AERAระบุ"สุวรรณภูมิ"บูมจริง แห่ผุด121โครงการมูลค่ากว่า6.4หมื่นล้าน


ผู้จัดการรายวัน(15 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"เอเจนซีฯ" ฟันธง "สุวรรณภูมิ" บูมจริง จัดสรรแห่ผุดโครงการต่อเนื่อง เผยโครงการในพื้นที่ล่าสุด 121 โครงการ มูลค่ากว่า 64,000 ล้านบาท จากเดิม ปี 47 มีจำนวนโครงการเพียง107 โครงการ ระบุ เครือแลนด์ฯ แชมป์จัดสรรมูลค่าลงทุนสูงสุดกว่า เฉียด 25,000 ล้านบาท พร้อมเปิดแนวโน้มการพัฒนาพื้นที่4 โซนรอบสนามบิน จัดสรรพื้นที่ระบุหลังเปิดบริการ ราคาขายเพิ่ม10-20%

หลังจากที่กระข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความล่าช้าของการเปิดให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ ล่าสุดรัฐบาลและบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ออกมาการันต์ตีความมั่นใจให้กับนักลงทุนทุกสาขา โดยเฉพาะนักลงทุนด้านธุรกิจการบินและเกี่ยวเนื่องและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการเปิดทดสอบการบินในวันที่ 29 ก.ย.2548นี้ เพื่อยืนยันว่าในปี2549นี้ สนามบินสุวรรณภูมิ จะสามารถเปิดให้บริการได้แน่นนอน

นายวสันต์ คงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัทเอเจนซี ฟอร์เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด(AERA) บริษัทที่ปรึกษาและประเมินราคาทรัพย์สิน เปิดเผยถึงแนวโน้มและศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิว่า ปัจจัยแวดล้อมที่ส่งเสริมให้พื้นที่รอบสนามบิน สุวรรณภูมิเหมาะสำหรับการพัฒนาโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ มากกว่าพื้นที่แนวรถไฟฟ้าในขณะนี้คือความชัดเจนในการเปิดให้บริการ ซึ่งจากปัจจัยนี้เองทำให้ พื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้ประกอบการมีการซื้อที่ดินรอการพัฒนา และในบางพื้นที่ก็มีการพัฒนา เพื่อรองรับจำนวนการอยู่อาศัยของแรงงานที่จะย้ายเข้ามาทำงานในพื้นที่หลังการเปิดใช้สนามบินแล้ว

โดยปี 2547 ทีผ่านมามีผู้ประกอบการเข้าไปพัฒนาโครงการในพื้นที่รอบสนามบินจำนวน 107 โครงการ และล่าสุดจากการสำรวจจำนวนการพัฒนาในปี48 พื้นที่ดังกล่าวมีการพัฒนาโครงการรวมทั้งสิ้น 121 โครงการ หรือมีจำนวนหน่วยในการพัฒนาทั้งสิ้น 32,094 หน่วย คิดเป็นมูลค่ารวม 64,000 ล้านบาท เฉลี่ยมูลค่าขายต่อหน่วยประมาณ 2 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้โครงการที่มีการพัฒนาทั้งหมดมียอดขายแล้ว 23,802 หน่วย คิดเป็น 74% และเหลือขายอยู่ 8,292 หน่วย คิดเป็น 26% ของจำนวนที่อยู่อาศัยที่เปิดขายอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าไปพัฒนาโครงการในพื้นที่ดังกล่าว 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าในการพัฒนาสูงสุด ประกอบด้วย บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท นิรันด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไพร์มเนเจอร์วิลล่า จำกัด ซึ่งส่วนใหญ่จะพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยประเภท บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และอาคารพาณิชย์ เพื่อรองรับจำนวนผู้บริโภคที่จะเริ่มย้ายที่อยู่อาศัยตามการเปลี่ยนแหล่งงาน โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นพนักงานเกี่ยวกับธุรกิจการบิน โรงแรม และสถานบริการ ฯลฯ

นายวสันต์ กล่าวว่า การประมาณการพัฒนาและใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่รอบสนามบินนั้นหากแบ่งตามโซนแล้ว ในโซนด้านตะวันตกของสนามบิน ย่านบางนา กม.3-4 ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง มีระบบทางด่วนพิเศษบูรพาวิถี เชื่อมต่อการเดินทางเข้าเมือง ทำให้มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็น ศูนย์พาณิชย์กรรมขนาดใหญ่ อาทิ ศูนย์การค้าโรงแรม สำนักงาน ย่านบางนา กม. 5-10 เป็นพื้นที่ สีส้ม ทำให้มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นย่านพาณิชย์กรรม ผสมที่อยู่อาศัยราคาแพง ย่านศรีนครินทร์-ซีคอนฯ เป็นพื้นที่สีส้ม มีเส้นทางพิเศษสุวรรณภูมิรองรับระบบการเดินทาง ทำให้มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็น พาณิชย์กรรมผสมที่อยู่อาศัยราคาแพง ย่านสวนหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่สีเหลือง มีเส้นทางพิเศษสุวรรณภูมิ และรถไฟสายมักกะสัน-สุวรรณภูมิรองรับการเดินทาง ทำให้มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็น ที่อยู่อาศัยระดับกลาง-สูง ซึ่งจะพัฒนาเป็นบ้านเดี่ยวส่วนใหญ่ ย่านอ่อนนุช -ลาดกระบัง เป็นพื้นที่สีเหลือง แนวโน้มการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยระดับกลางทุกประเภท และย่านถนนวัดกิ่งแก้ว (สมุทรปราการ)พื้นที่สีแดง มีแนวโน้มพัฒนาเป็น เมืองศูนย์กลางการบิน

