"เรื่องนี้ก็คือการเทคโอเวอร์ธรรมดา ๆ นั่นแหละ" ผู้สันทัดกรณีในวงการธุรกิจท่านหนึ่งให้ข้อสรุปกับ
"ผู้จัดการ" สำหรับการเข้ามาในเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ของเฟิสท์ แปซิฟิค
เอาไว้เช่นนี้
ว่าไปแล้ว เรื่องของการเทคโอเวอร์ที่กำลังเป็นเสมือนโรคระบาดลุกลามอยู่ในวงการธุรกิจของสหรัฐอเมริกาและยุโรปในช่วงสองสามปีมานี้
ไม่ใช่สิ่งแลกใหม่ต่อวงการธุรกิจในบ้านเรา กลุ่มปูนใหญ่เป็นตัวอย่างหนึ่งของของผู้ที่มีความช่ำชองพอตัวในวิธีการแบบนี้
เช่นเดียวกับการที่โฮม อินชัวรันส์ตกเป็นสมบัติของบริษัทซิกน่าก็เป็นแบบฉบับอีกอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว
ๆ นี้เพียงแต่ว่ากิจการที่ถูกเทคโอเวอร์ส่วนใหญ่เป็นกิจการที่มีปัญหา อยู่ในอาการที่ยากที่จะแก้ไขให้ดีดังเดิมได้
จำเป็นต้องของทิ้งไป หรือเป็นกิจการที่มีบริษัทแม่อยู่ในต่างประเทศ เมื่อบริษัทแม่ถูกเทคโอเวอร์เครือข่ายที่มีอยู่ในไทยเลยติดร่างแหไปโดยอัตโนมัติ
และทั้งหมด ไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใด
ความแตกต่างในกรณีของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์อยู่ที่ตรงนี้!
เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เป็นบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์มาตั้งแต่ปี 2518 และก็ไม่ใช่บริษัทที่มีปัญหาในการดำเนินงานมากมายนัก
ถึงแม้เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จะไม่ฟู่ฟ่า หวือหวาดังเช่นบริษัทตัวแทนจำหน่ายอื่น
ๆ อย่างลีเวอร์ บราเธอร์ คอลเกต ปาล์มโอลีฟ หรือสหพัฒน์ แต่ด้วยยอดขาย ไม่ต่ำกว่าสองพันล้านบาทในแต่ละปี
และมีกำไรอยู่ในขั้นน่าพอใจทุกปี เบอร์ลี่ ยุคเกอร์นับได้ว่าเป็นบริษัทที่มั่นคงแข็งแรง
และเป็นบริษัทชั้นนำบริษัทหนึ่ง
เรื่องของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์กับเฟิสท์ แปซิฟิคจึงเป็นกรณีพิเศษที่ไม่ธรรมดาเหมือนกับการเทคโอเวอร์ในหลาย
ๆ กรณีที่เกิดขึ้นมาแล้ว
ชื่อของวอลเตอร์ แอล ไมเยอร์นั้นอยู่คู่กับเบอร์ลี่ ยุคเกอร์มาโดยตลอดไม่ใช่แต่ในฐานะประธานกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งเท่านั้น
ฐานะที่สำคัญยิ่งไปกว่านี้ก็คือ เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกตั้งแต่ปี 2489 และอยู่กับเบอร์ลี่
ยุคเกอร์มาตลอดจนถึงทุกวันนี้
ถึงอย่างไรวอลเตอร์ ไมเยอร์ก็ไม่ใช่ผู้จารึกตำนานหน้าแรกของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์เพราะเขามาทีหลังการเกิดขึ้นของเบอร์ลี่
ยุคเกอร์เป็นครั้งแรกในแผ่นดินสยามถึงหกสิบกว่าปี
เบอร์ลี่ ยุคเกอร์เริ่มประวัติศาสตร์บทที่หนึ่งของตนขึ้นเมื่อ 107 ปีมาแล้ว
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงดำเนินนโยบายนำประเทศไทยไปสู่ความทันสมัย
เปิดประเทศสร้างความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกอย่างกว้างขวางเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแข้งกับนักล่าอาณานิคมจากยุโรป
นโยบายเช่นนี้ได้ชักนำนักธุรกิจจากยุโรปเข้ามาลงทุนเปิดกิจการในประเทศไทยมากขึ้น
อัลเบิร์ต ยุคเกอร์ คือผู้หนึ่งที่เดินทางเข้ามาในแผ่นดินสยามในช่วงนั้น
เขาเป็นชาวสวิสที่ฝ่าคลื่นลม รอนแรมมากับเรือเดินทะเลจนถึงบางกอกเมื่อปี
พ.ศ. 2409 เพื่อมารับตำแหน่งผู้จัดการของบริษัทการค้าแห่งหนึ่งของฝรั่งเศสซึ่งมาเปิดสาขาในประเทศไทย
ธุรกิจหลักของบริษัทจากยุโรปที่เข้ามาในประเทศไทยขณะนั้นคือ การสั่งสินค้าอุปโภคบริโภคจากยุโรปเข้ามาขายให้กับขุนนางในราชสำนัก
และซื้อสินค้าประเภทไม้สักหนังสึตว์ส่งกบับไปขายในยุโรปอีกทีหนึ่ง ประสบการณ์เกือบยี่สืบปีของอัลเบิร์ต
ยุคเกอร์ ในธุรกิจนี้ ประกอบกับการขยายตัวของประชากรและการขยายการศึกษาลงไปสู่สามัญชนมากขึ้นทำให้เขามองเห็นอนาคตที่จะทำธุรกิจนี้ด้วยตัวเอง
ปี 2425 อัลเบิร์ต ยุคเกอร์ จึงตัดสินใจก่อตั้งธุรกิจของตัวเองขึ้น โดยจับมือกับชาวสวิสอีกคนหนึ่งผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องกับตัวเองคือ
เฮนรี่ ซิกก์ ตั้งบริษัทการค้าขึ้นมาบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณที่เรียกว่า
กุฏีจีน บริษัทนี้มีชื่อว่า ยิคเกอร์ แอนด์ ซิกก์ แอนด์ โก เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าทั่วไปจากต่างประเทศและเครื่องมืออุปกรณืเกี่ยวกับการเดินเรือ
แต่อีกเพียง 7 ปีต่อมาเท่านั้น อัลเบิร์ต ยุคเกอร์ก็ล้มป่วยด้วยโรคอหิวาต์และเสียชีวิตไปในที่สุด
ผู้เป็นภรรยาจึงตัดสินใจพาลูกชาย 3 คนและลูกสาวอีก 2 คน กลับสู่บ้านเกิดในสวิตเซอร์แลนด์
ปล่อยให้เฮนรี่ ซิกก์ ดูแลกิจการแต่เพียงผู้เดียว
