เปิดเสรีการเงินไทย-สหรัฐฯผ่อนปรนกรอบเจรจาผสมผสาน


ผู้จัดการรายวัน(19 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีมเจรจาเปิดเสรีการเงินไทย-สหรัฐฯวางกรอบการเจรจาแบบผสมผสาน สำหรับ การเจรจาระหว่างวันที่ 24-25 ก.ย. นี้ ต่อรองสหรัฐฯใช้วิธีเจรจาแบบ Positive List ก่อน แล้วค่อยปรับเป็น Negative List ใน ภายหลัง เหตุผลเจรจายังไม่คืบ เพราะจุดยืนเรื่องกรอบเจรจายังไม่ตรงกัน หวั่นกระทบการเปิดเสรี ในภาพรวมกับสหรัฐฯ

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผย ว่า ขณะนี้ทาง คณะเจรจาของไทยได้ร่างกรอบ Legal Text เพื่อใช้ในการเจรจาเปิดเสรีการเงินกับสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งไทยจะยังคงเดินหน้าเจรจาเปิดเสรีด้านการเงินกับสหรัฐฯต่อไป แม้ว่า ผลการเจรจาล่าสุด ยังติดปัญหาในเรื่องของกรอบการเจรจาที่แตกต่างกันอยู่ โดยทางสหรัฐฯต้องการให้เจรจาแบบ Negative List คือ ให้บรรจุรายการที่ไม่ต้องการเจรจาไว้ ส่วนรายการที่ไม่บรรจุให้เปิดเสรีทั้งหมด ขณะที่ไทยต้องการเจรจาแบบ Positive List คือ เลือกรายการที่ ต้องการเจรจาไว้ ส่วนรายการที่ไม่ได้ เลือกไว้จะไม่มีการเปิดเสรี เนื่องจากไทยยังไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะเจรจาแบบ Negative List

อย่างไรก็ตามจากการเจรจาในครั้งที่ผ่านๆ มาทางสหรัฐฯ เอง ได้เข้าใจว่าภาคการเงินพื้นฐานของไทยยังมีขนาดเล็ก และยังไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะเปิดเสรีได้ทั้งระบบ ซึ่งการที่ประเทศไทยจะเจรจาแบบ Negative List ตามที่สหรัฐฯ ต้องการนั้น อาจจะทำให้ภาคการเงินของไทยไม่สามารถแข่งขันกับภาคการเงินสหรัฐฯ ที่จะเข้ามาได้

"รากังวลว่า ถ้าเราใส่อะไร ที่เรายังไม่เปิดแล้วในอนาคตมี นวัฒกรรมทางการเงินใหม่ๆ เข้ามา เราก็จะเสียเปรียบได้ เพราะเราไม่ได้ใส่ลงไปว่าเราจะไม่เปิด ฉะนั้น เราต้องเตรียมพร้อมไว้ก่อนซึ่งจริงๆ แล้ว เรื่องการเจรจาไม่มีปัญหา แต่ติดตรงที่ความคุ้นเคยในการเปิดเสรีของแต่ละประเทศมากกว่า เพราะสหรัฐฯเคยเจรจาแบบ Negative List กับทุกประเทศ แต่เราชินกับการเจรจาแบบ Positive List มากกว่า ดังนั้น จึงจะต้องหาจุดยืนร่วมกันให้ได้ก่อน"นายนริศ กล่าว

ทั้งนี้ ทางคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ด้านการเงิน จะเดินทาง ไปเจรจาร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 24-25 กันยายน 2548 นี้ ที่สำนักผู้แทน การค้าสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้น จะมีการประชุมเอฟทีเอในกรอบใหญ่ ในวันที่ 28-29 กันยายน 2548 ที่ ฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา

นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสศค. กล่าวว่า การจะเดินทางเจรจาการเปิดเสรีด้านการเงินกับสหรัฐฯ ในครั้งต่อไปนี้ จะมีการต่อรองให้ใช้จุดยืนร่วมกัน แบบผ่อนผัน โดยในระยะแรกของระยะเวลาการเปิดเสรีนั้นจะ ให้ใช้การเจรจาแบบ Positive List และในระยะต่อมาจึงกลับมาใช้แบบ Negative List เพื่อเป็นการผสมผสานการเจรจาร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ภาคการเงินของไทยได้มีเวลาในการปรับตัวมากขึ้น

"อาจจะตกลงกันว่า ตอนแรกให้เป็นแบบ Positive List ก่อน และหลังจากนั้นค่อยใช้แบบ Negative List หรือ ตอนแรกอาจจะใช้ Negative List ก่อนก็ได้ ซึ่งเป็นการผสมผสานกันไป เพื่อจะได้เจรจากันสำเร็จ โดยเราอาจจะเขียนไปว่า จะเปิดให้บางตัว แต่บางตัวต้องรอให้มีกฎหมายมากำกับดูแลก่อน เช่นพ.ร.บ.สถาบันประกันเงินฝาก ถึงจะเปิดเสรีได้ ส่วนพ.ร.บ.สถาบันประกันเงินฝาก ณ ขณะนี้ รอเพียงจังหวะและความเหมาะสมของสภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องให้ความรู้แก่ประชาชนก่อน ถึงจะประกาศใช้พ.ร.บ.ดังกล่าวได้"นายสมชัย กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.