ASPเผย3กลุ่มถูกควบมากสุด เทคโอเวอร์ทั่วโลก3ล้านล้านUS


ผู้จัดการรายวัน(21 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

“ก้องเกียรติ” โชว์สถิติเทกโอเวอร์ทั่วโลก 5 ปีที่ผ่านมา มี 2 หมื่นรายการต่อปี มูลค่า 3 ล้านล้านเหรียญ "เอเซียแปซิฟิค" ปีละ 6 พันรายการ มูลค่า 3 แสนล้านเหรียญ กลุ่มแบงก์ อสังหาฯ หลักทรัพย์ ควบรวมมากสุด ด้าน"กิติพงศ์- เบเคอร์ฯ" ชี้ผลสำรวจเทคโอเวอร์ในต่างประเทศสำเร็จ 49% และไม่ประสบความสำเร็จ 50%

วานนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้จัดสัมมนาเรื่อง “M&A-Create The Power to Strengthen Your Business”

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหารบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP เปิดเผยว่า จากสถิติการควบรวมกิจการทั่วโลก 5 ปีที่ผ่านมา มีการควบรวม 20,000 รายการ ต่อปี มูลค่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งกลุ่มที่มีการควบรวมมากที่สุด 3 กลุ่ม คือ กลุ่มธนาคาร โทรคมนาคม และค้าปลีก

สำหรับสถิติการควบรวมกิจการในเอเซียแปซิฟิก 5 ปีที่ผ่านมามีการควบรวม 6,000 รายการต่อปี คิดเป็น 1ใน 3 ของโลก รวมมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1 ใน 10 ของโลก ซึ่งกลุ่มที่มีการควบรวมมากที่สุด คือ กลุ่มธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ และหลักทรัพย์

ทั้งนี้ในอนาคตนั้นจะมีการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งในอนาคตจะไม่มีกำแพงในเรื่องของภาษี ทำให้ต้องลดต้นทุน เป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์และขยายตลาด แลกเปลี่ยนความชำนาญและทรัพยากร รวมศักยภาพทางการผลิต จำกัดการแข่งขันในอุตสาหกรรม และเป็นการขยายธุรกิจใหม่ จึงมีการเทคโอเวอร์

สำหรับข้อควรระวังในควบรวมกิจการ คือ เป้าหมายในการควบรวมกิจการไม่ชัดเจน นั้นจะทำให้ควบความรวมกิจการล้มเหลว เพราะ มีเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน วัฒนธรรมองค์กรเข้ากันไม่ได้ และ แผนของธุรกิจที่วางไว้ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งก่อนที่จะมีการดำเนินงานนั้นจะต้องมีแผนที่ชัดเจนก่อนทำสัญญา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ส่วนบริษัทเป้าที่จะถูกควบรวมกิจการ คือ บริษัทที่มีมูลค่ามูลค่าหุ้นที่ต่ำต่อความเป็นจริง ทำให้เป็นช่องทางที่ทำให้ถูกการซื้อกิจการ ซึ่งการควบรวมกิจการถือว่าเป็นกลไกสร้างสีสันให้กับตลาดหุ้น รวมถึงเป็นการลดต้นทุนการดำเนินงาน

นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กล่าวว่า การควบรวมการในต่างประเทศถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกวัน มีวิธีการป้องกันการถูกเทกโอเวอร์ เช่น ดูแลเฝ้าระวัง เลิกจ้างฝ่ายบริหารหรือฝ่ายจัดการ ปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยแยกบริษัทย่อยที่สำคัญออก หรือซื้อหุ้นคืน เปลี่ยนข้อบังคับ เช่น มีการทำข้อตกลงว่าหากต้องการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหาร ต้องชำระเงินคืนเจ้าหนี้ทั้งหมดก่อน หรือมีการแก้กฎหมายให้บริษัทที่ถูกเทกโอเวอร์มีทางต่อสู้มากขึ้น จากเดิมที่สามารถซื้อหุ้นคืนกลับมาใหม่ได้ 10% เป็นการซื้อหุ้นได้ 100% เหมือนในต่างประเทศ และการเพิ่มทุน เพื่อให้ตัวเองได้หุ้นเพิ่มขึ้น

ส่วนวิธีการปฏิบัติกรณีที่บริษัทถูกเทกโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร คือ เตรียมการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง วางยาโดยไม่ให้อีกฝ่ายเข้ามาทำอะไรต่อทรัพย์สินได้ ซื้อหุ้นเก็บ เจรจาสงบศึก ตั้งโต๊ะซื้อแข่งกัน ทำบริษัทขาดทุนโดยการโอนทรัพย์สิน ให้พนักงานลาออก หรือยกเลิกสัญญาต่างๆ และวิธีสุดท้ายไปซื้อบริษัทที่เข้ามาเทกโอเวอร์บริษัทของตัวเอง ซึ่งต้องใช้เงินสูงมาก

ทั้งนี้ข้อคิดในการควบรวมกิจการดูด้านการเงินว่าจะนำเงินมาจากไหน และจะซื้อเป็นเงินสด หรือ เงินกู้จากธนาคาร รวมทั้งวิเคราะห์ถึงผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งในต่างประเทศจากผลสำรวจพบว่าการควบรวมกันที่ประสบความสำเร็จมี 49% และไม่ประสบความสำเร็จ 50% นอกจากนี้ต้องศึกษารูปแบบว่าจะซื้อสินทรัพย์ หรือซื้อหุ้น หรือซื้อทั้งสองอย่าง

อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการที่ดีต้องขึ้นอยู่กับภาษี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะดูว่าการรวมกันสำเร็จหรือไม่ ผู้ซื้อดูว่าบริษัทที่ซื้อยังมีผลขาดทุนอยู่หรือไม่ การขายหุ้นเสียภาษีเท่าไหร่เมื่อซื้อในตลาดหรือนอกตลาด ตลอดจนภาษีองค์กรที่จะควบรวมกัน ระยะเวลาก็นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เพราะหากยิ่งนานเท่าไหร่ข่าวลือยิ่งมีมากขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบต่อการควบรวมกัน

มล.ชโยทิต กฤดากร กรรมการผู้จัดการ บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การควบรวมกิจการเกิดขึ้นได้หลายลักษณะเช่นทั้ง 2 บริษัทตกลงกัน ว่าคุ้มค่ากับการรวบรวมกัน หรือ คุ้มค่าที่จะขายกิจการให้กับเขาแต่บางกรณีนั้น ถ้าเกิดว่าบางบริษัทมีการเจรจากันในตลาดมีการซื้อขายในตลาดที่ต่ำเกินไปกว่าราคาตามมูลค่าทางบัญชี ก็เป็นเหตุให้ผู้ที่ต้องการจะเทคโอเวอร์ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นกลไกสำคัญของ M&A จะเป็นการช่วยขยายธุรกิจ ลดต้นทุน และการแบ่งแยกความชัดเจนของธุรกิจ จึงทำให้ในเมืองนอกมีบริษัทที่รอคอยจะเข้าคโอเวอร์เป็นจำนวนมากว่ามีหุ้นกลุ่มไหนบ้างหรือหุ้นตัวไหนบ้างที่มีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีก็อาจจะถูกเทคโอเวอร์ได้ แต่ในเมืองไทยมีไม่มาก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.