ปี 2432 พ่อค้าชาวสวิสอีกคนหนึ่งได้เข้ามาสู่แผ่นดินสยาม เขาผู้นี้คือ
อัลเบิร์ต เบอร์ลี่ซึ่งได้เข้ามาช่วยเฮนรี่ ซิกก์บริหารกิจการของยุคเกอร์
แอนด์ ซิกก์ แอนด์ โก หลังจากนั้นไม่นานเฮนรี่ ซิกก์ ก็เสียชีวิตลงอีกคนหนึ่ง
อังเบิร์ต เบอร์ลี่จึงเข้าครอบครองกิจการแต่เพียงผู้เดียวและเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น
เอ เบอร์ลี่ แอนด์ โก ซึ่งต่อมาได้ขยายกิจการไปสู่การเป็นตัวแทนของบริษัทประกันภัยทางทะเลในยุโรปและเป็นเจ้าของโรงสีข้าวสามเสน
อันเป็นโรงสีที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น
สายโลหิตของอัลเบิร์ต ยุคเกอร์ ผู้ล่วงลับไปแล้วยังคงมีความผูกพันกับแผ่นดินสยามอันเป็นบ้านเกิดของตนเอง
ลูกชายสองคนของยุคเกอร์กลับมาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งและได้เข้าร่วมบริหาร
เอ เบอร์ลี่ แอนด์ โก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นของผู้เป็นพ่อ
ความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลยุคเกอร์และตระกูลเบอร์ลี่กระชับแน่นเข้าไปอีกเปลาะหนึ่ง
เมื่ออัลเบิร์ต เบอร์ลี่ได้แต่งงานกับลูกสาวคนโตของอัลเบิร์ต ยุคเกอร์ คือ
แมรี่ ยุคเกอร์ เมื่อ พ.ศ. 2453 อาณาจักรเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการจากสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่มีมาก่อนหน้านี้บวกกับสายสมรสที่เกิดขึ้นในภายหลัง
ปี 2467 เอ เบอร์ลี่ แอนด์ โก จึงได้รับการเปลี่นชื่อใหม่เป็น เบอร์ลี่
ยุคเกอร์และได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีธุรกิจหลักคือการสั่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย
เบอร์ลี่ยุคเกอร์เป็นรายแรกที่สั่งนมกระป๋องจากสวิส โกโก้ผงจากฮอลแลนด์และกระดาษทิชชูจากสหรัฐฯ
เข้ามาขายในเมืองไทย
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพญี่ปุ่นกรีธาทัพเข้าประเทศไทย ถึงแม้เบอร์ลี่
ยุคเกอร์ จะเป็นของชาวสวิสซึ่งไม่ได้เป็นคู่สงครามโดยตรงกับญี่ปุ่น แต่ความรุนแรงของสงครามทำให้อัลเบิร์ต
เบอร์ลี่ ไม่มั่นใจในสถานการณ์กรุงเทพฯตกเป็นเป้าการโจมตีทางอากาศของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร
ความห่วงใยในสวัสดิภาพของครอบครัว และความซบเซาทางการค้าในช่วงที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะการสู้รบ
ทำให้อับเบิร์ต เบอร์ลี่ตัดสินใจปิดกิจการของเบอร์ลี่ยุคเกอร์ และอพยพครอบครัวไปอยู่ที่แปดริ้วจนกระทั่งสงครามสงบ
เท่ากับเป็นการปิดฉากครั้งที่หนึ่งของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ที่มีสาเหตุมาจากสถานการณ์สงคราม
ยุคที่สองของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากการสิ้นสุดของสงคราม
พ.ศ.2489 เบอร์ลี่ ยุคเกอร์เปิดดำเนินกิจการใหม่ โดยมีเอดเวอร์ด ยุคเกอร์เมียของอังเบิร์ต
เบอร์ลี่และเป็นลูกชายของอัลเบิร์ต ยุคเกอร์ เป็นหัวเรือใหญ่
วอลเตอร์ ไมเยอร์ก้าวเข้ามามีบทบาทในเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ในช่วงนี้ทั้งในฐานะหุ้นส่วนและผู้บริหารกิจการไมเยอร์เป็นชาวสวิสวัย
31 ปีในขณะนั้น เคยทำงานอยู่ที่อินเดียและเซี่ยงไฮ้มาก่อน เขาได้รับมอบหมายให้คุมงานด้านการนำเข้าสินค้า
ผู้บริหารอีกคนหนึ่ง คือ กุสตาฟ ไฮท์แมน ชาวเยอรมันซึ่งรับผิดชอบทางด้านการเงินและการส่งออก
รวมทั้งเป็นหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งในเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ด้วย
เอดเวอร์ด ยุคเกอร์ วอลเตอร์ ไมเยอร์และกุสตาฟ ไฮท์แมนคือผู้นำเบอร์ลี่
ยุคเกอร์เข้าสู่ยุคที่สองซึ่งเป็นยุคที่เบอร์ลี่ ยุคเกอร์เข้าสู่ยุคที่สองซึ่งเป็นยุคที่เบอร์ลี่
ยุคเกอร์ปักหลักในเมืองไทยอย่างจริงจังและดำเนินกิจการมาจนกระทั่งปัจจุบัน
เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ในยุคนี้ไม่ได้จำกัดขอบเขตการทำงานของตัวเองอยู่เพียงแค่การเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าเท่านั้น
หากแต่ได้ขยายฐานการทำธุรกิจเข่าไปสู่การผลิตด้วย โดยการซื้อโรงงานสบู่แห่งหนึ่งเมื่อ
พ.ศ.2493 มาทำการปรับปรุงใหม่ คือ โรงงานรูเบีย สินค้าชนิดแรกที่เป็นผลผลิตของโรงงานแห่งนี้คือสบู่ตรานกแห้ว
ซึ่งยังคงเป็นสินค้าหลักตัวหนึ่งมาจนถึงทุกวันนี้
อีกสองปีต่อมา โรงงานแห่งที่สองในเครือเบอร์ลี่ฯก็ได้เกิดขึ้น คือ โรงงานไทยกลาส
อินดัสตรี เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างเบอร์ลี่ฯกับบริษัท ออสเตรเลี่ยนคอนโซลิเดเต็ด
อันดัสตรี จากออกเตรเลี่ยนเป็นโรงงานผลิตขวดน้ำอัดลม ขวดเบียร์ เหล้าและเครื่องดื่มอื่น
ๆ
