อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษไทย : โอกาสและข้อจำกัดการเติบโต


ผู้จัดการรายวัน(2 ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ยังคงความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม และมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมต้นทาง(Upstream Industry) ที่ส่งทอดเชื่อม โยงไปยังอุตสาหกรรมขั้นกลางและอุตสาหกรรมปลายทาง อันได้แก่ อุตสาห-กรรมกระดาษ บรรจุภัณฑ์ และสิ่งพิมพ์ ทั้งนี้ แม้อุตสาหกรรมนี้จะไม่ใช่อุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินหรือความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง แต่ก็มีส่วนส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ รวมไปถึง สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศจากการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งจากแนวโน้มความ ต้องการใช้เยื่อกระดาษทั้งในประเทศและในตลาดโลกที่ขยายตัวสูงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่นับวันจะยิ่งมีความสำคัญ มีความน่าสนใจ และเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต

ปัจจุบัน จากปัจจัยพื้นฐานของอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างมีความมั่นคง ผนวกกับปัจจัยด้านตลาดที่ยังมีแนวโน้มความต้องการใช้อย่างต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ และสถานการณ์ความเคลื่อนไหวล่าสุด นั่นคือ การกลับมาทวงถามความคืบหน้าของโครงการร่วมลงทุนขนาด ใหญ่ระหว่างรัฐบาลจีนกับเอกชนไทยซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเดิมในอุตสาหกรรมในการจัดตั้งโรงงานผลิตเยื่อกระดาษมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเหรียญ สหรัฐ ที่ได้มีการริเริ่มโครงการขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน จึงคาดหมายว่าทั้งภาครัฐและเอกชนจะหันมาให้ความสนใจอุตสาหกรรมนี้อีกครั้ง ซึ่งหมายถึงโอกาสในการขยายตัวของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษไทยที่จะสามารถเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดโลกมากขึ้นในฐานะประเทศผู้ส่งออก อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ผ่านมาการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้จะมีการหยิบยกประเด็นเรื่องผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ที่เอื้อให้เกิดการสร้างรายได้ตั้งแต่หน่วยเศรษฐกิจระดับรากหญ้าซึ่งเป็นเกษตรกรที่ปลูกป่าไปจนถึงเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศขึ้นมาเป็นปัจจัยสนับสนุน แต่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาในการจัดการด้านวัตถุดิบ การ จัดหาพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบ รวมทั้งเทคโนโลยีการผลิต เยื่อกระดาษที่สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ล้วนแต่เป็นข้อจำกัดในการขยายตัวของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษมาโดยตลอด ดังนั้น โอกาสในการขยายตัวของอุตสาหกรรมจึงขึ้นอยู่กับผลการชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ที่ได้รับกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ผนวกกับการประเมินศักยภาพและโอกาสของอุตสาหกรรมในขอบเขตของตลาดโลกอย่างรอบคอบวิวัฒนาการอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษในประเทศไทย

จุดเริ่มต้น...ผลิตเพื่อใช้ในประเทศ

"เยื่อกระดาษ" เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากอุตสาหกรรมต่อเนื่องทางการเกษตร ความสำคัญของเยื่อกระดาษในฐานะที่เป็นวัตถุดิบพื้นฐานในอุตสาหกรรมหลากหลายถือได้ว่ามีความสำคัญยิ่งต่อการเจริญเติบโตของประเทศ เพราะไม่เพียงแต่นำไปใช้ในการผลิตกระดาษประเภทต่างๆ ยังสามารถนำเยื่อกระดาษมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ ยิปซั่มบอร์ดและเส้นใยเรยอนเพื่อใช้ในการผลิตสิ่งทอซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของประเทศ รวมทั้งยังมีความเชื่อมโยงต่อเนื่องไปถึงภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม อื่นๆ ทั้งที่เป็นภาคการผลิตและภาคบริการ ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ที่ในแต่ละปีมีความต้องการใช้กระดาษเป็นปริมาณมาก

