|
เอ็นพีแอลบ้านมีแววพุ่งรับดบ.ขาขึ้น ธปท.ชี้ครึ่งปีหลังอสังหาริมทรัพย์หดตัว
ผู้จัดการรายวัน(13 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ธปท.ชี้ อสังริมทรัพย์ครึ่งปีหลังหดตามราคาน้ำมันที่แพงลิบลิ่ว ส่งผลความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อฐานะทางการเงินในอนาคตลดตาม พร้อมระบุหนี้เอ็นพีแอลอาจเพิ่มขึ้นบ้างผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายการเงินได้ออกบทวิเคราะห์แนวโน้มภาวะอสังหาริมทรัพย์ โดยคาดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 จะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นต่อเนื่อง สร้างแรงกดดันต่อระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้ปรับสูงขึ้นตาม ส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงของครัวเรือนลดลงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อฐานะทางการเงินในอนาคตลดลง
นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับขึ้นและราคาบ้านที่มีสูงขึ้นตามราคาวัสดุก่อสร้างจะส่งผลให้ผู้บริโภคซื้อบ้านในราคาที่ถูกลง หรือเปลี่ยนจากซื้อบ้านเดี่ยวมาเป็นทาวน์เฮ้าส์ ส่วนผู้ประกอบการคาดว่าจะปรับแผนโดยเน้นก่อสร้างที่อยู่อาศัยขนาดเล็กลงตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งมีการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สำหรับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและค่าครองชีพ จะส่งผลต่อสินเชื่อรายใหม่และสินเชื่อเดิมต่างกัน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยต่อสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว จะถูกส่งไปยังสถาบันการเงินและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แตกต่างกันออกไป โดยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ส่งผลต่อสินเชื่อรายใหม่ ซึ่งธนาคารบางแห่งได้เริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหรือลดระยะเวลาการให้อัตราดอกเบี้ยคงที่ของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับบุคคลทั่วไป ส่งผลให้วงเงินกู้สำหรับสินเชื่อรายใหม่ลดลงจากเดิม ในขณะที่ผู้กู้มีระดับรายได้เท่าเดิม เพราะถูกจำกัดด้วยอัตราภาระการชำระหนี้ของธนาคารพาณิชย์
ส่วนผลกระทบต่อสินเชื่อรายเดิม คือ หากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ภาระการชำระหนี้ต่อเดือนของครัวเรือนจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่หากอัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่ธนาคารจะให้ผู้กู้ทำสัญญาใหม่เพิ่มจะมีสูง โดยเฉพาะธนาคารที่คิดเงินผ่อนต่องวดน้อย ซึ่งจะส่งผลให้ครัวเรือนมีความสามารถในการบริโภคสินค้าอื่นลดลงในที่สุด
อย่างไรก็ตาม โอกาสผิดนัดชำระหนี้ที่อยู่อาศัยจะเพิ่มขึ้นบ้าง และอาจก่อให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ตามมา ซึ่งกลุ่มที่เริ่มขอสินเชื่อในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำหรือในช่วง 1-3 ปีที่ผ่านมาจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากครัวเรือนนั้นทำการก่อหนี้เกินควรเป็นผลจากการขาดความรู้ความเข้าใจทางการเงิน และไม่มีรายได้ประจำ
ทั้งนี้ โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้คงมีไม่มาก ซึ่งจากวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) พบว่า ครัวเรือนมีหนี้ที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนเพียง 12% ของครัวเรือนทั้งหมด โดยมีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยประมาณ 396,000 บาทต่อครัวเรือน หรือคิดเป็น 1.38 เท่าของรายได้ต่อปี และในจำนวนประมาณ 21% มีหนี้ครัวเรือนมากกว่า 2 เท่าของรายได้ต่อปี โดยครัวเรือนที่มีสัดส่วนการกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยสูง คือ กลุ่มผู้ปฏิบัติงานสายวิชาชีพ
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา การกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่มาจากอุปสงค์จริง ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้จึงไม่น่าจะมากนัก รวมทั้งความเสี่ยงของความน่าจะเป็นที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะผิดนัดชำระหนี้แก่ธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่น่าจะเกิดปัญหาต่อเสถียรภาพของภาคการเงิน เพราะหนี้ที่อยู่อาศัยมีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุน และมีการกันสำรองที่เพียงพอ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|