ทั้งรูเบียและไทยกลาสเกิดขึ้นจากความคิดของไมเยอร์และไฮทืแมนที่มองเห็นว่า
การเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแต่เพียงอย่างเดียวนั้น อาจจะไม่เป็นผลดีกับอนาคตทางธุรกิจของเบอร์ลี่ฯ
เพราะต้องขึ้นอยู่กับผู้เป็นเจ้าของสินค้านั้นด้วยว่าจะยอมให้เบอร์ลี่ฯเป็นผู้จัดจำหน่ายต่อไปหรือไม่
เบอร์ลี่ฯจำเป็นต้องผลิตสินค้าที่เป็นของตัวเองอยู่ในมือด้วย แต่การเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าก็ยังเป็นธุรกิจหลักอยู่
พ.ศ.2508 เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ได้เปลี่ยนฐานะของตนเองจากที่เคยเป็นห้างธรรมดามาเป็นบริษัทจำกัด
และได้ขายหุ้นให้กับบุคคลภายนอกเป็นครั้งแรกด้วย ปีนี้เองที่วอลเตอร์ ไมเยอร์ได้กว้านซื้อหุ้นเพิ่มเติมจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
แต่ตัวประธานบริษัทนั้นขังคงเป็นเอดเวอร์ด ยุคเกอร์อยู่จนถึง พ.ศ.2512 กุสตาฟ
ไฮท์แมน ได้เป็นประธานคนต่อมาจนถึงปี 2523 หลังจากนั้นก็เป็นคราวของไมเยอร์
ขึ้นเป็นประธานจนถึงปัจจุบัน
ปี 2518 เบอร์ลี่ฯได้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย นับว่าเป็นการตัดสินใจที่มีความหมายต่อประวัติศาสตร์ของบริษัทอย่างยิ่ง
เพราะไม่หมายเพียงแค่บริษัทจะต้องปรับโครงสร้างของทุนและการบริหารให้มีลักษณะมหาชนมากขึ้นเท่านั้น
หากยังต้องเสี่ยงต่อการถูกเทคโอเวอร์ โดยกลุ่มคนภายนอกเมื่อกระแสคลื่นการเทคโอเวอร์ได้มาถึง
ปัจจุบัน เบอร์ลี่ฯ จัดโครงสร้างการบริหารงานตามกลุ่มของสินค้าและลักษณะทางธุรกิจ
กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดและทำรายได้ให้กับเบอร์ลี่ฯ มากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้รวมในแต่ละปี
ก็คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ สามกลุ่มคือ กลุ่มสินค้าสบู่และเครื่องใช้ส่วนตัว
กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องเขียน และสุดท้ายคือสินค้าลูกอมและอาหาร
เบอร์ลี่ฯยังมีฝ่ายอื่น ๆ อีกคือ ฝ่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการอุตสาหกรรม ฝ่ายผลิตภัณฑ์เครื่องแก้ว
ฝ่ายอุปกรณ์การถ่ายรูปและฟิล์ม "อั๊กฟ่า" ฝ่ายเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์
ฝ่ายเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุรา ฝ่ายวิศวกรรมซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรกล
อุปกรณ์ไฟฟ้า และฝ่ายสุดท้ายคือฝ่ายโครงการพิเศษซึ่งทำหน้าที่คล้าย ๆ เป็นนายหน้าให้บริษัทต่างประเทศเข้าประมูลโครงสร้างก่อสร้างของรัฐบาล
เบอร์ลี่ฯนั้นนับเป็นบริษัทรุ่นแรก ๆ ที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่เดือน
เมษายน 2518 การเข้าสู่ตลาดครั้งนั้นทำให้เงินทุนจดทะเบียนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น
60 ล้านบาท พอมาถึงปี 2520 เบอร์ลี่ฯได้เพิ่มทุนอีกครั้งหนึ่งเป็น 70 ล้านบาท
โดยมีจำนวนหุ้น 700,000 หุ้น ๆละ 100 บาท และมีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 321 คน
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 5 รายแรก ได้แก่ บริษัท เฮกเกอร์ ไมเยอร์ เอ็น.วี. ซึ่งเป็นบริษัทการค้ารายใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ถือหุ้นอยู่มากที่สุด
25% ลำดับที่สองคือ บริษัทสแตนดาร์ดโฮลดิ้ง 8% อันดับที่สามคือบริษัท มัลติเพอร์โพส
เทรดดิ้ง 7.09% อันดับที่สี่คือตัววอลเตอร์ ไมเยอร์เองที่ถือหุ้นอยู่ 5.73%
และอันดับห้าได้แก่ ธนาคารศรีนคร 5%
สัดส่วนดังกล่าวนี้ ปรากฏอยู่ในรายงานที่เบอร์ลี่ฯ ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์
เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2530 ชั่วเวลาเพียงหนึ่งปีจากวันนั้นจนถึงวันนี้
ได้ปรากฏผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ที่ครอบครองหุ้นอยู่ในมือถึง
42% และเป็นผู้ถือหุ้นที่มีท่าทีว่าจะทำให้ฐานะความเป็นเจ้าของและอำนาจการบริหารในเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ ของวอลเตอร์ ไมเยอร์ ต้องหลุดมือไป
เพราะผู้ถือหุ้นรายนี้ คือ เฟิสท์ แปซิฟิค กลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ที่มีฐานอยู่ในฮ่องกงและมีสไตล์การทำธุรกิจที่ก้าวร้าว
รวดเร็วที่มีวิธีการขยายกิจการด้วยการไปซื้อบริษัทอื่น ๆ
(โปรดอ่านล้อมกรอบ-เฟิสท์ แปซิฟิคนักซื้อกิจการที่หาเหยื่อในเอเซีย แปซิฟิค)
เฟิส์ท แปซิฟิคได้หุ้นจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์มาไว้ในมือเป็นครั้งแรกโดยผ่านความสัมพันธ์ระหว่าง
เฮกเกอร์ ไมเยอร์กับเบอร์ลี่ ยุคเกอร์
ความสัมพันธ์นี้นับย้อนไปได้ถึง 2514!