สำหรับโซนทิศเหนือของสนามบิน ในย่านร่มเกล้า มีนบุรีช่วงบน เป็นพื้นที่สีเหลือง มีทางด่วนมอเตอร์เวย์ รองรับระบบการจราจร ทำให้มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยระดับกลาง-ต่ำ ทุกประเภทเพื่อรองรับผู้บริโภคที่เป็นพนักงานในบริษัทธุรกิจการบิน ยกเว้น ริ่มถนนร่มเกล้าทีสามารถพัฒนาได้เฉพาะบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดเพราะเป็นพื้นที่สีเขียว ช่วงล่างจากถนนเจ้าคุณทหาร มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นเขตเมืองศูนย์กลางการบิน ย่านฉลองกรุง ลาดกระบัง พื้นที่สีเขียว สามรถพัฒนาได้เฉพาะบ้านเดี่ยว สำหรับย่านแยกถนนกิ่งแก้ว-ลาดกระบัง เป็นพื้นที่สีแดง มีรถไฟสายมักกะสัน-สุวรรณภูมิ รองรับระบบจราจร แต่ปัจจุบันรัฐบาลได้ออกกฎกระทรวงห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคารบางชนิด บางบริเวณห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 18-23 เมตร มีแนวโน้มจะพัฒนาเป็น ศูนย์พาณิชย์กรรมการบิน ศูนย์การค้าเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และย่านตลาดลาดกระบัง เป็นพื้นที่สีแดง ปัจจุบันรัฐบาลได้ออกกฎกระทรวงห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคารบางชนิด บางบริเวณห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 18-23 เมตร มีแนวโน้มการพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางการบิน

ส่วนโซนด้านใต้ พื้นที่เขตบางนา กม.10-12 สมุทรปราการ เป็นพื้นที่สีแดง มีทางด่วนบูรพาวิถีรองรับระบบการจราจร มีแนวโน้มพัฒนาเป็น ย่านพาณิชย์กรรมริมถนนและที่อยู่อาศัยราคาแพง พื้นที่เขตบางนา กม.12-15 สมุทรปราการ เป็นพื้นที่สีเขียว มีทางด่วนบูรพาวิถีรองรับระบบการจราจร แนวโน้มการพัฒนาเป็น ที่อยู่อาศัยราคาแพง พื้นที่เขตบางนา กม.15-18 สมุทรปราการ เป็นพื้นที่สีเหลือง ทางด่วนบูรพาวิถีรองรับระบบการจราจร มีแนวโน้มพัฒนาเป็น ที่อยู่อาศัยระดับกลางและล่างเพื่อรองรับแรงงานย่านโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่บางนากม.18-23 ส่วนพื้นที่เขตบางนา กม.18-23 สมุทรปราการ เป็นพื้นที่สีม่วง มีทางด่วนบูรพาวิถีรองรับระบบการจราจร มีแนวโน้มพัฒนาเป็น ย่านอุตสาหกรรม คลังสินค้า ที่เกี่ยวกับธุรกิจการบิน พื้นที่เขตบางนา กม. 23-26 สมุทรปราการ เป็นพื้นที่สีแดง/สีส้ม มีทางด่วนบูรพาวิถีรองรับระบบการจราจร มีแนวโน้มพัฒนาเป็น ศูนย์พณิชย์กรรมขนาดใหญ่เชื่อมต่อภาคตะวันออก และเขตพื้นที่เทพารักษ์ กม.12-26 สมุทรปราการ เป็นพื้นที่คล้ายบางนาตราด มีทางด่วนบูรพาวิถีและวงแหวนด้านใต้รองรับระบบการจราจร มีแนวโน้มพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยกลาง-ล่าง ทาวน์เฮาส์

นายวสันต์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามปัญหาและอุปสรรค์ต่อการพัฒนาโครงการในพื้นที่รอบสนามบินในขณะนี้ คือ อุปสรรค์ด้านกฎหมาย และผังเมืองเป็นหลัก โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ในโซนด้านตะวันออก ย่านวัดศรีเอี่ยม บางเสา และรัตนโกสินทร์200ปี สมุทรปราการ ซึ่งจะเป็นพื้นที่สีเขียว เหลือง และม่วง นั้น ปัจจุบันยังไม่สามารถการประมาณการพัฒนาและใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ได้เนื่องจากยังติด ประกาศกระทรวง (กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม) ที่ห้ามก่อสร้างอาคารบางชนิด และห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 18-23 เมตร เนื่องจากมีผลต่อทัศน์วิสัยการบินของนักบิน จำเป็นต้องรอให้มีการประกาศใช้ผังเมืองเฉพาะก่อนจึงจำสามารถพัฒนาโครงการได้

นายธงชาติ ธรรมปราโมทย์ ประธานกรรมการบริษัท ไมก้า กรุ๊ป จำกัด ผู้ประกอบการโครงการภูมิบุรี เปิดกล่าวว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่รอการเปิดใช้สนามบินอย่างเป็นทางการซึ่งเชื่อว่าหากเปิดใช้สนามบินอย่างเป้นทางการเมือใด ความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลง ด้านการลงทุนและกำลังซื้อของผู้บริโภคจะเคลื่อนไหวทันทีเช่นกันซึ่งคาดว่าหลังจากการเปิดใช้สนามบินจะทำให้ราคาขายที่อยู่อาศัยและทึ่ดินปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 10-20%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.