"เจริญ"ลุยเหล้านอก


ผู้จัดการรายวัน(9 ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เจ้าพ่อน้ำเมา" เจริญ สิริวัฒนภักดี เริ่มลุยธุรกิจสุราระลอกใหญ่ จัดแบ่งธุรกิจออกเป็น 2 สาย ตั้งบริษัท เอเชียเบฟ จำกัด ดูแลการจัดจำหน่ายสุราต่าง ประเทศหลังจากที่ซื้อโรงงานผลิตสกอตช์วิสกี้มาถึง 5 โรง รวมทั้งดูแลการจัดจำหน่ายเบียร์คาร์ลส-เบอร์ก ส่วนกลุ่มแสงโสมดูแลการขายสุราและเบียร์ไทย ที่มีแผนขยายตลาดส่งออกและขายไลเซนส์ เบียร์ช้างให้แก่ประเทศที่สนใจ

การเคลื่อนตัวขยายธุรกิจของ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ในแต่ละครั้งล้วนเป็นที่จับตามองของคนทั่วไปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการ เข้าไปลงทุนซื้อ Inver House Distillers ซึ่งเป็นโรงงานกลั่นมอลต์วิสกี้ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1964 มีโรงกลั่นรวมกันถึง 5 โรง ในสกอต แลนด์ ปัจจุบันผลิตสกอตช์วิสกี้กว่า 100 ชนิดจำหน่ายใน 80 ประเทศทั่วโลกโดยมียอดขายปีละประมาณ 55 ล้านปอนด์ และได้ตั้งบริษัท เอเชียเบฟ จำกัด ขึ้นมาทำหน้าที่จัด จำหน่ายสกอตช์วิสกี้ในประเทศไทย เปิดขุนพลเอเชียเบฟ

บริษัท เอเชียเบฟ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2545 เพื่อ ทำหน้าที่จำหน่ายสุราต่างประเทศ และเบียร์คาร์ลสเบอร์ก หรือดูแลในกลุ่มสินค้าที่เป็นแบรนด์ต่างประเทศเป็นหลัก โดยนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกลุ่มแสงโสม ได้ติดต่อให้นายฐีระวิตต์ ลี้ถาวร ผู้จัดการทั่วไป ของบริษัท ซีแกรม (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่าย ชีวาส รีกัล และฮันเดรด ไพเพอร์ มาร่วมงานกับกลุ่มนายเจริญเมื่อต้น ปีที่ผ่านมา โดยเข้ามาดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียเบฟ จำกัด

นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารระดับสูงจากค่าย ซีแกรมอีกหลายคนที่เข้ามาร่วมงานกับเอเชียเบฟ ประกอบด้วย นายชนิต สุวรรณพรินทร์ มารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ร.ท.สมพล จารุมิลินท ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล นายเทวัญ อสัมพินพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน และนาย มนตรี สันติลักขณาวงศ์ ผู้จัดการกลุ่มผลิต ภัณฑ์ ซึ่งทีมงานกลุ่มนี้ได้สร้างชื่อเสียงและฝาก ฝีไม้ลายมือในการสร้างให้ฮันเดรด ไพเพอร์ส ของค่ายซีแกรมขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดวิสกี้ เซกันดารี่มาแล้ว

นายฐีระวิตต์ ลี้ถาวร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียเบฟ จำกัด กล่าวว่า นายเจริญ ได้เข้าไปซื้อโรง กลั่นมอลต์วิสกี้ Inver House Cistillers มาได้ 2-3 ปี โดยคาดว่ามูลค่าการซื้อขายโรงกลั่นทั้ง 5 โรงน่าจะสูงถึงหลักพันล้านบาท

"คุณเจริญมีความตั้งใจบางสิ่งบางอย่างที่อยาก จะทำสุราต่างประเทศ ซึ่งการตั้งทีมงานขายขึ้นมานี้ก็เพิ่งเกิดได้เพียง 2 เดือนเท่านั้นเอง โดยขณะนี้บริษัทยังไม่ได้วางเป้าหมายอะไร คงต้องรอดูตลาดไปสักระยะหนึ่งก่อน"

ให้ทีมเดิมบริหารโรงกลั่น

สำหรับการบริหารโรงกลั่นในสกอตแลนด์นั้น นายเจริญได้มอบหมายให้ทีมงานเดิมบริหารงาน ต่อไป โดยมีดร.มาร์ติน เลียวนาร์ด มาสเตอร์ เบลนเดอร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการปรุงสกอตช์วิสกี้ และดำรงตำแหน่งประธานสถาบันวิจัยสกอตช์ ดูแลด้านการผลิตและปรุงสกอตช์วิสกี้ทั้งหมดของ Inver House Cistillers ซึ่งมีสุราอยู่ในการผลิต กว่า 100 ชนิด โดยปัจจุบันสุราเหล่านี้มีวางจำหน่ายอยู่ในประเทศต่างๆกว่า 80 ประเทศ ซึ่งจะทยอยเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเป็นประเทศแรกของเอเชีย บุกตลาดเหล้าเซกันดารี่