เฮกเกอร์ ไมเยอร์ เป็นบริษัทตัวแทนการค้าสัญชาติฮอลแลนด์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาในอินโดนีเซียเมื่อ
พ.ศ.2443 เพื่อทำกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค กิจการของเฮกเกอร์
ไมเยอร์ ได้ขยายไปใน 20 ประเทศในทวีปเอเชีย ยุโรปและอเมริกาเหนือ เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้ามากกว่า
10,000 ยี่ห้อ เฮกเกอร์ ไมเยอร์ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อัมสเตอร์ดัมอยู่ด้วย
เครือข่ายทางการตลาดของเฮกเกอร์ ไมเยอร์ที่ครอบคลุมไปถึงสามทวีปนั้น เป็นที่สนใจของเฟิสท์
แปซิฟิคเป็นอย่างมาก เพราะเฟิสท์ แปซิฟิคนั้นได้วางทิศทางการทำธุรกิจของตนเอาไว้ที่จะให้ความสำคัญกับธุรกิจของตนเอาไว้ที่จะให้ความสำคัญกับธุรกิจการค้า
การเป็นตัวแทนจำหน่าย การตลาดและการค้าปลีก
กลุ่มเลียม ซู เหลียง จากอินโดนีเซีย ได้กว้านซื้อหุ้นของเฮกเกอร์ ไมเยอร์
ในตลาดอัมสเตอร์ดัม จนสามารถครอบครองหุ้นได้ถึง 51% เมื่อปี 2526 และเพิ่มเป็น
70 % เมื่อปีที่แล้วนี้เอง
เมื่อมีการจับมือกันระหว่างกลุ่มเลียม ซู เหลียงกับเฟิสท์ แปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนลและเฟิสท์
แปซิฟิค โฮลดิ้ง แล้วแปลงโฉมใหม่เป็น เฟิส์ท แปซิฟิค คัมปานี หรือที่เรียกกันว่า
เฟิสท์ แปซิฟิค กรุ๊ปนั้น เฮกเกอร์ ไมเยอร์ก็ตกเป็นกิจการของเฟิสท์ แปซิฟิคไปโดยอัตโนมัติ
และเป็นกิจการตัวแทนจำหน่ายและการตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเฟิสท์ แปซิฟิค
ความสำคัญของเฮกเกอร์ ไมเยอร์ที่มีต่อเฟิสท์ แปซิฟิคนั้นไม่ได้มีเฉพาะการเป็นตัวทำรายได้จากกิจการของตัวเฮกเกอร์
ไมเยอร์เอง หากแต่ยังอยู่ในฐานะเป็นเขนขาของเฟิสท์ แปซิฟิคที่จะเข้าไปซื้อกิจการในประเทศต่าง
ๆ ทั่วโลก โดยผ่านเงื่อนไขที่เฮกเกอร์ ไมเยอร์เข้าไปถือหุ้นในกิจการนั้นอยู่ก่อนแล้ว
ตัวอย่างเช่น
เดือนมีนาคม 2528 เฟิสท์ แปซิฟิคได้หุ้น 70% ของ EROPEAN INTEGRATED FASHIONS
AND FRENCH PERFUMED LIMITED ที่อยู่ในฮ่องกง โดยผ่านเฮกเกอร์ ไมเยอร์ บริษัทนี้เป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำหอมและเครื่องประดับยี่ห้อกุชชี่
รวมทั้งเสื้อผ้ายี่ห้อคาลวินไคล์ เลียวนาร์ดในฮ่องกง
เดือนมกราคม 2529 เฟิสท์ แปซิฟิคได้กิจการกาแฟที่เฮกเกอร์ ไมเยอร์ถือหุ้นอยู่หลังจากการซื้อขายครั้งนี้แล้ว
เฟิสท์ แปซิฟิคเก็บหุ้นเอาไว้เพียง 25 % ส่วนที่เหลือขายได้กับกลุ่มนักลงทุนจากซาอุดิอาระเบียไปหมดเพราะกลุ่มเฟิสท์แปซิฟิคไม่ชอบทำธุรกิจค้าคอมมอดิตี้ที่เสี่ยงสูง
ในชั่วเวลาเพียงสองปีที่เฟิสท์ แปซิฟิคได้เฮกเกอร์ ไมเยอร์มาไว้ในมือ เฮกเกอร์ไมเยอร์ได้ทำการซื้อกิจการในประเทศต่าง
ๆ เป็นจำนวนมาก เช่นกิจการบริษํทออกแบบและทำตลาดให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในรัฐมิสซูรี่
สหรัฐอเมริกา กิจการขายส่งและขายปลีกรองเท้าในเนเธอร์แลนด์ และกิจการตัวแทนจำหน่ายเครื่องสำอางเรฟลอนและวิสกี้ทิชเชอร์ในฮ่องกง
เป็นต้น
เฉกเช่นเดียวกับการใช้เฮกเกอร์ ไมเยอร์เป็นเสมือนกระดานหกเข้ามาในเบอร์ลี่
ยุคเกอร์!
