3การไฟฟ้าทึ้งส่วนแบ่งวุ่น กฟผ.อ้างแปรรูปต้องได้สูง


ผู้จัดการรายวัน(21 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

กฟผ.ยืนยันแผนการเกลี่ยรายได้จากการขายส่งไฟฟ้าให้ กฟน.และกฟภ.ต้องได้รับผลตอบแทน 8.7% เหตุต่ำกว่านี้ถือว่าไม่สามารถเป็นหุ้นบลูชิพ ดังนั้นก็ไม่สมควรเข้าตลาดฯ แจงเฉือนเนื้อให้เพิ่มแล้ว 2,000 ล้านบาท ขณะที่"คลัง"เล็งศึกษาปรับแผนเพื่อหาข้อยุติ 2 ไฟฟ้าต้านเกลี่ยรายได้ให้ต่ำด้วยการไม่นำ กฟน.- กฟภ.เข้าตลาดฯ แต่จะจัดเป็นรูปบริษัท จำกัด แล้วดึงธุรกิจบริการบางส่วนแปรรูปเข้าตลาดฯแทน สหภาพฯกฟน.- กฟภ.ชี้ท้ายสุดผลักค่าไฟให้คนไทยรับ ด้านเครือข่ายไฟฟ้า-ประปาเปิดโต๊ะให้คนกทม.ลงชื่อต้านนำกฟผ.เข้าระดมทุนฯที่หน้าตลาดฯและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 7-14 ต.ค.นี้

แหล่งข่าวจากบริษัทกฟผ.จำกัด(มหาชน)เปิดเผยว่า การเจรจาเกลี่ยรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าขายส่งของ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ บมจ.กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ซึ่งทางกฟผ.ยืนยันที่จะได้รับผลตอบแทนจากการเกลี่ยค่าไฟ 8.7 % ส่วน กฟภ.- กฟน.ได้ผลตอบแทน 4.5% โดยจากการพิจารณาแล้วคงไม่สามารถลดผลตอบแทนของกฟผ.ได้อีก เนื่องจากจะไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนให้มาซื้อหุ้นกฟผ.ได้ และท้ายสุดหากเข้าไปแล้วหุ้นไม่เป็นที่สนใจ หรือไม่เป็นหุ้นที่มีศักยภาพ(บลูชิพ) ก็ไม่ควรจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์


"ในระดับที่ 8.7% ถือว่า กฟผ.ได้ยอมที่จะลดลงให้แล้ว จากระดับที่ควรจะเป็นคือเกินกว่า 9 % ซึ่งเรื่องดังกล่าวทาง 2 การไฟฟ้าจะยอมหรือไม่อย่างไรก็คงเป็นหน้าที่ของทางกระทรวงพลังงาน และคลังที่จะสรุป แต่ กฟผ.เห็นว่าหากต่ำกว่านี้ก็จะไม่เป็นหุ้นบลูชิพและถ้าเป็นเช่นนั้นในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าก็ไม่ควรเข้าตลาดฯ"แหล่งข่าว กฟผ.กล่าว

ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขเดิมกฟผ.จะใช้หลักการจำหน่ายขายส่งไฟฟ้าให้ 2 การไฟฟ้า โดยมีการคิดค่าส่วนลบและส่วนเกินให้ เช่น การขายลดให้กับ กฟภ.แล้วจะบวกเพิ่มในส่วนของกฟน. โดยวงเงินรวมจะอยู่ประมาณ 4,000 กว่าล้านบาทบวกลบส่วนเพิ่มประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่เมื่อเป็นบริษัทแล้วจะต้องไม่มีกลไกที่ซับซ้อน รัฐจึงหารือที่จะกำหนดให้กฟผ.ขายส่งไฟฟ้าด้วยการใช้ราคาเดียว ณ ระดับแรงดันเดียวกันคิดเป็นเงินเฉลี่ยปีละ 8,000 ล้านบาท โดยกฟน.และกฟภ.ต้องไปบริหารเงินก้อนนี้เอง

**ศึกษาปรับแผนดัน 2 ไฟฟ้าเข้าตลาดฯ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้คลังกำลังพิจารณาในแง่ของการเกลี่ยรายได้ให้ 3 การไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยยอมรับว่า เมื่อกฟผ.เข้าระดมทุนฯรายได้ควรจะอยู่ในอัตราที่จูงใจนักลงทุน แต่หากให้ 2 การไฟฟ้าจำหน่ายได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่า ทั้ง 2 องค์กรไม่เห็นด้วย เพราะจะมีผลต่อฐานะการเงินในเมื่อรัฐระบุว่าจะนำเข้าตลาดฯต่อไป ดังนั้นเรื่องดังกล่าวกำลังหารือร่วมกับกระทรวงพลังงานและมหาดไทยที่จะทบทวนการนำ 2 การไฟฟ้าเข้าตลาดฯ ด้วยการจดทะเบียนเป็นเพียงบริษัท จำกัด แล้วดึงธุรกิจด้านบริการมาแปรสภาพแทนได้หรือไม่

