กลยุทธ์ความสำเร็จเซเว่นฯ หวังผลพลอยได้เออาร์ที


ผู้จัดการรายวัน(30 กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่นเปิดกลุยทธ์สู่ความสำเร็จขยายธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์ในประเทศไทย ชี้ให้ความสำคัญกับพนักงาน ฉีกตัวเองจากโชวห่วยและดิสเคานต์สโตร์ เผยร้านเออาร์ที เอื้อประโยชน์ต่างจังหวัดรู้จักคอนวีเนียนสโตร์ พร้อมเปิดรับแฟรนไชส์โชวห่วยท้องถิ่น หวังช่วยธุรกิจขยายตัวเร็วขึ้น

นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความสำเร็จของการบริหารร้านเซเว่นฯในประเทศไทย จนเป็นประเทศที่มีการเติบโตสูงสุดในอันดับ 3 ของโลกรองจากญี่ปุ่น และไต้หวัน เป็นเพราะบริษัทให้ความสำคัญกับการบริหาร คนหรือทีมงาน ด้วยการสร้างขวัญและกำลังใจ และปลูกฝังให้พนักงานทุกคนรักลูกค้า ส่งผลให้พนักงานทุกคนทำงานด้วยความ ทุ่มเทเพื่อให้บริการลูกค้าอย่างดีที่สุด นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้พนักงานทุกคนได้มีโอกาสเป็นเจ้าของร้าน เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้แก่ชีวิตของพนักงาน ซึ่ง ก็มีพนักงานหลายรายที่สามารถเป็นเจ้าของร้าน เซเว่นฯได้แล้ว

ปรับรูปแบบสินค้า-บริการเพื่อลูกค้า

เส้นทางธุรกิจของร้านเซเว่นที่เปิดให้บริการในประเทศไทยมาได้ 12 ปี มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบภายในร้านหลายครั้ง สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือรูปแบบสินค้าและบริการที่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด

ในช่วงปีแรกๆ สินค้าภายในร้านเซเว่นฯ ประกอบด้วย สินค้าประเภทอาหาร ในสัดส่วน 65% และสินค้าอุปโภคบริโภค หรือของใช้ในชีวิตประจำวัน 35% ปัจจุบัน สัดส่วนของอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 75% ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคลดลงเหลือ 25% เท่านั้น และมีแนวโน้มว่าในอนาคตสัดส่วนของอาหารภายในร้านจะเพิ่มขึ้นอีก

นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า เป็นเพราะยอดขายอาหารและเครื่องดื่ม ในช่วงที่ผ่านมาเติบโตในอัตราที่สูงมาก ในขณะที่สินค้าบางกลุ่มที่มียอดขายไม่ดีก็ต้องตัดออกไป เพื่อเพิ่มสินค้าที่ลูกค้าต้องการเข้ามาแทน เช่น อาหารกล่องอีซี่โก ที่มีอัตราเติบโตถึง 22% ปัจจุบันมียอดขายเดือนละ 4 แสนกล่อง ทำให้ชั้นวางสินค้าภายในร้านเซเว่นฯที่มีอยู่ 25 ชั้นวาง จำหน่ายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารเพียง 6 ชั้นวางเท่านั้น เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าประเภทนี้ในดิสเคานต์สโตร์แทน ทำให้ชั้นวางสินค้า ส่วนที่เหลือถูกแทนที่ด้วยสินค้าประเภทอาหารและบริการที่จำเป็นในชีวิตประจำวันแทน เช่น การเพิ่มตู้แช่แข็งอาหารกล่องของอีซี่โกเข้าไปในร้าน

นายปิยะวัฒน์ กล่าวว่า กรณีของการเพิ่มบริการประเภทเคาน์เตอร์เซอร์วิส เพื่อรับชำระค่าสินค้าและบริการนั้น ทางร้านได้ใช้ทำเลที่ดีที่สุดหรือเรียกได้ว่าเป็นทำเลทองของเซเว่นฯ เปิดเป็นจุดรับชำระค่าบริการ โดยได้รับค่าบริการเพียง 10 บาทต่อ 1 ใบเสร็จ ซึ่งในการทำธุรกิจแล้วถือว่าไม่คุ้มค่า แต่ถือเป็นการตอบแทนลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าในร้านเซเว่นฯ

"ปัจจุบันลูกค้าของร้านเซ่เว่นฯ จะซื้อสินค้าในช่วงเช้าก่อนไปทำงาน และตอนเย็นก่อนกลับบ้าน ทำให้วิเคราะห์ได้ว่าลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในร้านเป็นกลุ่มคนทำงานที่ไม่มีเวลามากนัก และส่วนใหญ่จะซื้ออาหารเป็นหลัก ซึ่งร้านเซเว่นฯในญี่ปุ่นก็ถูกพัฒนาจนปัจจุบันกลายเป็นร้านขายอาหารไปแล้วสำหรับในประเทศไทยเชื่อว่าในอนาคตก็จะถูกพัฒนาไปในแนวทางเดียวกับญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน"

