เงินบาทอยู่ที่40.90-41.35 บาท/ดอลล์


ผู้จัดการรายวัน(19 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานภาวะตลาดเงินในรอบในสัปดาห์นี้ (19-23 กันยายน 2548) ว่า ตลาดเงินคงจะจับตาผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯในวันที่ 20 กันยายน ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า เฟดคงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% มาอยู่ที่ 3.75% ด้วยความเป็นไปได้มากกว่า 80% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์จะมีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันพฤหัสบดี ทั้งนี้คาดว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นคงจะไม่เปลี่ยนแปลงมากจากกรอบความเคลื่อนไหว ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับค่าเงินบาท อาจเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 40.90-41.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาด คงจะให้น้ำหนักกับการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันอังคาร ซึ่งถ้ารายงานภายหลังการประชุมดังกล่าว ยังส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยต่อ ก็อาจช่วยหนุนเงินดอลลาร์ฯขึ้นเมื่อ เทียบกับเงินสกุลหลัก และเงินบาทได้ ขณะที่ทิศทางของเงินยูโร/ดอลลาร์ฯคงจะผันแปรตามผลการเลือกตั้งช่วงสุดสัปดาห์ในเยอรมนี

ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทต่อดอลลาร์ฯ เคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ตามอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยในวันจันทร์ เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากวันศุกร์ สอดคล้องกับการแข็งค่าขึ้นของเงินเยน ที่ได้รับปัจจัยบวกจากผลการเลือกตั้งช่วงสุดสัปดาห์ในญี่ปุ่นที่นำชัยชนะมาสู่พรรคเสรีประชาธิปไตย อย่างท่วมท้น อย่างไรก็ตาม เงินบาทปรับตัวมาเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ เมื่อตลาดตอบสนองต่อการแสดงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ทางการเงินระดับสูงของสหรัฐฯว่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจจากพายุเฮอริเคนแคทรีนา น่าจะเป็นปัจจัยเพียงชั่วคราว และต่อการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯคงจะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย มาตรฐานอย่างต่อเนื่องในการประชุมนโยบายการเงินช่วงสัปดาห์ถัดไป ซึ่งช่วยหนุนเงินดอลลาร์ฯ ขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน เงินสกุลภูมิภาค และเงินบาท

สำหรับในวันศุกร์ที่ 16 กันยายน เงินบาทมีค่าเฉลี่ยที่ 40.970 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 40.990 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า

ส่วนของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ค่อนข้างทรงตัว โดยการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ล็อตที่ 2 อายุ 5 ปี จำนวน 5 พันล้านบาท และการตัดจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ได้ทำให้สภาพคล่องเปลี่ยนแปลงมากนัก ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 3.10-3.30% โดยอัตรากลาง (Mode)ปรับตัวแคบๆ ระหว่าง 3.17-3.18% ทรงตัวต่อเนื่องจากปลายสัปดาห์ก่อน เช่นเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ปิดทรง ตัวตลอดสัปดาห์อยู่ที่ระดับ 3.1875% ขณะที่ประเภท 7 วัน ปิดปรับตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.21875% ในวันศุกร์เทียบกับ 3.25% ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี (TH5YY) ปิดที่ 4.90% ในวันศุกร์ เร่งขึ้นจาก 4.67% ในวันศุกร์ที่แล้ว ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี (US10YY) ปิดที่ 4.228% ในวันพฤหัสบดี เพิ่มขึ้นจาก 4.13% เมื่อวันศุกร์ก่อนหน้า ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยยังเร่งตัว สูงขึ้นต่อเนื่องในประเภทระยะปานกลาง และระยะ ยาว โดยบรรยากาศการซื้อขายยังถูกกระทบจากการคาดการณ์ของนักลงทุนถึงแนวโน้มขาขึ้นในอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการไทย ขณะที่ความต้องการ ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ทำให้อัตราผลตอบแทนระยะสั้นปรับลดลงในบางประเภทอายุ

ด้านตลาดพันธบัตรสหรัฐฯนั้น อัตราผลตอบแทนระยะยาวค่อนข้างผันผวน โดยในวันจันทร์ อัตราผลตอบแทนปรับขึ้น จากความกังวลต่อเศรษฐกิจ ที่ผ่อนคลายลงหลังราคาน้ำมันเริ่มชะลอตัว รวมทั้งจาก ถ้อยแถลงของผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาดัลลัสที่สนับสนุนการคาดการณ์ว่าเฟดคงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในการประชุมวันที่ 20 กันยายน แต่อัตราผลตอบแทนได้ลดลงในวันอังคาร หลังอัตราเงินเฟ้อทางด้านผู้ผลิตไม่เร่งขึ้นมากในเดือนสิงหาคม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.