โดยล่าสุด ทางเอเชียเบฟ ได้นำเข้าสกอตช์วิสกี้ตัวแรกมาประเดิมตลาดในประเทศไทย คือ แมคอาเธอร์ สำหรับรุกตลาดเซกันดารี่ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยตลาดเหล้าในกลุ่มนี้ มีฮันเดรด ไพเพอร์ เป็นผู้นำตลาด ตามด้วย สเปย์ รอยัล

นายชนิต สุวรรณพรินทร์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาด บริษัท เอเชียเบฟ จำกัด เปิดเผยว่า การที่เอเชียเบฟเข้ามาทำตลาดเหล้าเซกันดารี่ก่อนเป็นเพราะเป็นตลาดที่ใหญ่ ซึ่งในตลาดมีคู่แข่งขันอยู่เพียง 2 รายเท่านั้นคือ ฮันเดรด ไพเพอร์ส และสเปย์ รอยัล ซึ่งในส่วนของฮันเดรด ไพเพอร์ส ก็เป็นสินค้าที่ทางทีมงานสร้างขึ้นมาจึงรู้แนวทางการทำตลาดอยู่แล้ว

ในขณะที่เหล้าตัวใหม่ที่นำเข้ามาทำตลาด คือ แมคอาเธอร์ ก็มั่นใจว่าน่าจะมีแนวโน้มที่ดี เพราะจาก การทดสอบรสชาติกับผู้บริโภคพบว่าผู้บริโภคให้ การยอมรับมากกว่าเหล้าของคู่แข่งขัน นอกจากนี้ทีม งานของเอเชียเบฟ ก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับร้านค้าอยู่แล้ว เพราะได้ทำธุรกิจร่วมกันมานานถึง 4-5 ปี

"การที่เอเชียเบฟไม่เข้ามาทำตลาดเหล้าราคาแพง เนื่องจากเป็นตลาดที่เล็กผู้บริโภคนิยมดื่มน้อยลง ในขณะที่ตลาดเหล้าเซกันดารี่ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะในช่องทางสถานบันเทิงที่จะพยายามกระจายสินค้าให้มากขึ้น"

แต่การส่งแมคอาเธอร์เข้ามาทำตลาดในครั้งนี้ เอเชียเบฟ กลับท้าทายตลาด ด้วยการตั้งราคาขายสูงกว่าผู้นำตลาดอย่างฮันเดรด ไพเพอร์ส โดยแมค-อาเธอร์ มีราคาขายขวดละ 285 บาท ส่วนฮันเดรด ไพเพอร์ส ราคา 275 บาท และสเปย์ รอยัล มีราคา เพียง 249 บาท

นายฐีระวิตต์ กล่าวว่า การที่คู่แข่งขันหันมาลด ราคาลงมากๆ นั้น ไม่เป็นผลดีในระยะยาวเนื่อง จากไม่สามารถคุมราคาสินค้าได้ เพราะร้านค้าบางแห่งสต็อกสินค้ามาก เพื่อเก็บไว้ขายในช่วงที่ไม่ได้ลดราคาก็มีกำไรดีกว่า ส่วนรายที่ไม่มีสต็อกก็แข่งขันราคาไม่ได้ ในที่สุดแล้วสินค้าที่ชอบลดราคาก็จะอยู่ในตลาดไม่ได้

โยกคาร์ลสเบอร์กให้เอเชียเบฟดูแล

นายฐีระวิตต์ กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากการนำเข้าสกอตช์วิสกี้ จาก Inver House Cistillers เข้ามาจำหน่ายในไทยแล้ว ทางบริษัทก็ยังต้องหา สินค้าใหม่ๆเข้ามาเสริมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นผู้จัดจำหน่ายเบียร์ คาร์ลสเบอร์ก อีกผลิต ภัณฑ์หนึ่งด้วย เนื่องจากยอดขายของคาร์ลสเบอร์กในช่วงที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากกลยุทธ์การขายเหล้าพ่วงเบียร์ของทีมงานชุดเดิมที่เร่งผลักดันเบียร์คาร์ลสเบอร์กเข้าสู่ตลาด ส่งผล ให้สินค้าไปสต็อกอยู่ที่ร้านค้าเป็นจำนวนมากและระบายออกได้ช้า พอผู้บริโภคซื้อไปดื่มก็พบว่าเป็นสินค้าเก่าที่รสชาติไม่ได้มาตรฐาน

