ส่งออกส.ค.ทะลุหมื่นล้าน เกินดุลการค้ารอบ7เดือน


ผู้จัดการรายวัน(20 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ส่งออก ส.ค.เกินหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ พลิกตัวเลขดุลการค้าเกินดุล 10 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรกในรอบปี หลังขาดดุล 7 เดือนรวด แถมยังทำสถิติใหม่ "พาณิชย์" คาดทั้งปีขาดดุลการค้า หดเหลือ 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ "สมคิด" พอใจขยายตัว 24.9% แม้จะไม่ถึงเดือนละ 30% ตามที่คิดไว้ สั่ง "การุณ" วางตัวหัวหน้าฮับรับผิดชอบดันส่งออก เป็นรายภูมิภาค พร้อมจัดเวิร์กชอปกลาง ต.ค.นี้

นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการส่งออกของไทยในเดือน ส.ค. 48 มีมูลค่า 10,181 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 24.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ส่งออกมา และเป็นครั้งแรกที่มูลค่าการส่งออกเกินหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 10,171 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.2% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยใน เดือน ส.ค.นี้เป็นเดือนแรกที่กลับมาเกินดุลการค้า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาที่ขาดดุลการค้ามาโดยตลอด ทั้งนี้ เมื่อรวมการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าทั้งสิ้น 71,529.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน การ นำเข้ามีมูลค่า 79,757.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 28.96% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยไทยยังขาดดุลการค้ารวมทั้งสิ้น 8,227.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนแนวโน้มการส่งออกในช่วง 4 เดือนที่เหลือ (ก.ย.-ธ.ค.) คาดว่าการส่งออกจะมีมูลค่า 44,307 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 28.8% ทั้งปีจะขยายตัว 20% ตามเป้าหมาย โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 115,837 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าอีก 4 เดือนหลังจะมีมูลค่า 39,322 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งปีจะนำเข้ารวม 119,109 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยจะขาดดุลการค้า 3,272 ล้านเหรียญสหรัฐ หรืออาจจะต่ำกว่านี้อยู่ในระดับ 2,000-3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าดุลบริการทั้งปีอาจจะเกินดุล 2,000-3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อหักลบการขาดดุลการค้าแล้ว ดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีอาจจะไม่ขาดดุลก็ได้ หรือหากขาดดุลก็จะน้อยมาก

นางจันทรา บูรณฤกษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าการส่งออกของไทยจะยังคงขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ที่จะเป็นช่วงที่มีการส่งออกมาก ที่สุดของทุกปี โดยมีความมั่นใจว่าเป้าหมายการขยายตัวของการส่งออกทั้งปีที่ 20% จะทำได้ เพราะผลจากการหารือกับผู้ส่งออกรายสำคัญๆ ประมาณ 10 กลุ่มอุตสาหกรรม คิดเป็น 72% ของการส่งออกรวม ระบุว่าการส่งออกในช่วง 4 เดือนสุดท้ายจะเพิ่ม มากขึ้น และต่างมีการปรับเป้าหมายการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น หมวดอิเล็กทรอนิกส์ จากเดิม 20% เป็น 30% เครื่องใช้ไฟฟ้าจาก 15% เป็น 20% อาหารจาก 14% เป็น 21.4% และพลาสติกและผลิตภัณฑ์จาก 15% เป็น 30% เป็นต้น

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การที่ไทยกลับมาได้ดุลการค้าในเดือน ส.ค.นี้ เพราะสินค้านำเข้าสำคัญๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง มีการนำเข้าลดลงตามมาตรการรณรงค์ประหยัดพลังงานของรัฐบาล ส่วนสินค้าอื่นๆ เช่น เหล็ก ทองคำ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและส่วนประกอบ ต่างก็มีแนวโน้มนำเข้าลดลง หลังจากที่กรมฯ ได้เชิญมาหารือและขอความ ร่วมมือในการจัดทำแผนนำเข้า ขณะเดียวกันยังได้รับความร่วมมือจากรัฐวิสาหกิจที่จะชะลอการนำเข้าที่ไม่จำเป็นและไม่กระทบกับโครงการออกไปก่อน โดยจนถึงสิ้นปีนี้จะมีการนำเข้ารวม 1,044 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า แม้ว่าการส่งออกในเดือน ส.ค.จะขยายตัวไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 30% แต่จากการที่กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายบริหารการนำเข้า รวมทั้งเรียกหารือกับภาคเอกชนทุกเดือน ทำให้สามารถผลักดันการส่งออกได้เกินหนึ่งหมื่นล้านเป็นเดือนแรก และพลิกจากที่ขาดดุลการค้า 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือน มิ.ย. มาขาดดุล 84 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือน ก.ค. และกลับมาเกินดุล 10 ล้านเหรียญสหรัฐได้ในเดือน ส.ค. ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความพยายามที่จะเร่งส่งออก สามารถทำได้ และคาดว่าจากนี้จนถึงสิ้นปีการส่งออกจะดีขึ้น

โดยในเดือน ส.ค.นี้ สินค้าส่งออกสำคัญๆ อยู่ใน 3 หมวดดาวรุ่ง คือ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ โดยในส่วนยานยนต์ การส่งออกประสบความสำเร็จหลังจากที่ไทยมีนโยบายในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์การอุตสาหกรรมยานยนต์ (ฮับ) ซึ่งจากช่วงก่อนที่จะตั้งฮับ ไทยส่งออกรถยนต์ได้ 5 หมื่นคัน แต่หลังจากตั้งเป็นฮับแล้วส่งออกได้ 1.5 แสนตัน ดังนั้น ไทยต้องเร่งผลักดันให้ไทยเป็นฮับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าต่อไป โดยจะปรับโครงสร้างภายในและดึงการลงทุนจากต่างประเทศมาในไทยให้มากขึ้น

นายสมคิดกล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปจัดทำแผนการเจาะตลาดใหม่ โดยให้ตั้งรองปลัดกระทรวงพาณิชย์และผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าฮับในแต่ละภูมิภาค เช่น จีน ยุโรป สหรัฐฯ เอเชีย และญี่ปุ่น โดย ให้หัวหน้าฮับเหล่านี้เป็นผู้จัดทำยุทธศาสตร์การบุกเจาะตลาดเป้าหมายการส่งออก และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 กรม คือ กรมส่งเสริมการส่งออก กรมการค้าต่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อทำงานให้ไปสู่เป้าหมาย

นอกจากนี้ จะต้องฟื้นการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการพาณิชย์ เพื่อให้ไทยมีศูนย์ข้อมูลทางการค้าที่ชัดเจน เพราะในการทำการค้าจะต้องมีฐานข้อมูลที่ชัด

"ผมขอให้ปลัดกระทรวงไปทำรูปแบบมา และภายในกลางเดือนต.ค.นี้ ผมจะขอดูแผน และจะจัดเวิร์กชอป โดยเชิญให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ทั่วโลกมารับฟังแผน และจะทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ว่าการส่งออกแต่ละปี ให้ทูตพาณิชย์กำหนดมาว่าแต่ละภูมิภาคจะโตเท่าไร แต่จากนี้ไป เราจะให้หัวหน้าฮับรับผิดชอบ และกำหนดเองไปเลยว่าประเทศนั้น ประเทศนี้จะโตเท่าไร และจะต้องคิดในเรื่องการของบประมาณมาใช้ด้วย เพราะเงินกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่มีใช้ปีละ 200 ล้านบาทมันไม่พอ จะไปบุกตลาดโลก ผมซีเรียส ต้องไปคิดออกมาจะใช้เงินยังไงรัฐบาลมีให้" นายสมคิดกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.