกิจต่างชาติเหล่านั้น จะไม่ขยายชนิดสินค้าเข้ามาในแนวทางและแข่งขันกับ Golden Place อย่างแน่นอน

Golden Place มีความหมายยิ่งใหญ่ที่รวมเอาความคิดธุรกิจสมัยใหม่ที่ประสานเข้ากับแนวทางของสังคมไทย ที่คงความมีบุคลิกของตนไว้ ทั้งความคิดรวบยอดและการสร้างเครือข่ายของตนเอง

แบรนด์แห่งชาติ

แบรนด์สุวรรณชาด เป็นตราสินค้าพระราชทาน นอกจากจะเป็นตราสินค้าแห่งชาติแล้ว ยังเป็นโมเดลสำคัญที่สุดในการสร้างตราสินค้าไทยขึ้นท่ามกลางกระแสนิยมตราสินค้าต่างชาติของคนไทยที่ดูไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร

แบรนด์สุวรรณชาด ถูกสร้างขึ้นด้วยระบบคิดและบริหารธุรกิจสมัยใหม่อย่างครบชุด ซึ่งดูเหมือนว่าทีมงานกำลังทุ่มเททำงานเต็มที่จะมาจากหลายฝ่าย แต่ต้องยอมรับว่าบุคลากรของซี.พี.มีบทบาทสำคัญไม่น้อย

ซี.พี.ซึ่งเพิ่งนำเข้าตราสินค้าจากตะวันตกเข้าสู่เมืองไทยอย่างฮือฮา และดูเหมือนประสบความสำเร็จเกินคาดมาแล้ว นั่นคือการเข้ามาของ Orange แบรนด์ผู้ให้บริการโทรศัพท์ไร้สายของไทยรายที่สาม (Orange เดิมเป็นแบรนด์ของบริษัทในอังกฤษ ต่อมาถูกซื้อกิจการ กลายเป็นธุรกิจโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส)

Orange กลายเป็นสินค้าที่กำลังแทรกตัวเข้าไปในชุมชนและเข้าถึงพลเมืองรุ่นใหม่ของไทยอย่างรวดเร็วและรุนแรง นิตยสาร "ผู้จัดการ" เคยเสนอเรื่องราวนี้อย่างละเอียดในเรื่องจากปกเมื่อเดือนมีนาคม 2545 ที่ผ่านมา และบังเอิญที่ผู้จัดการฉบับที่ท่านผู้อ่านถืออยู่นี้ มีเรื่องนี้ในตอนต่อไปของ Orange โดยเฉพาะด้วย (อ่าน Import Brand หน้า 136)

ทีเอ ออเร้นจ์ เป็นบริษัทใหญ่ที่ตั้งขึ้นใหม่ล่าสุดของซี.พี.บริหารงานโดย ศุภชัย เจียรวนนท์ บุตรชายคนที่สองของธนินท์ เจียรวนนท์ ธนินท์เองก็ให้ความสำคัญกับบริษัทนี้มากทีเดียว เขาเข้าร่วมประชุมโดยสม่ำเสมอ รวมไปถึงเป็นคนเปิดงานของบริษัทหลายครั้งหลายครา บริษัทนี้เป็นธุรกิจใหม่ของซี.พี. เป็นธุรกิจภายใต้แนวทางใช้ความรู้ของกระแสหลักของโลกมาประยุกต์เข้ากับเมืองไทย เช่นเดียวกับแนวทางแต่ไหนแต่ไรมาของซี.พี. เพียงแต่ว่าความรู้และประสบการณ์จากตะวันตกครั้งนี้ ยกระดับสูงขึ้นสู่นามธรรมที่ว่าด้วยตราสินค้า (Brand) ซึ่งธนินท์แม้วัยจะล่วงเลยไปมาก แต่เขายังคงมีความทันสมัยเสมอ ล่าสุดเขาบอกผมว่าแบรนด์เป็นเรื่องสำคัญมาก

เขายกตัวอย่าง Microsoft กับ McDonald ให้ฟัง ธนินท์เชื่อว่าแบรนด์มีความหมายเหนือระบบการบริหารการจัดจำหน่ายทั้งปวง เขาบอกว่าทั้งสองแบรนด์ที่ว่ามาข้างต้น อาศัยเพียงชื่อแบรนด์เท่านั้น โดยไม่มีระบบการผลิต การจำหน่ายของตนเองเลย เจ้าของแบรนด์ใช้มันสมองเพื่อรักษาและพัฒนาอย่างเดียว ที่เหลือสามารถใช้เครือข่ายของคนอื่นได้ทั่วโลก

ในเรื่องแบรนด์สุวรรณชาด ธนินท์ เจียรวนนท์ มีความเชื่อมั่นเช่นกันว่า สามารถสร้างเป็นตราสินค้าระดับโลกได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แผนการสร้างแบรนด์แห่งชาติภายใต้ชื่อสุวรรณชาด ที่เริ่มต้นด้วยเสื้อยืดโปโลรุ่นทองแดง ซึ่งน่าจะประสบความสำเร็จอย่างมากทีเดียวในสังคมไทย โดยที่ซี.พี.มีบทบาทสนับสนุน ด้วยความเป็นผู้ที่เข้าใจและมีประสบการณ์ในการบริหารแบรนด์มาแล้ว แม้ว่าดูเหมือนจะไม่มีประสบการณ์การสร้างแบรนด์ไทยระดับโลกโดยตรง

