|
น้ำมันแพง - ดอกเบี้ยขาขึ้น ทำเศรษฐกิจใต้ซบเซาต่อเนื่อง
ผู้จัดการรายวัน(19 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติ สำนักงานภาคใต้ ชี้เศรษฐกิจใต้ยังซบเซาต่อเนื่อง เผยปริมาณนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังไม่กระเตื้อง ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ลดการบริโภค และภาคเอกชนชะลอลงทุน เหตุจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลกระทบต่อเนื่องจาก เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ รวมถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงและดอกเบี้ยขาขึ้น
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สํานักงานภาคใต้ กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ เดือนกรกฎาคม 2548 ว่า ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์ สึนามิ เป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจในภาคใต้ ยังคงซบเซาต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางผ่านสํานักงานตรวจคนเข้าเมือง มีจํานวน 165,456 คน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน 26.3% ตามการลดลงของนักท่องเที่ยวทางฝั่งตะวันตก โดยจังหวัดภูเก็ต นักท่องเที่ยวลดลงถึง 53.9% ขณะที่ในอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ลดลง 24.5% ส่วนนักท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลา และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพิ่มขึ้น 2.5% และ 5.9% ตามลำดับ แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน ส่วน ที่เกาะสมุย ในปีนี้มีแนวโน้มดีกว่าแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในภาคใต้
ด้านภาคการเกษตรผลผลิต พืชผลหลักได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ปริมาณพืชผลที่ออกสู่ท้องตลาดลดลง แต่ก็มีผลทำให้ ราคาพืชผลหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น 34.5% ตามราคายางพาราและปาล์ม น้ำมัน โดยเฉพาะยางแผ่นดิบ ชั้น 3 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 64.85 บาท เพิ่มขึ้น 36.8% เนื่องจากผลผลิตมีน้อย ด้าน ประมงทะเลหดตัว เนื่องจากต้นทุน การทําประมงทั้งราคาน้ำมันและอุปกรณ์ประมงสูงขึ้น ปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำนําขึ้นที่ท่าเทียบเรือของ องค์การสะพานปลาในภาคใต้ เดือน นี้มีจํานวน 34,049.0 เมตริกตัน มูลค่า 1,049.6 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน 21.4% และ 8.7% ตามลําดับ
ส่วนในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของภาคใต้หดตัวเช่นกัน แม้ว่าความต้องการของตลาดต่างประเทศ ยังมีต่อเนื่องก็ตาม เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ ผลกระทบจากสภาพอากาศ ต้นทุนวัตถุดิบจึงสูงขึ้นปริมาณสินค้า ส่งออกลดลงเกือบทุกประเภทเว้น แต่ถุงมือยางเท่านั้นที่ขยายตัวเพิ่ม
สำหรับด้านการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของภาคใต้ชะลอตัว แม้จะได้รับแรงหนุนจากปัจจัยด้านราคายางพาราที่สูงขึ้น มากก็ตามเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทาง ด้านราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อ เช่นเดียวกับการลงทุน ภาคเอกชนซบเซาเนื่องจากยังไร้ปัจจัยกระตุ้นการลงทุน
ส่วนอัตราเงินเฟ้อของภาคใต้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนนี้อยู่ที่ 5.4% สูงขึ้นมากจากอัตรา 4.5% ใน เดือนก่อน โดยสินค้าในหมวดอาหาร และเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 4.9% เนื่องจากสินค้า เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้นสูงถึง 10% ผัก และผลไม้ เพิ่มขึ้น 7.9% ยานพาหนะ และน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นอย่าง น่าสังเกต โดยเพิ่มขึ้น 18.2%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|