มรณกรรมของรัฐสวัสดิการ


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เกิดมาเพื่อต่อสู้กับการไม่มีงานทำในยุคหลังสงครามโลก แต่ขณะนี้รัฐสวัสดิการกำลังเผชิญกับอนาคตที่จะขาดแคลนแรงงาน

ข่าวมรณกรรม : Stockholm, 2012 รัฐสวัสดิการถึงแก่มรณกรรมเสียแล้วเมื่อคืนนี้ที่บ้าน สิริรวมอายุ 66 ปี เกิดในลอนดอน หลังสงคราม โลกครั้งที่ 2 อุดมการณ์ในชีวิตคือ เพื่อรักษาความสงบในสังคมที่มีคนล้นงาน เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่สวัสดิการเงินบำนาญ สวัสดิการสุขภาพ และสวัสดิการช่วยคนตกงาน ทำให้คนทั้งหลายมีความสุข โดยเฉพาะในสวีเดน ซึ่งรัฐสวัสดิการมีความกรุณาสูงสุด แต่ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา แพทย์ทั้งหลายได้รับคำเตือนว่า สุขภาพของรัฐสวัสดิการ เริ่มไม่แข็งแรงสมบูรณ์พอสำหรับยุโรปใหม่ ซึ่งกำลัง มีคนทำงานน้อยเกินไป จนไม่สามารถจะแบกรับภาระเลี้ยงดูประชากร สูงอายุ ที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วได้ ความใจดีมีเมตตาของรัฐสวัสดิการ กลับกลายเป็นวิธีช่วยชีวิตที่เป็นอันตรายต่อการผลิต ทำให้รัฐสวัสดิการเองได้รับบาดเจ็บจากการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับรัฐอื่นๆ จนถึงเมื่อคืนวานนี้ แม้แต่ชาวสวีเดน เองก็จำต้องถอดเครื่องช่วยหายใจออก สาเหตุการเสียชีวิต : ล้มเหลวที่จะเปลี่ยนแปลง

นักประพันธ์ Paul Hewitt ทำนายว่า รัฐสวัสดิการจะพบ "จุดจบ" โดยจะเกิดวิกฤติการณ์ที่อาจทำให้ต้นศตวรรษที่ 21 เกิดความโกลาหลวุ่นวายไม่ผิดกับสงครามโลกทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ในฐานะนักวิชาการประจำ Center for Strategic and International Studies ซึ่งตั้งอยู่ในวอชิงตัน Hewitt ชี้ว่า การหดตัวลงของจำนวนประชากรวัยทำงานจะบ่อนทำลายการเติบโตของประเทศต่างๆ ตั้งแต่สหรัฐฯ จนถึงญี่ปุ่น ซึ่งจะนำไปสู่วงจรอุบาทว์ของการตกต่ำทางเศรษฐกิจ ที่จะเริ่มจากการหดตัวของดีมานด์ ตามด้วยการหดตัวของกำไร การตกต่ำของราคาหุ้น และอาจถึงขนาด "เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบไปถึงรัฐสวัสดิการเองด้วย"

รัฐสวัสดิการจะถึงกาลอวสานจริงหรือ อย่างที่เราทราบกันว่า รัฐสวัสดิการมีกำเนิดมาจากจิตวิญญาณ "New Jerusalem" ในอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากความคิดของ William Beveridge นักเศรษฐศาสตร์สาย Keynes และเป็นตัวเป็นตนขึ้นได้ด้วยความกลัวไม่มีงานทำ

ด้วยเหตุนี้ รัฐสวัสดิการจึงยากที่จะปรับตัวเข้ากับโลกที่กำลังจะเผชิญกับการขาดแคลนแรงงาน "รัฐสวัสดิการถูกสร้างขึ้นเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่คนรุ่นปู่ของเราเผชิญ" ศาสตราจารย์ Gosta Esping-Anderson แห่งมหาวิทยาลัย Pompeu Fabra ใน Barcelona กล่าว แต่เมื่อจำนวนชาวยุโรปที่มีอายุมากกว่า 60 เพิ่มจำนวนขึ้น ในขณะที่ประชากรวัยทำงานหดตัวลง ก็มีบางอย่างที่ถึงเวลาต้องเปลี่ยน เพราะจะไม่มีประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมากพอ ที่จะรับภาระเลี้ยงดูประชากรวัยเกษียณได้อีกต่อไป ทางแก้ปัญหาที่คิดกันก็เช่น ให้สตรีที่แต่งงานแล้วไปทำงานมากขึ้น เปิดประเทศรับแรงงานต่างด้าวมากขึ้น และยืดอายุเกษียณออกไป

แน่นอน การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ทรมานและเจ็บปวด แต่มันกำลังจะเกิดขึ้น ต้นปีนี้คณะกรรมาธิการยุโรปได้แนะว่า อายุเกษียณน่าจะยืดออกไปอีก 5 ปี ภายในปี 2010 ชาวยุโรปคงจะไม่ชอบใจ แต่ถ้าต้องเลือกระหว่างการถูกเก็บภาษีมากขึ้นกับการทำงานนานขึ้น พวกเขาก็อาจต้องยอมที่จะเกษียณอายุช้าลง ส่วนการต่อต้านแรงงานต่างด้าวก็คงจะไม่อาจทำได้อีกต่อไป

อังกฤษ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดความคิดรัฐสวัสดิการ อาจกลายเป็นประเทศต้นแบบในการเปลี่ยนแปลงเสียเอง เพราะอังกฤษไปไกลกว่าใครๆ ในเรื่องกองทุนบำนาญข้าราชการและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเอกชน ซึ่งแม้แต่รัฐสวัสดิการชั้นดีอย่าง สวีเดนและเยอรมนียังต้องเดินตาม

ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยทำให้บัญชีงบประมาณประเทศสมดุล แต่ศาสตราจารย์ Peter Taylor-Gooby แห่งมหาวิทยาลัย Kent ชี้ว่า จะส่งผลเพิ่มระดับความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องรายได้ในหมู่ผู้รับบำนาญ เขายังกล่าวต่อไปว่า รัฐสวัสดิการอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยง "การเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน" ได้นานนัก และถ้านั่นหมายถึง "จุดจบ"

จุดจบนั้นก็ใกล้จะมาถึงแล้ว และจะถึงขั้นเกิดกลียุคไหม Bernd Marin แห่ง European Center for Social Welfare Policy and Reserch จะเป็นผู้ตอบคำถามนี้ "การล่มสลายของระบบรัฐสวัสดิการจะเกิดขึ้นระหว่างปี 2012-2015 หากไม่มีใครลงมือทำอะไรตั้งแต่เดี๋ยวนี้" เขาคาดหวังให้รัฐเริ่มปฏิรูปไปทีละน้อยๆ แต่ต้องเร็วพอที่จะนำหน้าวิกฤติการณ์ที่อาจเกิดขึ้นก้าวหนึ่งเสมอ

แม้ว่าข่าวมรณกรรมของรัฐสวัสดิการอาจจะเขียนขึ้นเร็วเกินไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นความจริง การล้มเหลวที่จะเปลี่ยนแปลงสามารถเป็นสาเหตุการตายได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.