เรื่องนี้เป็นเป็นคำถามที่ผมได้ตั้งขึ้นกับผู้บริหารซี.พี.ด้วย

ธนินท์ เจียรวนนท์ ตอบคำถามไม่ตรงเสียทีเดียว เขาบอกว่าอาหารสำเร็จรูป-ไก่แปรรูป ของซี.พี.เป็นสินค้าครองตลาดใหญ่ที่สุดในโลก เช่นเดียวกันอาชว์ เตาลานนท์ ผู้บริหารซี.พี.คนสำคัญอีกคน ตอบว่า ซี.พี.มีแบรนด์ในต่างประเทศจำนวนมาก แต่ละแบรนด์จะสอดคล้องกับแต่ละประเทศ แต่ละท้องถิ่น ขณะเดียวกัน เขายอมรับว่าแนวทางการสร้างแบรนด์ระดับโลกเป็นแนวทางสำคัญของซี.พี. ผมจึงสรุปได้ว่าซี.พี. แม้จะเป็นกิจการไทยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในต่างประเทศ ก็ยังไม่มีแบรนด์ระดับโลกของตนเอง ทั้งๆ ที่ธนินท์เชื่อว่าแบรนด์ระดับโลกสร้างได้ภายในเวลาไม่นานนัก

แบรนด์สุวรรณชาด มีความยิ่งใหญ่ทางความคิด เป็นโมเดลสำหรับธุรกิจไทยที่กำลังเข้าสู่เกมการแข่งขันระดับโลก ที่ต้องไต่บันไดไปสู่การสร้างแบรนด์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทยอีกทางหนึ่งที่ทรงพลัง สร้างกระแสความนิยมสินค้าไทยที่มีมาตรฐานระดับโลกขึ้นได้อย่างมิพักสงสัย

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ซี.พี. ที่แม้จะยังไม่ได้สร้างแบรนด์ระดับโลก และดูเหมือนจะยังไม่สร้างแบรนด์เชื่อมโยงกับสังคมไทยมาก่อน ได้ซุ่มดำเนินการเปิดร้านอาหารไทยไทย (Thai Thai) ขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับที่เชื่อกันว่าสังคมไทยกำลังตื่นตัวกับแบรนด์แห่งชาติ "สุวรรณชาด" โดยเปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการทั้งที่ Super Brand Mall ที่นครเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา และที่ซี.พี.ทาวเวอร์ ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้

ซี.พี.ได้ชื่อว่าสร้างอาณาจักรธุรกิจระดับภูมิภาคสำเร็จ และยืนยงอยู่ได้ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจหลายรอบ เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่มากที่สุด ในบรรดาธุรกิจไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาก็ว่าได้ บทเรียนสำคัญของความสำเร็จนั้นดูเหมือนว่า จะได้มาจากแนวทางที่ชัดเจนมากที่สุดแนวทางหนึ่ง

แนวทางของการใช้ความรู้และเทคโนโลยีระดับโลกมาประยุกต์เข้ากับสังคมท้องถิ่น โดยเฉพาะในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหาร ค้าปลีก และสื่อสาร แนวทางนี้ยังดำเนินต่อไปเข้มข้นมากขึ้นๆ

แน่ละ ประสบการณ์ของซี.พี.มีคุณค่าไม่น้อยในการสร้างโมเดลธุรกิจของไทยที่มีบุคลิกเฉพาะขึ้นอย่างแท้จริงได้ แต่ดูเหมือนเวลานั้นยังมาไม่ถึง

ตามแนวทางพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สะท้อนมาสู่โครงการเพียง 2 โครงการ มีความหมายอย่างยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นภาคสังคมโดยรวมที่กำลังดำรงอยู่กับสังคมที่วิวัฒนาการไปในสิ่งที่เรียกว่า "ชีวิตสมัยใหม่" กับโลกที่ผนึกเป็นเนื้อเดียว ไปจนถึงชีวิตพสกนิกรพื้นฐานของสังคมไทยที่จำเป็นต้องเรียนรู้การผลิตที่ทันสมัย เรียนรู้ในการสร้าง และใช้เครือข่ายสมัยใหม่ เพื่อสร้างผลผลิตให้มีคุณค่ามากขึ้นสำหรับการดำรงชีวิต แน่นอนที่สุด สำหรับบรรดาธุรกิจซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่จำเป็นต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

แน่นอนที่สุด บทเรียนนี้บอกว่ามิติทางความคิดที่กว้างขวางและทรงพลานุภาพนั้น เกิดจากความคิดที่เชื่อมโยงกับสังคมโดยรวมอย่างลึกซึ้งและแนบแน่น แนวทางนี้สามารถนำไปใช้ได้ทุกมิติ แม้แต่ธุรกิจ ก็จะทำให้ธุรกิจมีคุณค่ามากขึ้น ทั้งตัวธุรกิจเองและสังคมแวดล้อมธุรกิจนั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.