"สิ่งที่ทีมงานของเอเชียเบฟเข้าไปทำในช่วงแรกก็คือ การเก็บสินค้าเก่าที่อยู่ในตลาดกลับคืนมาและส่งคาร์ลสเบอร์กที่ผลิตใหม่เข้าสู่ตลาดแทน โดยเรายังยืนยันว่าคาร์ลสเบอร์กเป็นเบียร์ระดับเดียวกับไฮเนเก้น"

กลุ่มแสงโสมเร่งเครื่องลุยต่างประเทศ

ทางด้านนายธนิต ธรรมสุคติ ผู้จัดการสำนักประชาสัมพันธ์ กลุ่มบริษัทแสงโสม และที่ปรึกษา บริษัท เบียร์ไทย 1991 จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ช้าง เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ธุรกิจหลักของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ยังคงเป็นกลุ่ม บริษัทแสงโสม ที่จำหน่ายทั้งสุราไทยและเบียร์ช้าง ซึ่งมียอดขายมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ในขณะที่การทำธุรกิจสุราจากต่างประเทศนั้น ไม่เกี่ยว ข้องกับกลุ่มบริษัทแสงโสมแต่อย่างใด ซึ่งหากจะเป็น การลงทุนของนายเจริญ ก็น่าจะลงทุนในนามส่วนตัว หรือผ่านทางบริษัทอื่นมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของกลุ่มแสงโสม ก็คือ ความพยายามในการผลักดันสุราในเครือไม่ว่าจะเป็น แม่โขง หรือแสงโสม ให้ออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยผ่านทางบริษัท คาร์ลสเบอร์ก เอเชีย จำกัด เพื่อสร้างแบรนด์สุราไทยให้มีชื่อเสียงในตลาดต่างประเทศ เช่นเดียวกับที่สุราต่างประเทศเข้ามาสร้างชื่อเสียงในประเทศไทยมากมายหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นการขยายตลาดในอเมริกา ยุโรป หรือประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม โดยวางเป้าหมายยอดขายสุราในตลาดต่างประเทศไว้ประมาณ 5% ของยอดขายรวมภายในประเทศ

ส่วนเบียร์ช้างนั้น วางเป้าหมายที่จะส่งออกให้ได้ประมาณ 1% ของยอดขายในประเทศ หรือคิดเป็น ปริมาตร 8 ล้านลิตร จากกำลังการผลิตทั้งหมด 800 ล้านลิตร ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่ายอดขายไฮเนเก้นตลอดทั้งปีเสียอีก โดยประเทศที่ตลาดยังเล็กก็จะใช้วิธีการส่งสินค้าเข้าไปจำหน่าย ในขณะที่ประเทศที่มีศักยภาพก็จะใช้วิธีขายไลเซ่นการผลิตให้แก่พันธมิตรแทน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ขายไลเซ่นเบียร์ช้างให้แก่ บริษัท คาร์ลสเบอร์ก บริวเวอรี่ มาเลเซีย จำกัด ไปแล้ว เพื่อผลิตและจำหน่ายในมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีการตอบรับเบียร์ช้างดี นอกจากนี้ทางบริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาขายไลเซ่นให้กับพันธ- มิตรในประเทศอื่นๆ อีก

"การขายไลเซ่นออกไปช่วยให้เบียร์ช้างสามารถบุกตลาดในต่างประเทศได้เร็วขึ้น และสร้างรายได้ดีกว่าที่จะผลิตและส่งออกไปจำหน่ายเอง" นายธนิต กล่าว

นายธนิต ได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจสุราและเบียร์ช้างในปัจจุบันว่า หลังจากที่กลุ่มนายเจริญ ประมูลซื้อโรงกลั่นสุราบางยี่ขันมาจากรัฐ ในมูลค่า 8,000 ล้านบาท และมีเงื่อนไขที่จะต้องเสียภาษีสุราให้แก่รัฐอย่างต่อเนื่องปีละ 2,000 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งในปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่ทางบริษัทจะจ่ายภาษีให้รัฐ และปี 2546 เป็นต้นไป การเสียภาษีก็จะเสียตามการผลิตจริง

ส่วนรายได้จากการจำหน่ายเบียร์ช้างนั้น นายธนิต ปฏิเสธที่จะบอกตัวเลขยอดขาย บอกแต่เพียงว่าปัจจุบันเบียร์ช้างเสียภาษีสรรพสามิตเดือนละเกือบ 2,000 ล้านบาท หรือปีละประมาณ 20,000 ล้านบาทและมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 60% ของตลาดรวม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.