"คงจะต้องศึกษารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพราะหากรายได้ 2 การไฟฟ้าต่ำก็จะอยู่ลำบากเหมือนกัน ซึ่งก็มีผู้เสนอว่าการลงทุนที่เป็นด้านสาธารณะเช่น ไฟสาธารณะ การลงทุนสายไฟลงดินก็ให้รัฐบาลลงทุนแทนจะได้ไหม เรื่องนี้คงจะต้องสรุปให้เร็วแต่คิดว่าคงจบ" แหล่งข่าว กล่าว

นายเพียร ยงหนู ประธานเครือข่ายปกป้องไฟฟ้าและประปาเพื่อประชาชนและ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟน. กล่าวว่า ปัจจุบันกฟน.รับซื้อไฟจากกฟผ.ในระดับกว่า 2 บาทและกำหนดขาย 1-5 หน่วยแรกให้ใช้ฟรี 100-150 หน่วยคิดที่ระดับ 2.23 บาทต่อหน่วย และ 150-400 หน่วย คิด 2.97 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะเห็นว่าจะได้กำไรจริงมาจากระดับ 400 หน่วยขึ้นไป แต่กฟน.ต้องลงทุนสายส่งใต้ดินจำนวนมากหากเกลี่ยรายได้ให้ต่ำกฟน.ก็จะไม่สามารถลงทุนบริการที่ดีได้ ท้ายสุดรัฐก็อาจจะจบด้วยการผลักภาระค่าไฟกับประชาชนในอนาคต

**เปิดโต๊ะลงชื่อต้าน กฟผ.เข้าตลาดฯ

นายเพียร กล่าวว่า หากการแปรรูปไม่สามารถทำให้เกิดการแข่งขัน และนำมาซึ่งค่าไฟถูกได้ก็ไม่ควรจะแปรรูปกิจการไฟฟ้าและประปา ดังนั้นเครือข่ายจะทำการคัดค้านนำกฟผ.เข้าระดมทุนในตลาดหุ้น ด้วยการจัดพิมพ์เอกสารเปิดผนึก 1 แสนฉบับ แจกประชาชนชี้แจงเกี่ยวกับค่าไฟฟ้า และระหว่างวันที่ 7-14 ต.ค.นี้ จะเปิดโต๊ะให้ประชาชนในกทม. ลงชื่อคัดค้านการแปรรูปกฟผ.ที่บริเวณหน้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจุดที่ 2 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกันนี้จะเดินสายไปยังต่างจังหวัดพร้อมๆกันด้วย

นายสุดเจริญ สมซม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟภ. กล่าวว่า การเกลี่ยรายได้ให้กฟผ.มีผลตอบแทนที่ดีเพราะต้องการแต่งตัวเข้าตลาดฯ แต่การที่จะทำให้ 2 การไฟฟ้ามีฐานะการเงินที่ย่ำแย่ ก็ไม่ถูกต้อง เพราะปัจจุบันจุดคุ้มทุนของกฟภ.ในการขายไฟฟ้าจะอยู่ในระดับ 2.70 บาทต่อหน่วยแต่ 5-50 หน่วยแรกให้ฟรี ไม่เกิน 100 หน่วยขาย 1 บาทกว่าต่อหน่วย ซึ่งในส่วนนี้มีประชาชนที่เราต้องดแล 11 ล้านคน ขณะที่จุดคุ้มทุนจะไปอยู่ที่การใช้ไฟ 300-400 หน่วย และกำไรอยู่ที่ 400 หน่วยขึ้นไปซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีไม่มาก

"หลักการอาจจะอธิบายได้ดีแต่ทางปฏิบัตินั่นก็คือ การผลักภาระให้ประชาชนในระยะยาว เพราะท้ายสุดก็คือการไปขึ้นค่าไฟฟ้าเพื่อที่จะให้ฐานะการเงินทุกฝ่ายดีขึ้นโดยเฉพาะเมื่อรัฐจะนำกฟน.และกฟภ.เข้าตลาดต่อไป ดังนั้นจึงขอคัดค้านที่จะนำกิจการไฟฟ้าเข้าตลาดฯ" นายสุดเจริญ กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.