|
เอไอเอสรอไลเซนส์กทช.บริการ3Gภายใน5เดือน
ผู้จัดการรายวัน(19 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เอไอเอสพร้อมให้บริการ 3G ภายใน 5 เดือนหลังจากได้รับใบอนุญาตจาก กทช. เดินหน้าทดสอบระบบตามหลักการมัลติเวนเดอร์ ชี้ กทช.ควรนำความถี่ 3G ของไทยโมบายมาจัดสรรใหม่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการให้บริการทั้งอุตสาหกรรมสูงสุด
นายวิเชียร เมฆตระการ รองกรรมการผู้อำนวยการสายปฏิบัติการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสหรือเอไอเอสกล่าวว่าหากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) พิจารณาให้ใบอนุญาตในการให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G กับ เอไอเอสเมื่อไหร่ หลังจากนั้นไม่เกิน 4-5 เดือนเอไอเอสก็สามารถให้บริการได้ทันที ซึ่งคาดว่าตามเงื่อนเวลาที่กทช.ระบุว่าจะเปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตโทรศัพท์มือถือ 3G ในราวเดือนธ.ค.นี้ หมายถึงปีหน้าจะเห็นบริการโทรศัพท์มือถือ 3G ซึ่งในขณะนี้มีโทรศัพท์มือถือ 3G จำนวนมากรองรับอยู่ในตลาดแล้ว
"ตอนนี้เราทดสอบบริการ 3G ของหัวเหว่ยในย่านความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ที่มีอยู่ ด้วยการดาวน์โหลดกูเกิลเอิร์ธ ขณะอยู่ในรถยนต์ที่วิ่งด้วยความเร็ว 80 กม. ต่อชม. ซึ่งได้ความเร็วข้อมูลประมาณ 100K ถือว่าอยู่ในระดับน่าพอใจ เพราะการใช้งานด้านส่งข้อมูลของ 3G จริงจะอยู่ในลักษณะอยู่กับที่ซึ่งจะทำให้ได้ความเร็วมากขึ้นอีก"
ตอนนี้เอไอเอสได้ออกทีโออาร์เชิญให้เวนเดอร์รายเดิมที่ติดตั้งเครือข่ายของเอไอเอสทั้งโนเกีย เอ็นอีซี ซีเมนส์ อีริคสัน และหัวเหว่ย นำอุปกรณ์เข้ามาทดสอบบริการ 3G ที่ความถี่มาตรฐานในย่าน 2,000 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเอไอเอส จะทำการทดสอบเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน หรือจนกว่าจะได้รับใบอนุญาต 3G โดยที่นโยบาย ของเอไอเอสจะใช้เวนเดอร์หลายรายในการติดตั้ง 3G (Multi Vender) โดยใช้ระบบวายแบนด์ซีดีเอ็มเอ (WCDMA)
นอกจากนี้เอไอเอสเชื่อว่าในการให้บริการ 3G มีความเป็นไปได้ที่โอเปอเรเตอร์แต่ละรายจะใช้วิธีใช้เครือข่ายบางส่วนร่วมกัน (Share Facilities) เพื่อเป็นการประหยัดเงินลงทุน รวม ทั้งทำให้การออกแบบโครงข่ายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะจุดที่จะติดตั้งสถานีฐาน และยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดธุรกิจลักษณะเอาต์ซอร์สซิ่ง โดยเกิดบริษัทที่ทำการติดตั้งเครือข่ายเพียงอย่างเดียว ในขณะที่โอเปอเรเตอร์ แต่ละรายจะหันมาแข่งขันด้านการให้บริการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดในต่างประเทศมาแล้ว โดยที่โอเปอเรเตอร์ในประเทศได้มีการหารือในเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว รวมทั้งในปัจจุบันก็มีการแชร์เครือข่ายร่วมกันบางส่วนอย่างในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน
นายวิเชียรกล่าวว่า การให้บริการ 3G ในประเทศไทยสามารถมีผู้ให้บริการได้ 4 ราย โดย แต่ละรายจะได้รับช่วงกว้างความถี่ในการให้บริการรายละ 15 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งหากมีการใช้ความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กทช.ควรมีการจัดสรรย่านความถี่ 2,000 เมกะเฮิรตซ์ใหม่ โดยนำความถี่ของไทยโมบายมาจัดสรรร่วมกับความถี่ 3G ที่เหลืออยู่
เนื่องจากไทยโมบายได้รับการจัดสรรความ ถี่เพื่อให้บริการทั้ง 2G และ 3G แต่ปัจจุบันให้บริการแค่ 2G ในขณะที่ความถี่ 3G ที่ได้รับไปนั้น หากไม่มีการนำมาจัดสรรเรียงลำดับใหม่ ในทางเทคนิคจะทำให้อาการ "ฟันหลอ" คือความ ถี่ช่วงอัปลิงก์กับดาวน์ลิงก์ แบ่งช่วงไม่ลงตัวพอดี ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาของอุตสาหกรรมทั้งระบบ ในขณะที่เมื่อ กทช.นำความถี่มาจัดสรรใหม่ ก็คืนให้กับไทยโมบายได้ตามเดิม
"เรียกว่าทั้งอุตสาหกรรมได้รับผลดีจากการจัดสรรความถี่ใหม่ ซึ่งไทยโมบายก็ได้รับความถี่กลับไปเพื่อให้บริการ 3G ได้เหมือนเดิม ไม่มีใครเสียประโยชน์"
ด้าน พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธาน กทช.กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ กทช.จะเรียก ความถี่ 3G ของไทยโมบายกลับมาจัดสรรใหม่ พร้อมทั้งออกเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการประมูลความถี่และให้ใบอนุญาต
เราเคยเห็นต่างประเทศเจอปัญหาประมูลความถี่ 3G แพงๆ ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้ ซึ่ง กทช.จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
สำหรับบริการไทยโมบายของบริษัท ทีโอที นั้น ปัจจุบันยังไม่ได้รับใบอนุญาตจาก กทช. หลังจากวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา กทช.ได้ให้ใบอนุญาตทีโอทีมา 2 ประเภท คือ แบบที่ 1 ไม่มีโครงข่ายของตัวเอง และแบบที่ 3 คือมีโครงข่าย โดยครอบคลุมบริการทั้งหมดยกเว้นไทยโมบาย เนื่องจาก กทช.ต้องการให้ทีโอทียืนยันว่าบริการไทยโมบายเกิดก่อน พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม 17 พ.ย. 2544 ซึ่งทีโอทีก็ยืนยันไป แล้วว่าให้บริการตั้งแต่เดือน ก.ค. 2543 อย่างไรก็ตาม นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการกทช.กล่าวว่า บริการไทยโมบายของทีโอทีน่าจะได้รับใบอนุญาต ซึ่งจะครอบคลุมถึงการให้บริการ 3G ด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|