ปี 2535-ปัจจุบัน...ทศวรรษแห่งการขยายกำลังการผลิต

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษมีการพัฒนาและขยายตัวตามทิศทางของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งการขยายตัวของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษของไทยแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงที่สำคัญ ช่วงที่ 1(ตั้งแต่ปี 2525-2536)เป็นระยะเวลาของการเริ่มต้นของอุตสาหกรรม การขยายตัวในช่วงเวลาดังกล่าวจึงมีอัตราที่ไม่สูงนัก เป็นการเริ่มลงทุนและขยายกำลังการผลิตของบริษัท ฟินิคซ์ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด รวมทั้งการหันมาผลิตเยื่อกระดาษของบริษัทในเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งก็คือ บริษัท สยามเซลลูโลส จำกัด ที่เดิมมีการนำเข้าเยื่อกระดาษมาใช้ในการผลิตกระดาษ และบริษัท เยื่อกระดาษสยาม จำกัด ที่มีการลงทุนผลิตเยื่อกระดาษในปี 2535 ช่วงที่ 2 (ตั้งแต่ปี 2535-ปัจจุบัน) เป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดจากการขยายกำลังการผลิตของฟินิคซ์ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ โรงที่ 2 และการลงทุนของบริษัท ปัญจพลพัลพอินดัสตรี จำกัด ในปี 2537 รวมทั้งการลงทุนของบริษัทผลิตเยื่อกระดาษรายใหญ่ของประเทศ คือ บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด ซึ่งมีการลงทุนในโรงงานผลิตเยื่อกระดาษในปี 2539 และ 2541

การขยายตัวของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษของไทยมีกำลังการผลิตเยื่อกระดาษใยสั้นเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันไทยมีกำลังการผลิตเยื่อกระดาษใยสั้นเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นอันดับ 5 ในเอเชีย รองจากจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และอินเดีย โดยไทยมีกำลังการผลิตปีละประมาณ 1 ล้านตัน จากการผลิตของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจำนวน 5 ราย 1/ ประกอบด้วย บมจ.แอ๊ดวานซ์ อะโกร มีส่วนแบ่งการผลิตสูงสุด ร้อยละ 44.9 จากกำลังการผลิตเยื่อใยสั้นฟอกขาวจากยูคาลิปตัส(Bleached Eucalyptus Kraft Pulp) ในโรงเยื่อกระดาษ 2 โรง รวมทั้งสิ้น 430,000 ตันต่อปี ตามมาด้วย บมจ.ฟินิคซ์ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ มีส่วนแบ่งการผลิต ร้อยละ 23.0 จากกำลังการผลิตเยื่อใยสั้นจากไม้ยูคาลิปตัส(Bleached Eucalyptus Kraft Pulp) จำนวน 195,000 ตันต่อปี เยื่อใยสั้นจากไม้ไผ่(Bleached Bamboo Pulp) จำนวน 20,000 ตันต่อปี และ เยื่อใยสั้นจากปอ(Bleached Kenaf Pulp) จำนวน 5,000 ตันต่อปี บมจ.เยื่อกระดาษสยาม มีส่วนแบ่งการผลิต ร้อยละ 13.1 จากกำลังการผลิตเยื่อใยสั้นฟอกขาวจากยูคาลิปตัส ประเภท CTMP Pulp จำนวน 78,000 ตันต่อปี และ เยื่อกระดาษจากชานอ้อย(Bagasse Pulp) จำนวน 48,000 ตันต่อปี บมจ.ปัญจพลพัลพอินดัสตรี มีส่วนแบ่งการผลิตร้อยละ 11.5 จากกำลังการผลิตเยื่อใยสั้นจากไม้ยูคาลิปตัส ประเภท Unbleached Kraft Pulp จำนวน 110,000 ตันต่อปี บมจ. สยามเซลลูโลส มีส่วนแบ่งการผลิตร้อยละ 7.5 จากกำลังการผลิตเยื่อใยสั้นจากยูคาลิปตัส(Bleached Eucalyptus Pulp) จำนวน 72,000 ตันต่อปี