เฮกเกอร์ ไมเยอร์เป็นตัวแทนจำหน่ายสบู่ตรานกแก้วให้กับเบอร์ลี่ฯในตลาดมาเลเซียและสิงคโปร์มาเป็นเวลาหลายปี
จนกระทั่งได้มีการพูดคุยหาหนทางที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนหุ้นกัน
การตกลงนี้มีขึ้นเมื่อปี 2514 เฮกเกอร์ ไมเยอร์เข้ามาถือหุ้น 25% ในเบอร์ลี่
ยุคเกอร์และเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ถือหุ้น 25% ในเฮกเกอร์ ไมเยอร์ เช่นเดียวกัน
เมื่อเฮกเกอร์ ไมเยอร์ตกเป็นของเฟิสท์ แปซิฟิคตั้งแต่ปี 2526 ก็เท่ากับว่าเฟิสท์
แปวิฟิค ได้เข้ามาถือหุ้น 25% ในเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ แต่เป็นการถือในนามของเฮกเกอร์
ไมเยอร์
ในช่วงแรก ๆ เฟิสท์ แปซิฟิคยังไม่มีทีท่าว่าจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ มากนัก นอกเหนือจากส่งคนเข้ามาเป็นกรรมการเพียงคนเดียวเท่านั้น
คน ๆ นั้นก็คือมานูเอล ปังกิลินัน กรรมการผู้จัดการของเฟิสท์ แปซิฟิค ซึ่งมีชื่อเป็นกรรมการของเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ตั้งแต่ปลายปี 2528
นอกจากเฟิสท์ แปซิฟิคจะได้หุ้นในเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ไปแล้ว ก็ยังได้หุ้นในบริษัทมัลติเพอร์โพส
เทรดดิ้ง โดยผ่านเฮกเกอร์ ไมเยอร์ด้วยเช่นเดียวกัน มัลติเพอร์โพสนั้นถือหุ้นเยอร์ลี่อยู่
7% เป็นบริษัทนำเข้าที่เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัทมัณฑนาซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายเครื่องสำอางในเครือเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ กับเฮกเกอร์ ไมเยอร์ ในอัตราส่วน 51 ต่อ 49 เปอร์เซ็นต์
จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2530 จึงได้มีการโอนหุ้นในชื่อของเฮกเกอร์ ไมเยอร์
มาเป็นชื่อของเฟิสท์ แปซิฟิคโดยตรง หลังจากนั้นอีกสองเดือน ตัวแทนของเฮกเกอร์
ไมเยอร์ที่เป็นกรรมการอยู่ในเบอร์ลี่ ยุกเกอร์ ก็ลาออกไป ทางเฟิสท์ แปซิฟิคส่งตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการแทน
คือโรดอลโฟ ซี ซาลาซาร์ ชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้จัดการของบริษัทเฟิสท์
แปซิฟิค เมโทร คอร์ปอเรชั่น ในฟิลิปปินส์
เฟิสท์ แปซิฟิค เมโทร คอร์ปอเรชั่นนี้เดิมชื่อเมโทร ดรั๊ก คอร์ปอเรชั่น
เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยาและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์
เฟิสท์ แปซิฟิคไปซื้อมาเมื่อเดือนมกราคม 2530
อีกเพียงสองเดือนให้หลัง เฟิสท์ แปซิฟิคก็สามารถเพิ่มที่นั่งในคณะกรรมการบริษัทของเบอร์ลี่ฯมาพร้อมๆ
กับไมเยอร์ เสียชีวิตลง เฟิสท์ แปซิฟิคส่งเอ็ดเวิร์ด ทอร์ทอริซี่ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารอีกคนหนึ่งของเฟิสท์
แปซิฟิคเข้ามาเป็นกรรมการของเบอร์ลี่ฯ
กิตติศัพท์ความเป็นนักซื้อกิจการของเฟิสท์ แปซิฟิคนั้นอย่างน้อย ๆ ไมเยอร์ก็คงจะรับรู้อยู่บ้าง
การเข้ามาถือหุ้นถึง 25% ในเบอร์ลี่ฯ แถมยังยึดเก้าอี้กรรมการเอาไว้ถึง 3
ในจำนวน 13 ที่นั่งทำให้ไมเยอร์พอจะจับทางของเฟิสท์ แปซิฟิคได้
"ไมเยอร์เป็นคนฉลาด สุขุมรอบคอบแกรู้ดีว่า การนำบริษัทเบอร์ลี่ฯที่ปั่นมากับมือเข้าตลาดหลักทรัพย์
ถ้าไม่ควบคุมให้ดีสักวันหนึ่งอาจถูกซื้อกิจการไปได้ แกก็เลยเป็นผู้ควบคุมทะเบียนหุ้นของบริษัทเอง
ทีนี้แกก็รู้ว่าใครบ้างที่ขาย ใครบ้างที่ซื้อ เมื่อรู้แกก็จะใช้มันเป็นประโยชน์ในการวางแผนแก้เกมได้ล่วงหน้า"
แหล่งข่าวในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ชื่อดังแห่งหนึ่งให้ข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ"
เพื่อชี้แนะให้เห็นว่า ไมเยอร์เป็นนักวางแผนที่รอบคอบ และเป็นคนที่รักบริษัทเบอร์ลี่ฯด้วยชีวิต"
เฟิสท์ แปซิฟิค ได้ให้คำยืนยันกับทางไมเยอร์เมื่อตอนที่มีการโอนหุ้นในเดือนพฤศจิกายน
2530 ว่า จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการดำเนินงานของเบอร์ลี่ฯแต่อย่างได และจำไม่ทำให้ฐานะของเบอร์ลี่ฯที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องแปรเปลี่ยนไปด้วย
แต่นั่นก็เป็นการรับปากด้วยวาจาเท่านั้นจะเป็นจริงหรือไม่ไม่มีใครรู้จนกว่าจะเกิดเหตุการณ์ก่อน
โดยการแตกหุ้นจากมูลค่าเดิมที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท เป็นหุ้นละ 10 บาท เมื่อเดือนพฤศจิกายน
