|

"สุริยะ"ไฟเขียวโซวกังตั้งโรงถลุงลุ้นร่วมทุนSSIดันไทยศูนย์กลาง
ผู้จัดการรายวัน(21 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัทโซวกัง อาซี(ประเทศไทย) จำกัดซึ่งเป็นบริษัทเหล็กของจีนอีกหนึ่งแห่งที่จะเดินทางมาพร้อมคณะนักธุรกิจจีนเพื่อประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีนระหว่าง 21-23 ก.ย.นี้ ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนกิจการโรงถลุงเหล็กครบวงจรมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ว่า เรื่องดังกล่าวกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้บีโอไอไปศึกษารายละเอียดแล้ว โดยนโยบายของรัฐบาลยืนยันที่จะไม่ปิดกั้นการลงทุนสำหรับกิจการโรงถลุงเหล็กที่เป็นการลงทุนในกิจการต้นน้ำแต่อย่างใด
" ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามการแข่งขันเราก็จะให้ตามสิทธิประโยชน์ที่บีโอไอให้แก่กิจการโรงถลุงซึ่งก็คงจะเท่ากับสหวิริยา ซึ่งเรื่องนี้ทางสหวิริยาก็รู้อยู่แล้ว ส่วนหลายคนมองว่าพื้นที่ที่เขาไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไม่น่าจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมนั้นผมคิดว่าถ้าเขาไม่คิดว่าคุ้มทุนเขาคงไม่กล้ามาลงทุนแน่ แต่รายละเอียดยังไม่ทราบชัด และการที่เขาจะเลือกไปร่วมลงทุนกับสหวิริยาแทนซึ่งมีแผนลงทุน 15 ปีถึง 5 แสนล้านบาทหรือไม่เป็นเรื่องทางธุรกิจของเอกชนที่จะไปหารือกันเองรัฐบาลคงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว"นายสุริยะกล่าว
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ทางบีโอไอได้แจ้งเรื่องดังกล่าวมายังกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วซึ่งได้มอบให้ทุกฝ่ายไปศึกษาถึงแผนการลงทุนดังกล่าวที่แน่นอนเนื่องจากรายละเอียดของแผนการลงทุนของบริษัทโซวกังฯ ยังไม่ค่อยแน่ชัด อย่างไรก็ตามส่วนตัวแล้วเห็นว่าไทยนั้นเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กในภูมิภาคเนื่องจากมีภูมิศาสตร์ที่ใกล้กับแหล่งแร่ที่จะเป็นวัตถุดิบในการถลุงเหล็กคือประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเมื่อเทียบกับการขนสินแร่ไปยังจีนโดยตรงก็จะมีต้นทุนที่สูงกว่า ไม่เพียงเท่านั้นออสเตรเลียก็ยังมีแหล่งถ่านหินที่จะนำมาเป็นเชื้อเพลิงได้ดีอีกด้วย
"ส่วนตัวผมแล้วหากโซวกังฯ ร่วมทุนกับสหวิริยาเพื่อทำเหล็กครบวงจรได้ก็จะดีมากๆ เพราะจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางเหล็กได้ง่ายขึ้นเพราะจีนเองเวลานี้มีเทคโนโลยีที่ดีและต้นทุนต่ำ ส่วนไทยก็ใกล้แหล่งสินแร่และถ่านหิน ที่สำคัญท่าเรือของสหวิริยาก็รองรับการขนส่งสินค้าเหล็กได้ดี เมื่อเทียบกับที่นิคมฯมาบตาพุดหรือแหลมฉบังที่พื้นที่จำกัดและท่าเรือไม่สามารถรองรับกิจการเหล็กเป็นการเฉพาะได้ดีเท่าใดนัก"นายจักรมณฑ์กล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า จากผลการศึกษาเบื้องต้นยอมรับว่ารายละเอียดที่ทางโซวกังฯเสนอมานั้นยังไม่มีการระบุชัดเจน ซึ่งหากโรงถลุงของโซวกังฯตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดตามที่แจ้งมาจริงและมีโรงเหล็กรีดร้อนและรีดเย็นพร้อมกันด้วยก็จะทำให้การลงทุนจะคุ้มค่ากว่าการตั้งโรงถลุงเพียงอย่างเดียวเพราะในส่วนของผู้ที่ได้รับการส่งเสริมฯไปก่อนหน้านี้แถบตะวันออกคือกลุ่มของ บริษัท จีสตีล จำกัด (มหาชน) และบริษัทนครไทยสตริปมิลด์ จำกัด(มหาชน)หรือ NSM ก็จะมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องป้อนด้วยแต่ก็ยังคงติดขัดว่าพื้นที่นิคมฯมาบตาพุดไม่มีแล้วจึงไม่แน่ใจว่าโซวกังฯจะตั้งที่ใดแน่ ขณะเดียวกันท่าเรือมาบตาพุดก็เป็นท่าเรือที่มุ่งรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
โครงการของบริษัทโซวกังฯ เบื้องต้น เป็นโครงการผลิตเหล็กครบวงจร ตั้งแต่โรงถลุงเหล็ก-เหล็กแท่งทรงแบน (slab) และการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน มูลค่าการลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละ 4 ล้านตัน ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยกำลังการผลิตดังกล่าวจะส่งออกประมาณ 75% จำหน่ายให้กับผู้ใช้ในประเทศไทย 25% ส่วนวัตถุดิบสินแร่เหล็กจะนำเข้ามาจากหลายแหล่ง อาทิ ออสเตรเลีย, บราซิล
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|