ถกช้างหลังออกพรรษา


ผู้จัดการรายวัน(20 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ก.ล.ต.โต้ที่ปรึกษาทางการเงิน ชี้หุ้นใหม่ที่เข้าจดทะเบียนช้าเกิดจากความ ไม่พร้อมของบริษัท ระบุหลายบริษัทมีโครงสร้างที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือ การไซฟ่อนเงินได้ ถ้าเตรียมตัวมาดีเปิดเผยข้อมูลมีคุณภาพก็พิจารณาเสร็จเร็ว ยกตัวอย่าง โกลว์, ภัทร เป็นหุ้นที่พิจารณาเร็วสุด ย้ำการทำงานของที่ปรึกษาทางการเงินไม่ระมัดระวัง ก.ล.ต.พร้อมที่จะลงโทษโดยบทลงโทษหนักสุดคือการพักใบอนุญาต ขณะที่ไทยเบฟเวอเรจ หรือเบียร์ช้าง บอร์ด ก.ล.ต.เตรียมพิจารณาหลังจากออกพรรษาไปแล้ว

นายชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินหลายแห่ง ได้อ้างว่าหุ้นใหม่หลายบริษัทที่ยังไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ เพราะสำนักงาน ก.ล.ต.มีการพิจารณาล่าช้านั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากพบว่าบริษัท หลายแห่งมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่พร้อมที่จะยื่นคำขอกระจายหุ้นขณะเดียวกันการทำงานของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินในการตรวจสอบ สินทรัพย์ขาดความระมัดระวัง

ทั้งนี้ จากข้อมูลบริษัทที่ยื่นแบบคำขออนุญาตกระจายหุ้นตั้งแต่ต้นปี 2548 พบว่ามีจำนวน 59 ราย และได้รับอนุญาตไปแล้ว 21 ราย โดยจะเหลือ 38 ราย ซึ่งจะพิจารณาช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับคุณภาพของบริษัทที่ยื่น ถ้าบริษัทใดมีการเตรียมตัวมาดีและเปิดเผยข้อมูลอย่างมีคุณภาพ การพิจารณาของสำนักงานก.ล.ต.ก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่น กรณี ของบริษัทโกลว์พลังงานที่ใช้เวลาเพียง 33 วัน, บล.ภัทร ใช้เวลาเพียง 42 วัน และบริษัทไทยสตีลเคเบิ้ล ใช้เวลา 63 วัน

ส่วนบริษัทที่เหลือ 38 รายนั้น พบว่ามีบริษัทที่ได้ขอยกเลิกคำขอไปแล้วรวม 11 รายเนื่องจากหลังจากที่สำนักงานก.ล.ต.ได้พิจารณาข้อมูลและทักท้วงที่ปรึกษาทางการเงินก็ยอมรับว่าบริษัทเหล่านี้ยังไม่มีความพร้อมและยังต้องใช้เวลาในการแก้ไขปรับปรุงอีกมาก ดังนั้น จึงเหลือคำขอที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเพียง27 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคำขอที่เพิ่งยื่นในช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมาถึง 19 ราย

นายชาลีกล่าวว่า มีคำขออนุญาตเพียง 8 ราย ที่สำนักงานก.ล.ต.ใช้เวลาพิจารณาเกิน 3 เดือนสาเหตุที่ล่าช้าเนื่องจากพบว่าบริษัทเหล่านี้มีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างบริษัทที่มีโอกาสทำให้เกิดความ ขัดแย้งทางผลประโยชน์,การไซฟ่อนหรือการ ฟอกเงินรวมถึงมีการจัดทำบัญชีที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี รวมถึงมีระบบการควบคุมภายในที่ไม่ดีพอ และมีการเปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วนและไม่มีคุณภาพ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่ก.ล.ต.จะพิจารณาอย่างเข้มงวดและไม่สามารถอนุญาตได้จนกว่าบริษัทจะแก้ไขข้อ บกพร่องเหล่านี้แล้วซึ่งมีบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินบางรายใช้เวลาแก้ไขปรับปรุงข้อมูลนานมาก

"การที่มีคำขอจำนวนหนึ่งค้างการพิจารณาอยู่เป็นเวลานาน จึงเป็นปัญหาเรื่องคุณภาพของบริษัทและความพร้อมหรือความสมบูรณ์ในการจัดเตรียมข้อมูลของที่ปรึกษาทางการเงินมากกว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากจากการมีผู้ยื่นคำขอมากจน ก.ล.ต. พิจารณาไม่ทัน" นายชาลีกล่าว

ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.ล.ต. จะดำเนินการกับบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่ทำงานอย่างไม่ระมัดระวังอย่างเข้มงวดเพื่อให้กระบวนการในการขออนุญาตกระจายหุ้นและนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมาสำนักงานก็ได้มีมาตรการตัดแต้มบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่กระทำการอย่างไม่ระมัดระวังซึ่งโทษที่รุนแรงที่สุดของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่กระทำผิดคือจะถูกสั่งพักใบอนุญาต ซึ่งที่ผ่านมามีการลงโทษโดยการพักใบอนุญาตไม่มากนัก

"ในช่วงที่ผ่านมามีข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ซึ่งจะหมดภายในปลายปีนี้ ดังนั้น จึงทำให้หลายบริษัทที่จะเร่งดำเนิน การให้ทัน เพื่อจะได้สิทธิประโยชน์รวมถึงมีบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินบางรายที่มีลูกค้าเยอะมากจึงส่งผลกระทบต่องานที่ดำเนินการซึ่งในช่วงที่ผ่านมานั้นได้มีกรณีรอยเนทที่เข้ามาซื้อขายและมีการแต่งงบบัญชีจนมีการมองว่าปล่อยให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างไร ซึ่ง จากเกณฑ์ดังกล่าวจึงไม่ต้องการให้มีปัญหานี้เกิดขึ้นอีกสำนักงานก.ล.ต.จึงได้มีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ" ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโสสำนักงาน ก.ล.ต.กล่าว

สำหรับบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ เบียร์ช้างนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานก.ล.ต.หลังจากที่บริษัทได้ยื่นแบบคำ ขอกระจายหุ้นมาแล้ว ซึ่งบริษัทไทยเบฟเวอเรจ นั้นถือเป็นบริษัทใหญ่และมีบริษัทในกลุ่มอยู่จำนวนมาก ดังนั้นจึงมีความซับซ้อนดังนั้นจึงต้องดำเนินไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และต้องใช้เวลาในการพิจารณาพอสมควร และคณะกรรมการก.ล.ต.จะมีการพิจารณาทบทวนการรับธุรกิจแอลกอฮอล์เข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์หรือไม่ หลังจากผ่านวันออกพรรษาหรือวันที่ 18 ตุลาคมนี้ไปแล้ว อย่างไรก็ดีเชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะได้ข้อสรุปว่าธุรกิจประเภทแอลกอฮอล์จะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้หรือไม่ ส่วนบริษัท กฟผ. นั้นถือว่ามีความซับซ้อนในธุรกิจไม่มากโดยธุรกิจดำเนินการตรงไปตรงมาซึ่งเชื่อว่ามีโอกาสที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ก่อนบริษัทไทยเบฟเวอเรจ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.