2530 จำนวนหุ้นแต่เดิม 7 แสนหุ้นจึงเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านหุ้น เพื่อทำให้การกว้านซื้อเป็นไปได้ยากขึ้น
ตัวไมเยอร์เองนั้นมีหุ้นอยู่เพียงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ รวมกับลูก ๆ และกลุ่มผู้บริหารที่เป็นฝรั่งแล้วคาดว่าจะอยู่ในสัดส่วนประมาณ
10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น
"โดยสัดส่วนเพียงแค่นี้ เขาคุมบริษัทเอาไว้ได้ เพราะหุ้นของเบอร์ลี่ฯนั้นกระจายมาก
และแทบจะไม่มีการซื้อขายกันในตลาดเลย เพราะส่วนใหญ่แล้วคนที่ถือหุ้นนี้ไม่ใช่นักเก็งกำไร
อีกอย่างหนึ่งคือ เฮกเกอร์ ไมเยอร์ถือเอาไว้ถึง 25% เขาคงเชื่อใจว่าคุยกันรู้เรื่อง"
แหล่งข่าวในวงการค้าหลักทรัพย์รายหนึ่งให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ"
เจตจำนงของเฟิสท์ แปซิฟิคที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในเบอร์ลี่ฯให้มากที่สุดนั้นทำให้เฟิสท์
แปซิฟิค ไม่พอใจอยู่แค่สัดส่วน 25% ของตน มาตรการการแตกหุ้นของไมเยอร์ไม่อาจจะหยุดยั้งเฟิสท์
แปซิฟิคเอาไว้ได้
เฟิสท์ แปซิฟิคใช้วิธีเสนอราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมาก ๆ ล่อใจผู้ถือหุ้นรายย่อม
ๆให้เทหุ้นออกมาขายให้กับตน "คนของเฟิสท์แปซิฟิคบอกกับผมเองว่า เขาเสนอราคาสูงกว่าราคาตลาดถึง
100%" แหล่งข่าวรายเดิมเปิดเผย
การกว้านซื้อหุ้นของเฟิส์ท แปซิฟิคเชื่อกันว่าทำกันเรื่อยมาตั้งแต่ต้นปี
2531 และเป็นการซื้อขายกันโดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ กลไกอันหนึ่งที่สำคัญในการรวบรวมหุ้นคือ
บริษัท เฟิสท์ แปซิฟิค ซีเคียวริตี้ ซึ่งเป็นซับโบรกเกอร์ในขณะนั้นโดยทำหน้าที่หาข้อมูลผู้ถือหุ้นรายย่อยให้กับบริษัทแม่
เฟิสท์ แปซิฟิค
เฟิสท์ แปซิฟิค ซีเคียวริตี้ เพิ่งจะเริ่มดำเนินการเมื่อต้นปี 2531 โดยซื้อใบอนุญาตมาจากบริษัทหลักทรัพย์ศรีไทย
จำกัด มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท เป็นการร่วมทุนระหว่างธนาคารเอเซีย บริาทเงินทุน
เอกธนกิจ และบริษัท เฟิสท์ แปซิฟิค ซีเคียวริตี้ ซึ่งเป็นกิจการด้านหลักทรัพย์ของ
เฟิสท์ แปซิฟิคกรุ๊ป และนุกูล ประจวบเหมาะก็ถือหุ้นอยู่ด้วย 15% และดำรงตำแหน่งประธานบริษัทด้วย
เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์เพียงเดือนเดียวมีการซื้อขายหุ้นเบอร์ลี่ฯ เป็นเงินเกือบ
11 ล้านบาท หุ้นล็อตใหญ่ที่สุดที่เฟิสท์ได้ไปคือ หุ้นของธนาคารศรีนคร ซึ่งมีอยู่
5 % เชื่อกันว่ามีการซื้อขายกันนอกตลาดฯราวเดือนกันยายนปีที่แล้ว
"เขาคงดูว่า ถือเอาไว้นานแล้วได้เงินปันผลเป็นผลปีละไม่กี่ตังค์ พอมีคนเสนอราคาสูง
ๆให้เลยขายทิ้งเอากำไรเป็นก้อนดีกว่า" แหล่งข่าวในตลาดหลักทรัพย์รายหนึ่ง
เดาใจธนาคารศรีนครในการขายหุ้นครั้งนี้
ความเคลื่อนไหวของ เฟิสท์ แปซิฟิค อยู่ในสายตาของไมเยอร์ ตลอดเพราะเบอร์ลี่ฯเป็นนายทะเบียนหุ้นของตัวเอง
ใครจะซื้อใครจะขายย่อมตรวจสอบได้ตลอดเวลา แต่ในฐานการเงินที่แน่นหนาของเฟิสท์
แปซิฟิคบวกกับการดำเนินการที่ฉับไว ไม่อาจทำให้ไมเยอร์หยุดยั้งการกว้านซื้อหุ้นได้
ปลายเดือนพฤศจิกายน 2531 ไมเยอร์เดินทางไปฮ่องกงเพื่อพบกับมานูเอล ปังกิลินัน
กรรมการผู้จัดการของเฟิสท์ แปซิฟิค เขาได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนฉบับหนึ่งว่า
การเดินทางไปครั้งนี้เป็นการเดินทางตามปกติของเขา ซึ่งจะต้องไปฮ่องกงทุกปี
และที่ไปพบกับปังกิลินันก็เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันธรรมดาเท่านั้น รวมทั้งไปทำความเข้าใจกับทางเฟิสท์
แปซิฟิคในเรื่องที่ตัวเขาได้ขายหุ้นของตระกูลไมเยอร์ในเบอร์ลี่ฯจำนวน 5%
ให้กับทางกลุ่ม เอ ซี ไอ ของออสเตรเลีย
กลุ่มเอ ซี ไอ นี้คือบริษัท ออสเตรเลี่ยนคอนโซลิเดเต็ด อันดัสตรี ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนกับเบอร์ลี่ฯในบริษัทไทยกลาสอินดัสตรีกลุ่มเอ
ซี ไอนี้เป็นเครือข่ายของบริษัทมีทีอาร์ พีวีซี ในประเทศอังกฤษ ไมเยอร์อ้างว่า
การขายหุ้นครั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมการขยายตัวของเบอร์ลี่ฯในอนาคต
"ความจริงแล้วการขายหุ้นครั้งนี้น่าจะเป็นการเล่นเกมกันกลุ่มเฟิสท์
แปซิฟิคของไมเยอร์มากว่า" แหล่งข่าวผู้หนึ่งแสดงความคิดเห็นกับ "ผู้จัดการ"
การกันในความหมายนี้ก็คือ การสกัดกั้นการครอบครองหุ้นของเฟิสท์ แปซิฟิค โดยอาศัยเงื่อนไขทางกฎหมายที่คนต่างชาติจะถือหุ้นในบริษัทไทยเกิน