การที่ร้านเซเว่นฯ หันมาขายสินค้าประเภทอาหารมากขึ้น นายปิยะวัฒน์ กล่าวว่า เป็นทางออกที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้ปะทะกับธุรกิจดิสเคานต์สโตร์ และร้านโชวห่วย เพราะปัจจุบันผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าที่ไม่ใช่อาหารในดิสเคานต์สโตร์อยู่แล้ว ในขณะที่ร้านโชวห่วยจะขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีขนาดเล็ก สำหรับขายความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่อยู่ใกล้ร้านเป็นหลัก การฉีกตัวออกมาของร้านเซเว่นฯทำให้ไม่ต้องไปแข่งขันกับธุรกิจทั้งสองประเภท ขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ

ปัจจุบัน กลุ่มซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น นับเป็น ผู้ได้รับสิทธิใบสุดท้ายของจากบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา ในการขยายธุรกิจร้านเซเว่นฯนอกสหรัฐฯ ที่ผ่านมานายก่อศักดิ์ ได้เคยเสนอขอใช้สิทธ์ขยายร้านเซเว่นฯเข้าไปยังประเทศจีน แต่อยู่ระหว่างการเจรจานานนับปี ล่าสุดอยู่ระหว่างการเจรจาของสิทธิขยายไปยังกัมพูชา และเวียดนาม ในอนาคต

นายก่อศักดิ์ กล่าวว่า การขยายธุรกิจในกัมพูชาทำได้ง่ายกว่าจีน เนื่องจากแผ่นดินไทยและกัมพูชาติดกัน ทำให้สามารถใช้ทีมงานเดิมของไทยขยายการดูแลเข้าไปในกัมพูชาได้ ในขณะที่การขยายร้านเซเว่นฯในจีน ต้องใช้ทีมงานใหม่ถึง 90% เนื่องจากแผ่นดินอยู่แยกกัน

อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนประชากรในกัมพูชาที่มีอยู่ประมาณ 5-6 ล้านคน ทำให้การขยายร้านเซ่นฯน่าจะขยายได้ถึง 500 สาขา โดยแผนงานจะขยายเฉลี่ยปีละ 100 สาขา

เปิดรับโชวห่วยเป็นแฟรนไชส์

สำหรับกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดตั้งบริษัท รวมค้าปลีกเข้มแข็ง จำกัด ขึ้นมาเพื่อพัฒนาร้านค้าปลีกในประเทศไทยเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดจากผลกระทบของยักษ์ใหญ่ได้นั้น นายปิยะวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายของเซเว่นฯ ก็มีความตั้งใจที่จะให้ร้านโชวห่วยในรูปแบบเดิมๆเข้ามาเป็นแฟรนไชส์ร้านเซเว่นฯ เพื่อพัฒนารูปแบบร้านค้าให้ทันสมัย

แต่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่าที่มีเพียง 30-50 รายเท่านั้นที่พัฒนาอยู่ในรูปแบบเซเว่นฯ ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนโชวห่วยที่มีอยู่ทั่วประเทศถึง 2 แสนราย ที่เป็นเช่นนี้เพราะเจ้าของ ร้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นก่อนที่ยังไม่ยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าแฟรนไชส์ หรือค่าธรรมเนียม ที่ถูกมองว่าแพงเกินไป การจัดทำระบบบัญชีสมัยใหม่ ที่อาจเป็นสิ่งยุ่งยากสำหรับคนรุ่นก่อน จึงไม่สนใจจะเข้ามาเป็นสมาชิก

ส่วนการเข้าไปพัฒนาร้านโชวห่วยของเออาร์ที โดยที่ร้านโชวห่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือไม่ต้องเสียค่าสิทธินั้น นับเป็นเรื่องที่ดี ที่จะช่วยยกระดับร้านโชวห่วยให้เป็นร้านค้าสมัยใหม่ ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจร้านคอนวีเนียนสโตร์ขยายตัวเพิ่มขึ้น และสร้างความคุ้นเคยให้แก่คนในท้องถิ่นได้ ในอนาคตร้านโชวห่วยในต่างจังหวัดจะเรียนรู้ร้านรูปแบบคอนวีเนียนสโตร์มากขึ้น ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้โชวห่วยเข้ามาเป็นแฟรนไชส์ ร้านเซเว่นฯเพิ่มขึ้นด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.