ปตท.ล้มควบโรงกลั่นฯ


ผู้จัดการรายวัน(16 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ปตท.ปิดฉากการเจรจาควบรวมโรงกลั่นน้ำมันระยองและโรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียมฯ หลังไม่สามารถหาข้อยุติเงื่อนไขร่วมกันได้ ยันเดินหน้านำโรงกลั่นน้ำมันระยองเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเพียงบริษัทเดียว มั่นใจจะยื่นไฟลิ่งทันปลายปีนี้ และดันเข้าตลาดหุ้นในต้นปี 2549 ชูไอเดียสร้างมูลค่าเพิ่มโดยจะดึงโรงกลั่นทีพีไอและเอทีซีเพื่อสร้างSynergyร่วมกัน แบไต๋ในอนาคตอาจถึงขั้นควบรวมกิจการ เพื่อก้าวเป็นโรงกลั่นปิโตรเคมีเหมือนไทยออยล์

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความคืบหน้าการควบรวมโรงกลั่นน้ำมันระยอง (RRC) และโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟนิ่ง(SPRC)ว่า ในการเจรจากับเชฟรอน เพื่อควบรวมโรงกลั่นทั้ง 2 แห่งแล้ว นำเข้าตลาดหลักทรัพยแห่งประเทศไทยค่อนข้างล่าช้า และไม่สามารถตกลงเงื่อนไขบางอย่างได้

ดังนั้น ปตท.จึงตัดสินใจที่จะไม่ควบรวมโรงกลั่นเข้าด้วยกัน แต่จะพิจารณาแยกกัน โดยจะนำโรงกลั่นน้ำมันระยองเข้าตลาดเพียงบริษัทเดียว คาดว่าจะสามารถยื่นไฟลิ่งต่อก.ล.ต.ได้ปลายปีนี้ และระดมทุนในต้นปี2549

นอกจากนี้ ทางปตท.จะมีการศึกษาว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไร รวมไปถึงความร่วมมือระหว่างโรงกลั่นน้ำมันระยองกับโรงกลั่นของบมจ.ปิโตรเคมีกัลไทย (TPI) และบมจ.อะโรเมติกส์(ประเทศไทย) (ATC) เพื่อให้เกิดSynergy ร่วมกัน โดยจะจัดทำเป็น Business Model เสนอต่อนักลงทุนและกระจายหุ้นให้ประชาชนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในขั้นนี้ยังไม่ได้พิจารณาว่าจะมีการควบรวมโรงกลั่นน้ำมันระยองกับTPI หรือATC แต่จะดูในแง่Synergy แต่ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ เพราะโรงกลั่นและการผลิตพาราไซลีนเป็นของคู่กัน ซึ่งโรงกลั่นน้ำมันระยองจะมองว่าเป็นโรงกลั่นน้ำมันเพียงอย่างเดียวได้คงไม่ได้ แต่จะต้องเป็นโรงกลั่นปิโตรเคมี เหมือนกับโรงกลั่นไทยออยล์ และโรงกลั่นทีพีไอ

สำหรับโรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียมฯที่ปตท.ถือหุ้นอยู่ 36% ก็คงต้องหารือว่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯอย่างไร แต่ความร่วมมือกันในการดำเนินธุรกิจของทั้ง 2โรงกลั่นก็ยังมีต่อไป

"คอนเซ็ปต์ของปตท.คือต้องการให้โรงกลั่นขายน้ำมันตามราคาตลาดโลก แต่ทางเชฟรอนฯในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรงกลั่นสตาร์ฯอยากให้ขายน้ำมันราคาต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งเมื่อนำบริษัทฯเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว ปตท.มองว่าผู้ถือหุ้นจะไม่ได้ประโยชน์และเราต้องการให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างโปร่งใส การทำกำไรหรือขาดทุนเป็นไปตามมาร์เกต คอส"

ที่ผ่านมา โรงกลั่นทั้ง 2 แห่งมีภาระผูกพันกับทางรัฐที่จะนำเข้าบริษัทฯเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯมาตั้งแต่การขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งได้เลื่อนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯมาเป็นเวลานาน โดยก่อนหน้านี้ ปตท.มีแผนที่จะนำโรงกลั่นทั้ง 2 โรงควบรวมกันแล้วนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปีนี้ แต่เมื่อไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ การเร่งยื่นไฟลิ่งของโรงกลั่นน้ำมันระยองในปลายปีนี้ให้ทัน เพื่อที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีตามเงื่อนไขข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.