อุปสงค์ในประเทศและตลาดโลก...ปัจจัยสนับสนุนการขยายอุตสาหกรรม

Paper Consumption Per Capita ตัวเลขสะท้อนความต้องการบริโภคเยื่อกระดาษในประเทศที่ยังสามารถขยายได้ในระยะยาว การบริโภคกระดาษของประชากรไทยซึ่งสะท้อนให้เห็นจาก Paper Consumption Per Capita ในปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำเพียงประมาณ 30 กิโลกรัมต่อคน(ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกที่ 53 กิโลกรัมต่อคน) ขณะที่อัตราการบริโภคกระดาษของประเทศที่พัฒนาแล้วในแถบเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง มีการบริโภคกระดาษสูงถึงปีละประมาณ 200 กิโลกรัมต่อคน หรือแม้แต่สิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศในอาเซียนด้วยกันก็ยังมีอัตราการบริโภคกระดาษสูงกว่าปีละ 100 กิโลกรัมต่อคน ประกอบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ การขยายจำนวนประชากรของประเทศ ตลอดจนอัตราการเรียนรู้หนังสือที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าแนวโน้มความต้องการบริโภคกระดาษในประเทศยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากในระยะยาว และจะส่งผลให้มีความต้องการใช้เยื่อกระดาษเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมในอนาคต

ความต้องการเยื่อกระดาษในตลาดโลก...อีกหนึ่งปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นโอกาสในการขยายอุตสาหกรรม ปัจจุบันกว่าร้อยละ 60 ของตลาดเยื่อกระดาษโลกมาจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ซึ่งประเทศเหล่านี้กำลังประสบปัญหาในการขยายพื้นที่ในการปลูกป่า และกำลังมีปัญหาถูกต่อต้านจากขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติต่างๆ ที่เรียกร้องไม่ให้เกิดการขยายพื้นที่ปลูกป่าเพื่ออุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ จึงเกิดความจำเป็นในการกระจายฐานการผลิตมาสู่ภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะพื้นที่เขตร้อนชื้นของโลกมากยิ่งขึ้น ประกอบกับความต้องการเยื่อกระดาษใยสั้นใน ตลาดโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราสูงมาก พร้อมๆ กับจำนวนประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย จะส่งผลให้ความต้องการใช้กระดาษมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและมีผลถึงแนวโน้มความต้องการใช้เยื่อกระดาษที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว สถานการณ์ตลาดเช่นนี้ น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของประเทศในแถบเอเชียซึ่งรวมถึงไทยที่ยังคงมีพื้นที่และภูมิประเทศที่เอื้อต่อการเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษ

โครงการร่วมทุนไทย-จีน ... โปรเจกต์เก่าที่ยังคงเป็นความหวังในการขยาย อุตสาหกรรม

โครงการร่วมลงทุนปลูกป่าและตั้งโรงงานผลิตเยื่อกระดาษระหว่างไทย-จีน มูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่(Mega Project) ที่มีการกล่าวถึงมากว่า 5 ปีและยืดเยื้อมาหลายรัฐบาล ตั้งแต่ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งรัฐบาลจีนแสดงความจำนงที่จะร่วมลงทุนกับภาคเอกชนของไทยในการก่อสร้างโรงงานผลิตเยื่อกระดาษขนาดกำลังผลิต 700,000 ตันต่อปี โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำการผลิตเยื่อกระดาษส่งกลับไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษของจีน ซึ่งโครงการดังกล่าวมีความต้องการใช้ไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นอีกประมาณปีละ 3.5 ล้านตันต่อปี และประมาณการกันว่าจะทำให้ต้องใช้พื้นที่ในการปลูกป่าถึง 700,000 ไร่ โดยเป็นการปลูกสวนป่า (Plantation) เพื่อใช้ในการผลิตวัตถุดิบพื้นฐาน ป้อนโรงงานในลักษณะของการเช่าพื้นที่จำนวน 200,000 ไร่ ส่วนพื้นที่ป่ายูคาลิปตัสที่เหลืออีก 500,000 ไร่จะจัดทำในลักษณะของ Contract Farming โดยจัดซื้อไม้จากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย ซึ่ง ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้มีการสอบถามความคืบหน้าของโครงการมาโดยตลอด แต่จากปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการปลูกป่ายูคาลิปตัสซึ่งเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมานาน รวมทั้งการคัดค้านโครงการของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมที่จะต้องถูกย้ายออกจาก พื้นที่ ซึ่งครอบคลุมเขตพื้นที่เป้าหมายในเขตภาคตะวันออก 8 จังหวัด คือ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และฉะเชิงเทรา ทำให้การตัดสินใจของรัฐบาลต้องการเวลาในการศึกษาและชี้แจงกับประชาชนค่อนข้างมาก การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลส่งผลให้โครงการดังกล่าวมีความยืดเยื้อ ขณะที่กรณีการโยงเรื่องของการขยายอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองยังมีผลให้การตัดสินใจร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวในทุกรัฐบาลที่ผ่านมาต้องมีความระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม การกลับมาทวงถามความคืบหน้าโครงการร่วมทุนดังกล่าวของผู้นำจีนในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ได้จุดประกายความหวังที่จะมีการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษของไทยอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการศึกษารายละเอียดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ที่มีขอบเขตของการศึกษาครอบคลุมไปถึงพื้นที่ปลูกป่าที่เหมาะสม รายละเอียดของการร่วมทุน ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ต้นทุนการผลิต และผลดี-ผลเสียในเชิงเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาในการจัดทำการศึกษาถึงความเป็นไปได้ของโครงการทั้งในด้านการเงิน สังคม และต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้เวลาในการศึกษาไม่ต่ำกว่า 1 ปี อย่างไรก็ตาม จากการประเมินเบื้องต้น พบว่ามีปัจจัยด้านเศรษฐกิจหลายประการที่เป็นเหตุผลสนับสนุนการขยายการลงทุนดังกล่าว นับตั้งแต่ การได้ รับเม็ดเงินลงทุนที่จะช่วยหนุนภาพรวมเศรษฐกิจของไทยได้บ้าง เนื่องจากเงินลงทุนจากโครงการจำนวน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นเม็ดเงินจำนวน ไม่น้อยเมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติในช่วงปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวนเพียง 2,776 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ การขยายการลงทุนดังกล่าวยังจะทำให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันอุตสาหกรรมเยื่อ กระดาษมีการจ้างงานประมาณ 9,500 คน หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง คาดว่าจะทำให้การจ้างงานในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปลูก ป่ายูคาลิปตัสในพื้นที่ถึง 200,000 ไร่ จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมากในกระบวนการผลิตนับตั้งแต่การเพาะกล้าไม้ การปลูกป่า การดูแลรักษา ตลอด จนถึงการตัดฟันนำไม้มาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้อง ถิ่น ขณะที่การปลูกป่ายูคาลิปตัสในระบบ Contract Farming บนพื้น ที่ขนาดใหญ่กว่า 500,000 ไร่ ที่มีเป้าหมายจะจัดซื้อไม้จากเกษตรกรที่เข้าร่วม โครงการไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย จะทำให้เกษตรกรในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนที่สำคัญน่าจะอยู่ที่โอกาสทาง การตลาด เนื่องจากปัจจุบันจีนเป็นผู้บริโภคเยื่อกระดาษรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา แม้จีนจะมีโรงเยื่อกระดาษในประเทศถึงเกือบ 5,000 โรง แต่เนื่องจากโรงเยื่อกระดาษของจีนส่วนใหญ่จะเป็นขนาดกลาง-เล็กที่ใช้เทคโนโลยีระดับต่ำ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก ทำให้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษภายในประเทศมีเพียงประมาณ 17 ล้านตัน ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศแต่ละปีที่มีประมาณ 20 ล้านตัน จีนจึงต้องมีการนำเข้าเยื่อกระดาษถึงปีละประมาณ 3-4 ล้านตัน และคาดว่าแนวโน้มความต้องการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง พิจารณา ได้จากช่วงที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะงักงัน ความต้อง การใช้เยื่อกระดาษของจีนก็ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยความต้องการ ใช้เยื่อกระดาษใยสั้นของจีนในปี 2544 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง ร้อยละ 15.2 ขณะที่ตลาดเยื่อกระดาษที่สำคัญของโลกในภูมิภาคยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือต่างอยู่ในภาวะชะงักตามเศรษฐกิจของประเทศ และมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยถึงร้อยละ 10.0 ทั้งนี้ แนวโน้มความต้องการนำเข้าเยื่อกระดาษของจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวของการนำเข้าเยื่อไม้เคมีซึ่งเป็นเยื่อกระดาษประเภทที่มีการผลิตในประเทศไทย (รหัสฮาร์โมไนซ์ 4703) ซึ่งปัจจุบันการส่งออกเยื่อกระดาษประเภทดังกล่าวของไทยไปยังตลาดจีนเริ่มมีความผันผวนไม่แน่นอน การดัมป์ราคาเยื่อ กระดาษของอินโดนีเซียในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกเยื่อกระดาษของไทยไปยังจีนมีแนวโน้มลดลง ดังนั้น การพิจารณาร่วมลงทุนกับโครงการดังกล่าวกับรัฐบาลจีนจะช่วยสร้างหลักประกันด้านตลาด ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถทวงส่วนแบ่งตลาดในจีนกลับคืนมาและน่าจะสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกเยื่อกระดาษได้เพิ่มขึ้น