49% ไม่ได้ การขายหุ้นให้กับกลุ่มลดสัดส่วนหุ้นเบอร์ลี่ฯที่เฟิสท์ แปซิฟิคจะกว้านซื้อเอาไปลงไปอีก
5%
ไมเยอร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เท่าที่เขาทราบเฟิสท์ แปซิฟิคถือหุ้นเบอร์ลี่ฯ
ในนามของตัวเองอยู่ 38 เปอร์เซ็นต็และยังมีอีกบางส่วนที่ถือในนามของบริษํทไทยซึ่งตัวเขาเองก็ไม่ทราบว่าเป็นเท่าไร
ในขณะที่เฟิสท์ แปซิฟิคอ้างว่าตัวเองถือหุ้นเบอร์ลี่ฯ อยู่ถึง 42%
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ การเดินทางไปฮ่องกงครั้งนี้เกิขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของเบอร์ลี่ฯในเดือนธันวาคมเพียงเล็กน้อย
จึงน่าจะเป็นการหยั่งท่าทีและทำความเข้าใจก่อนที่การประชุมจะมีขึ้น
ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าไมเยอร์และปังกิลินันเองว่า การพบกันที่ฮ่องกงเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
เขาทั้งสองได้ทำความตกลงในเรื่องอะไรกันบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ
ฐานะของเฟิสท์ แปซิฟิคในเบอร์ลี่ฯเด่นชัดขึ้น เมื่อไมเยอร์ยอมเพิ่มจำนวนกรรมการบริษัทจากเดิม
13 คนเป็น 15 คน
ตำแหน่งกรรมการที่เพิ่มขึ้นสองตำแหน่งนั้นเป็นของเฟิสท์ แปซิฟิค ผู้ที่เข้ามาใหม่ก็คือ
เดวิด เดวี่ส์ กรรมการผู้จัดการของเฟิสท์ แปซิฟิค เดวี่ส์ ซึ่งเป็นกิจการด้านเรียลเอสเตทของเฟิสท์
แปซิฟิค ในฮ่องกงที่เข้ามาลงทุนร่วมกับเบอร์ลี่ฯและบริษัท ซิตี้ พรอพเพอร์ตรี้ส์
ก่อตั้งบริษัทเฟิสท์ แปซิฟิค เดวี่ส์ พรอพเพอร์ตี้ส์(ประเทศไทย) ขึ้น เมื่อเดือนธันวาคม
2530 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท
อีกคนหนึ่งคือ วิเซนเต้ ทินเซย์ ชาวฟิลิปปินส์ กรรมการบริหารและมือการเงินของเฟิสท์
แปซิฟิค
เมื่อรวมกับกรรมการที่มีอยู่เดิม 3 คน แล้ว เฟิสท์ แปซิฟิคได้ที่นั่งถึง
1 ใน 3 ของคณะกรรมการเบอร์ลี่ ยุคเกอร์!
อย่างไรก็ตาม อำนาจการบริหารที่แท้จริงก็ยังอยู่ในมือของผู้บริหารที่แท้จริงก็ยังอยู่ในมือของผู้บริหารเดิมของเบอร์ลี่ฯตัวแทนทั้ง
5 คนจากเฟิสท์ แปซิฟิค ยังไม่มีสิทธิมีเสียงในการบริหารเพราะอยู่ในฐานะกรรมการบริษัทเท่านั้น
คณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบันของเบอร์ลี่ฯประกอบด้วย เอ็ดก้า โรเดล ผู้จัดการใหญ่และรองอีกสี่คน
คือ โฟลเกอร์ ฟิชเชอร์ ดร.อดุลย์ อมตวิวัฒน์ ประเสริฐ เมฆวัฒนา
นิติ ไมเยอร์ ลูกชายของวอลเตอร์ ไมเยอร์ ปัญหาอยู่ที่ว่า เฟิสท์ แปซิฟิค
จะหยุดนโยบายการบริหารมาไว้ในมือ
คำตอบข้อที่หนึ่งสำหรับปัญหานี้อยู่ที่ว่ากลุ่มผู้บริหารชุดปัจจุบันของเบอร์ลี่ฯสามารถบริหารกิจการให้เป็นที่พอใจของผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างเฟิสท์
แปซิฟิคได้หรือไม่?
สไตล์การบริหารงานของเบอร์ลี่?ในสายตาของนักการตลาดรุ่นใหม่แล้ว ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยม
"เบอร์ลี่ฯไม่ค่อยทุ่มในการทำโปรโมชั่นเท่าไร จะทำตามงบประมาณที่ตั้งเอาไว้เท่านั้น
พอสินค้าขายได้ถึงเป้าหมายตามที่กำหนดก็หยุด ไม่บุกต่อไป" พิพัฒน์ พะเนียงเวทย์
นักการตลาดชื่อดังอธิบายตัวอย่างที่สะท้อนถึงความเป็นอนุรักษ์นิยมของเบอร์ลี่ฯ
ในการบริหารงานตลาดให้ฟัง
รูปธรรมอีกอันหนึ่งที่บ่งบอกถึงสไตล์การบริหารงานของเบอร์ลี่ฯก็คือ การรวมศูนย์การตัดสินใจอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูงทั้งหมด
ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหาและการดำเนินงานล่าช้าแบบราชการ
การซื้อโรงงานบริษัทแยงซีเกียง ที่ผลิตเส้นหมี่สำเร็จรูปเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน
เรื่องนี้เกิดเมื่อ 3 ปีก่อน ทางเบอร์ลี่ฯ คือประเสริฐ เมฆวัฒนา ได้ชวนพิพัฒน์
จากไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ร่วมหุ้นกันซื้อแยงซีเกียง แต่เอาเข้าจริง ทางพิพัฒน์กับซื้อเป็นเพียงคนเดียว
เพราะประเสริฐ ตัดสินใจเองไม่ได้ต้องรายงานให้บอร์ดทราบกว่าบอร์ดจะพิจารณาก็ล่าช้ามาก
จนคอยกันไม่ไหว ทางพิพัฒน์ก็เลยซื้อเอง
ในขณะที่ภาพลักษณ์ของเฟิสท์ แปซิฟิคนั่นคือกลุ่มนักลงทุนหนุ่ม ที่ทำงานรวดเร็วเต็มไปด้วยแต้มคู
ตัดสินใจฉับไวและพร้อมที่จะเสียง
หน่อของความขัดแย้งในท่วงทำนองนี้ได้ปรากฏขึ้นแล้วบ้างแม้เรื่องราวดูจะไม่เป็นประเด็นสำคัญนักก็ตาม
แต่มันก็สะท้อนถึงวัฒนธรรมตัดสินใจบริหารที่แปลกแยกต่อกันได้ นั่นคือ เรื่องการโยกย้ายสำนักงาน!
