ทำไมอากู๋ต้องซื้อ นสพ.


ผู้จัดการรายวัน(13 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ปฎิบัติการเข้าฮุบกิจการของหนังสือพิมพ์ถึง 2 ฉบับ คือ มติชน และ บางกอกโพสต์ ในคราวเดียวกันของ “อากู๋”-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ในนามของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) วานนี้นับเป็นเรื่องที่ช็อกวงการสื่อมวลชนอย่างมาก

แม้ว่าก่อนนี้ “อากู๋” เคยประกาศแล้วว่า จะรุกเข้าสู่ธุรกิจหนังสือพิมพ์รายวัน พร้อมกันเงินลงทุนไว้สูงถึง 1,000 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์ การซื้อหุ้นบางส่วนหรือเทคโอเวอร์หนังสือพิมพ์เก่าที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้ว เพื่อไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

สำหรับบางกอกโพสต์ มีกระแสข่าวระแคะระคายอยู่บ้าง แต่ไม่มีใครคาดคิดว่า จะรวมถึง มติชน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพ ที่มีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นด้านวิเคราะห์เจาะลึกการเมืองและสังคม

ตรงนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไม อากู๋ ต้องลงทุนควักเงินซื้อหุ้นถึง 2 ฉบับ

ข้อแรก มีนักวิเคราะห์หุ้นหลายคนมองว่า ธุรกิจบันเทิงที่แกรมมี่ทำอยู่กำลังถึงทางตัน เพราะด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ยอดขายเพลงหรือซีดีของบริษัทลดน้อยลงจากการใช้วิธีดาวน์โหลดหรือก็อบบี้แผ่นของบรรดาคอเพลง ขณะที่ต้นทุนทำศิลปินสูงขึ้นทุกวัน การก้าวข้ามมาเป็นเจ้าของสื่อเองก็น่าจะเกื้อหนุนให้ธุรกิจของแกรมมี่ครบวงจรมากขึ้น

อย่างน้อยที่สุดจะประหยัดงบซื้อสื่อโฆษณาลงไปได้มาก ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า เฉพาะลงทุนในโพตส์ที่เดียวจะผลักดันให้แกรมมี่กำไรในปี 2549 เพิ่มขึ้นได้อีกถึง 15%

ข้อที่สอง มองกันว่า การซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับมีความเป็นได้สูงว่ามีเรื่องของการเมืองเข้ามาแทรกอยู่ด้วย

ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะรายหัวจะพบว่า ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์มติชน โดดเด่นในเรื่องของเนื้อหาทางด้านการเมือง สังคม เป็นหลัก แต่ในช่วงหลังเริ่มที่จะไม่เน้นข่าวที่เป็นผลเสียต่อรัฐบาล ขณะที่บางกอกโพสต์มีความเห็นที่ขัดแย้งกันในหมู่ตระกูลจิราธิวัฒน์ ผู้ถือหุ้นใหญ่หลังจากการนำเสนอข่าวสนามบินสุวรรณภูมิร้าวกระทั่งถูกฟ้องเรียกเงินกว่า 1 พันล้านบาท ทางหนึ่งต้องขายหุ้นออกไปเพื่อไม่อยากมีปัญหากับรัฐบาล ขณะที่หัวเรือใหญ่อย่างสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ไม่ต้องการขาย

ย่อมทราบกันดีว่า สายสัมพันธ์ระหว่าง“อากู๋” มีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั้นลึกซึ้งกันเพียงใด ดังปรากฎชัดในกรณี การหาทางลงในเรื่องการซื้อหุ้นลิเวอร์พูล ที่นายกฯขอให้แกรมมี่เป็นผู้มารับภาระตอบคำถามกับสาธารณะ

งานสังคมใดๆก็ตามส่วนใหญ่อากู๋ก็จะออกงานร่วมกับนายกทักษิณหลายงานและจะมีภาพถ่ายที่ถ่ายร่วมกันมากมาย หรือแม้แต่ งานคอนเสิร์ตดังๆของแกรมมี่หลายงาน นายกฯทักษิณมักหอบหิ้วเอาครอบครัวไปฟังคอนเสิร์ตหลายครั้ง ตลอดจนงานบันเทิงหรือคอนเสิร์ตช่วยชาติ ของรัฐบาลก็มักมีชื่อของ ค่ายจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ปรากฏอยู่ทุกครั้ง ทิ้ง ค่ายคู่แข่งอย่างอาร์.เอส.โปรโมชั่น ให้ทำได้แค่เพียงนั่งเฉยๆ

มากกว่านั้น การจัดงานใหญ่ของรัฐบาล บริษัทที่เข้ารับผิดชอบงานจัดการ ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็น อินเด็กซ์ อีเว้นท์ ซึ่งมีจีเอ็มเอ็มฯถือหุ้นใหญ่อยู่ด้วย

ขณะเดียวกัน อีกมิติหนึ่งก็มองว่า การซื้อมติชน เพื่อที่จะได้เป็นการตัดทางสื่อของทางฝ่ายตรงข้าม คือ พรรคประชาธิปัตย์ เพราะ เชื่อกันว่า ค่ายมติชนนั้นค่อนข้างแนบแน่นกับพรรคประชาธิปัตย์

ส่วนหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์นั้นก็มีคำตอบให้ติดตาม เพราะ หนังสือพิมพ์ของไทยที่เป็นภาษาอังกฤษนั้นมีเพียง 2 ฉบับที่เป็นที่ยอมรับและติดตลาดมานานคือ เนชั่นและบางกอกโพสต์

แต่อากู๋เลือก บางกอกโพสต์ เพราะ จีเอ็มเอ็มสามารถไล่ซื้อหุ้นของบางกอกโพสต์ได้ และที่จำนวนมากก็มาจากการซื้อจากกลุ่ม ตระกูลกรรณสูต จำนวน 9.74% ขณะเดียวกันบางกอกโพสต์คือสื่อภาษาอังกฤษที่ค่อนข้างจะเล่นข่าวตีและเปิดเผยข้อเท็จจริงต่างๆเกี่ยวกับรัฐบาลโดยเฉพาะในแง่ลบอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่าคนในไทยรักไทยและรัฐบาลบทั้งหมดย่อมไม่พอใจ

ส่วนเนชั่น รู้กันอยู่ว่า คนในตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ” ถุงเงินใหญ่อีกถุงหนึ่งของรัฐบาลไทยรักไทยถือหุ้นอยู่

กล่าวโดยรวม การเข้าซื้อบางกอกโพสต์จึงได้ทั้งการคุมในเชิงธุรกิจและเป็นแขนขาเสริมอีกทางหนึ่งของ อากู๋ และส่งผลดีทางการเมืองของ นายกทักษิณ ชินวัตร ที่ยังมีอายุการบริหารอีก 3 ปีกว่า ที่จะมีสื่ออยู่ในมือ นอกเหนือจาก สถานีโทรทัศน์ไอทีวี และโมเดิร์นไนน์ เพื่อสามารถสื่อสารภาพลักษณ์ไปยังคนต่างประเทศในเชิงบวกในอันที่จะควบคุมได้ด้วย เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ ภาษาอังกฤษ ที่คนต่างชาติอ่านไม่น้อย

นี่คือบทสรุปของการที่ ทำไม “อากู๋” ( โดยมีแรงหนุนหลัง) ต้องลงทุนซื้อหนังสือพิมพ์ถึง 2 ฉบับ

สนามการเมืองทุกวันนี้ นอกจากรบกันทางด้านการเมืองแล้ว ยังรบกันผ่านทางสื่ออีกด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.