บทส่งท้าย...การแสวงหาคำตอบต่อข้อสงสัยก่อนการขยายการลงทุน

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะดูเหมือนว่าโอกาสในการขยายการลงทุนใน อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษมีความเป็นไปได้สูงในเชิงการตลาด และการลงทุน ในช่วงเวลานี้ก็ค่อนข้างจะมีความเหมาะสมในแง่เศรษฐกิจ แต่ในช่วงที่ผ่าน มาความพยายามในการขยายการผลิตของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษไทยค่อน ข้างประสบปัญหาทั้งในเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุนที่ทำให้ผู้ลงทุนต้องพิจารณาและยังคงรีรอในการขยายการลงทุน เนื่องจากการผลิตต้องอาศัยแหล่งวัตถุดิบที่แน่นอนซึ่งต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกจำนวนมากและต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล และการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้จะต้องใช้เวลานานถึง 5 ปี ทำให้การขยายกำลังการผลิตมากเกินไปอาจไม่คุ้มค่าหากระดับราคาเยื่อกระดาษโลกยังมีความผันผวนและมีแนวโน้มลดต่ำลง ประกอบกับการลงทุนในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษยังคงมีปัญหาอื่นๆ ซึ่งเป็นประเด็นด้านสังคมที่ค่อนข้างมีความเปราะบางในการตัดสินใจลงทุน และอาจกลายเป็นข้อจำกัดในการขยายตัวของอุตสาหกรรม ประเด็นข้อคัดค้านเหล่านี้ ได้แก่:-

การปลูกป่าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชาชน ทั้งนี้ภายหลังจากพบปัญหาหลายประการในการ นำเยื่อไม้ประเภท Non-Wood มาใช้ในการผลิตเยื่อกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นในด้านความสม่ำเสมอของปริมาณวัตถุดิบ เช่นในกรณีของปอแก้ว ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรไม่นิยมปลูก พื้นที่การปลูกปอจึงลดลงอย่างมาก ต้นทุนการจัดหาและขนส่งวัตถุดิบที่ค่อนข้างมีความผันผวน ตลอดจนการควบคุมคุณภาพเยื่อกระดาษที่ทำได้ค่อนข้างลำบาก ทำให้ผู้ประกอบการมีความพยายามในการจัดการวัตถุดิบเพื่อป้อนโรงงานเยื่อกระดาษของผู้ประกอบการโดยการปลูกป่าไม้โตเร็วประเภทยูคาลิปตัส ซึ่งที่ผ่านมาป่ายูคาลิปตัสกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางและมีกระแสต่อต้านจากมวลชนค่อนข้างมาก โดยมีเหตุผลจากฝ่ายคัดค้านว่าการปลูกป่ายูคาลิป ตัสแบบ "Monoculture" ในพื้นที่ขนาดใหญ่จะทำให้เกิดระบบนิเวศที่ไม่เหมาะสม และจะทำให้พื้นดินขาดแคลนน้ำเนื่องจากยูคาลิปตัสเป็นไม้ที่ต้องใช้น้ำและธาตุอาหารมากจึงทำให้ปริมาณน้ำใต้ดินและธาตุอาหารในดินลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ใบยูคาลิปตัสยังมีสารเทอร์พีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของพืชอื่นๆ ซึ่งหมายถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจจากพืชพันธุ์อื่น ประกอบกับการปลูกป่าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษจะต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างมากซึ่งมักจะส่งผลกระทบกับชาวบ้านที่เข้าไปจับจองพื้นที่ทำกินอยู่ก่อน ทำให้การขยายพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัสมักได้รับการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่อย่างรุนแรงมาโดยตลอด

กระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของปริมาณความต้องการใช้กระดาษของคนไทยที่ส่งผลให้ต้องมีการเพิ่มกำลังการผลิตเยื่อกระดาษให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในการผลิตกระดาษภายในประเทศ ได้ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามมา เนื่องจากในขั้นตอนการผลิตจำเป็นที่จะต้องฟอกสีโดยการกำจัดลิกนินซึ่งก่อให้เกิดสีและเป็นข้อกำหนดคุณภาพของเยื่อกระดาษออก ซึ่งปัจจุบันพบว่ากระบวนการฟอกสีเยื่อกระดาษของไทยที่นิยมใช้สารเคมีจำพวกก๊าซคลอรีนและคลอรีนไดออกไซด์ร่วมกับด่าง(เนื่องจากเป็นกระบวนการผลิตที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด) ได้ก่อให้เกิดสารประกอบ Absorbable Organic Halogen(AOX) ซึ่งเป็นสารที่สลายตัวได้ยากมาก และก่อให้เกิดสารไดออกซินที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตก่อให้เกิดปัญหาด้านมลภาวะโดยเฉพาะมลภาวะด้านน้ำที่ส่งผลกระทบถึงความเป็นอยู่ของชุมชนบริเวณรอบๆ โรงงาน เช่นในกรณีของ บมจ.ฟินิคซ์ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ ที่ใช้กระบวนการผลิตเยื่อกระดาษแบบเก่าส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงจนต้องปิดโรงงานชั่วคราวในช่วงปี 2542 และเป็นผลให้ในระยะหลังภาครัฐได้มีการกำหนดเงื่อนไขในการขยายโรงงานให้บริษัทดำเนินการผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำจากแหล่งธรรมชาติ กำหนดให้มีการลงทุนเพื่อบำบัดน้ำเสียจากโรงงานเยื่อกระดาษ และการลงทุนในโครงการใหม่ที่จะขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะต้องจัดเตรียมเอกสารชี้แจงด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษเป็นอุตสาหกรรมที่หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก รวมทั้งผลการศึกษาข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในแคนาดาและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตเยื่อกระดาษที่สำคัญในตลาดโลกระบุว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทั้งทางอากาศ น้ำ และดิน 2/ ทำให้ปัจจุบันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวเป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง และเป็นประเด็นพิจารณาสำคัญที่นำมาใช้ในการพิจารณาความคุ้มค่าและประเมินผลกระทบในการลงทุนตัดสินใจในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษของไทยในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น การพิจารณาลงทุนในระยะต่อไป รวมถึงการดำเนินโครงการ ร่วมทุนกับรัฐบาลจีนที่กำลังรอคำตอบในขณะนี้ คาดว่าภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องสร้างความกระจ่างต่อประเด็นข้อกังขาต่างๆ ข้างต้นที่อาจยังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยในประเทศอย่างชัดเจนรอบคอบ พร้อมทั้งต้องสร้างความเข้าใจให้กับสังคมและประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรของประเทศด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.