สถานที่ตั้งสำนักงานที่เพลินจิตจะหมดสัญญาเช่าในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ ทางกลุ่มไมเยอร์อยากให้ย้ายไปอยู่ที่ซอยรูเบีย
ซึ่งเป็นตัวอาคารคลังสินค้า โดยดัดแปลงให้เป็นสำนักงานได้ เพราะที่ดินเป็นของบริษัทเองแต่ทางกลุ่มเฟิสท์
แปซิฟิค เห็นว่ามันไกลไปจากตัวเมือง ไม่สะดวก และไม่สมฐานะกลุ่มนี้เขาเห็นควรให้หาที่อยู่สำนักงานในตัวเมืองดีกว่า
เช่นที่…ตึกสหกล ที่สุขุมวิทที่บริษัทเฟิสท์ แปซิฟิค แลนด์ ของกลุ่มเฟิสท์
แปซิฟิค ซื้อมาในราคา 320 ล้านบาท ก็พร้อมจะขายให้เบอร์ลี่ฯ แต่ทางบอร์ดของเบอร์ลี่ฝ่ายไมเยอร์ไม่เอาด้วย
ซึ่งสาเหตุแล้วก็อาจมาจากกลุ่มของไมเยอร์เห็นว่าทางเฟิสท์ แปซิฟิคไม่แฟร์ซื้อตึกสหกลมาแทนที่จะซื้อมาในนามบริษัทเฟิสท์
แปซิฟิค เดวี่ส์ที่ร่วมทุนกัน 3 ฝ่าย ระหว่างเฟิสท์ แปซิฟิค ซิตี้ พรอพเพอร์ตี้ส์
และเยอร์ลี่ ยุคเกอร์ทางเฟิสท์ แปซิฟิคกับเล่นเอาบริษัทในเครือเฟิสท์ แปซิฟิค
แลนด์ มาซื้อเสียเอง โดยกะหวังขายเอากำไรเข้ากระเป๋าตัวเองคนเดียว
และนี่คือตัวอย่างความไม่ลงรอยกันและไม่ไว้ในกันได้เกิดขึ้นแล้ว
ความขัดแข้งในท่วงทำนองการบริหารเช่นนี้จะทำให้เฟิสท์ แปซิฟิคไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้แน่!
คำตอบข้อที่สองสำหรับก้าวต่อไปของเฟิสท์ แปซิฟิคก็คือ เฟิสท์ แปซิฟิคต้องการอะไรจากเบอร์ลี่ฯ
ในรายงานที่เสนอต่อผู้ถือหุ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว เฟิสท์ แปซิฟิค
ได้ระบุถึง
กิจการที่เป็นกลไกสำคัญในการทำธุรกิจตัวแทนจำหน่ายและการตลาดของตนไว้ 3 กิจการคือ
เฮกเกอร์ไมเยอร์ เฟิสท์ แปซิฟิค เมโทร คอร์ปอเรชั่นและเบอร์ลี่ ยุคเกอร์
จุดแข็งของเบอร์ลี่ฯที่แปซิฟิคสนใจนั้นอยู่ที่เครือข่ายทางการตลาดที่กว้างขวาง
เบอร์ลี่ฯมีร้านค้าที่เป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าทั่วประเทศอยู่ประมาณ 26,000
แห่ง และขายได้จริง ๆ 18,000 แห่ง ถ้าเฟิสท์ แปซิฟิคจะต้องลงทุนสร้างเครือข่ายเหล่านี้ด้วยตัวเองแล้ว
ก็จะต้องลงทุนอย่างมหาศาลเป็นระยะเวลาที่นานมาก ทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ ในขณะที่คู่แข่งได้สร้างพื้นฐานอย่างแข็งแกร่งและเดินล่วงหน้าไปหลายสิบก้าวแล้ว
การใช้เครือข่ายทางการตลาดที่มีอยู่แล้วของเบอร์ลี่ฯจึงเป็นทางลัดที่รวดเร็วที่สุดของผู้มาใหม่อย่างเฟิสท์
แปซิฟิค
และบริษัทเครือข่ายที่เบอร์ลี่ฯไปลงทุนไว้ก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดให้เฟิสท์
แปซิฟิคเดินเข้ามาหาอย่างไม่ลังเล
เบอร์ลี่ฯ มีบริษัทในเครือและบริษัทร่วมอยู่ถึง 21 บริษัท มีทั้งบริษัทที่ทำการผลิตอย่างรูเบียอุตสาหกรรม
โปลิโฟม ไทยเปเปอร์ โปรดักส์ และบริษัทตัวแทนจำหน่ายอีกหลายๆแหล่ง(ดูตารางบริษัทในเครือและบริษัทร่วม)
เบอร์ลี่ฯจึงเป็นฐานที่สำคัญของเฟิสท์ แปซิฟิคในการขยายอาณาจักรทางธุรกิจของตนในประเทศไทยเช่นเดียวกับที่เฮกเกอร์ไมเยอร์เป็นสปริงบอร์ดในการสร้างเครือข่ายทั่วเอเชีย
แปซิฟิคมาแล้ว
นั่นหมายความว่า เฟิสท์ แปซิฟิคจะต้องเข้ามามีส่วนกำหนดทิศทางของเบอร์ลี่ฯ
อย่างเต็มตัว
เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ในปีนี้จึงมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ การประชุมผู้ถือหุ้มที่จะมีขึ้นปลายปีนี้
จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของบริษัทที่มีอายุถึง 107 ปีแห่งนี้
เกมธุรกิจระหว่างเฟิสท์ แปซิฟิค เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (วอลเตอร์ ไมเยอร์)จึงยังไม่จบ