ซัปพลายเออร์เร่งเครื่องหนุน3Gเกิดในไทยชี้ทางออกสร้างแวลูใหม่ให้บริการลูกค้า


ผู้จัดการรายวัน(12 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ซัปพลายเออร์ ชี้ 3 ปัจจัยหลักของความพร้อมที่โอเปอเรเตอร์ไทยควรพัฒนาสู่ 3G โดยมีเหตุผลหลักอยู่ที่การสร้างลูกเล่นใหม่สร้างแวลูให้แก่ลูกค้าได้มากกว่าแอปพลิเคชั่นเดิมๆ ในปัจจุบัน มองความเหมาะสมของการลงทุนในช่วงแรกที่เมืองไทยมีความพร้อมด้านการใช้งานก่อนขยายให้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยมีต้นแบบอย่างประเทศในยุโรปและใกล้บ้านอย่าง สิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซีย เป็นแบบอย่างการพัฒนาด้านการตลาด

นายธีรพงษ์ สิทธิกุลธร Solution Spacialist Customer Solution Division บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบัน ขณะที่ซัปพลายเออร์มีความพร้อมอย่างมากในการเตรียมระบบเพื่อให้โอเปอเรเตอร์พัฒนาสู่เครือข่ายใหม่ 3G ซึ่งรวมถึงอีริคสันด้วยที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสู่ 3G มากว่า 10 ปีโดยความถี่ที่เหมาะกับ 3G เป็นได้หลายความถี่ แต่ถูกนำมาใช้แล้วเช่น 850 หรือแม้แต่ 1,700 เมกะเฮิรตซ์ จึงเหลือความถี่ที่เหมาะสมอยู่ที่ความถี่ 2 กิ๊ก ซึ่งปัจจุบันบริษัทไทยโมบายใช้ความถี่นี้อยู่แล้ว 1 ราย จึงเป็นไปได้ว่าจะมีโอเปอเรเตอร์ใหม่ 3G ได้อีก 3 รายรวมเป็น 4 รายทั้งหมด เพราะความถี่ 2 กิ๊ก เป็นช่วง กว้าง 60 เม็กะเฮิรตซ์ สามารถแบ่งการให้บริการได้ 4 ราย ทั้งนี้ คาดว่าประมาณปลายปีนี้ กทช. จะอนุมัติไลเซนส์คลื่นความถี่ 3G ให้โอเปอเรเตอร์ได้

"ที่ผ่านมา 3G แพร่หลายแล้วอย่างมากในยุโรป ส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้เกิดการแพร่หลายคือ ค่าไลเซนส์ที่ไม่สูงนักผู้ประมูลได้ก็ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก ส่งผลให้คิดค่าแอร์ไทม์ไม่แพงตามไปด้วย โดยโอเปอเรเตอร์แต่ละรายก็จะมีวิธีการในการเปิดตัวต่างกันออกไป อย่างสวีเดน มุ่ง 3G เป็นบริการเสริม ขณะที่การใช้งานหลักยังคงเป็นวอยซ์ หรือเสียงอยู่"

ในการลงทุนกับเครือข่ายใหม่ 3G ใน ช่วงแรกหากจะให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ควรเริ่มจากการลงทุนตามเมืองใหญ่ เมืองสำคัญ ก่อนขยายออกรอบนอก อย่างยุโรป เปิดให้บริการ 3G โดยมีเป้าหมายว่า ภายใน 3 ปี จะให้การบริการครอบคลุม 95% ของพื้นที่ ซึ่งก็แล้วแต่กติกาของแต่ละประเทศ

ในส่วนกลุ่มเป้าหมายของ 3G จะมุ่งไปที่กลุ่มลูกค้าที่มองหาบริการใหม่ที่ครอบคลุมการใช้งานได้พร้อมกันคือทั้งโทรศัพท์มือถือ เล่นอินเทอร์เน็ตและดูทีวีได้ด้วย หรือที่เรียกว่าโมบายล์ทริปเปิลเพลย์ (Mobile Triple Play) ที่ใช้บริการได้บนโทรศัพท์มือถือ โดยแอปพลิ-เคชันการใช้งานในเครือข่าย 3G สามารถพัฒนาได้อีกมากแล้วแต่โอเปอเรเตอร์แต่ละรายจะพัฒนาขึ้น

นายธีรพงษ์กล่าวว่า มองในแง่ความพร้อม ของการพัฒนาสู่ 3G ของโอเปอเรเตอร์ของไทยแล้ว จะมีเหตุผลซัปพอร์ตได้ 3 ด้าน คือ
1.3G จะเป็นเครือข่ายที่ทำให้โอเปอเรเตอร์สามารถสร้างสรรค์แอปพลิเคชันใหม่ๆ ให้บริการ รูปแบบใหม่ๆ กับลูกค้าได้อีกมาก ทำการตลาดกับลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น อันเนื่องจากเครือข่ายเดิมในปัจจุบัน 2G นับวันจะมีรูปแบบการบริการใหม่ๆ ออกมาได้น้อยลง 2. ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น มีการพัฒนาสู่ 3Gกันแล้ว ขณะที่ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมสู่ 3G และเหตุผลที่สำคัญประการที่ 3 ที่โอเปอเรเตอร์ไทย ควรเร่งพัฒนาสู่ 3G คือ การเปิดเสรีที่ส่งผลให้ต่างชาติเข้ามาแข่งในประเทศที่มาพร้อมกับเงินลงทุนก็จะมาทุ่มตลาดเพื่อแย่งลูกค้าทั้งหมดไป

ทุกวันนี้เรียกได้ว่าตลาดแทบไม่มีอะไรเล่นกันแล้ว กลยุทธ์เรื่องราคาหมดไป ขณะที่แอปพลิเคชันเดิมๆ อย่างโลโก้ ริงโทนก็พัฒนาต่อไม่ได้ โอเปอเรเตอร์จึงควรมองหาแอปพลิ-เคชันใหม่ๆ ที่จะได้จาก 3G ทั้งการลงทุนในปัจจุบันมีความเหมาะสมกว่าอดีตที่ผ่านมามาก เมื่อเทียบกับราคาและความ Stable ของเทคโนโลยีŽ

ในส่วนของอีริคสันมองว่าในบรรดา ซัปพลายเออร์ระบบ 3G ที่มีอยู่หลายรายในปัจจุบัน อีริคสันไม่ได้มุ่งที่การแข่งขันเรื่อง ราคา แต่เน้นที่คุณภาพการใช้งาน และการมีประสบการณ์ในหลายประเทศในยุโรปเป็นจุดแข่งขันมากกว่ารายอื่นที่เน้นที่ราคาถูก ซึ่งหากโอเปอเรเตอร์ที่มุ่งคุณภาพการให้บริการก็ควรจะให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ โดยคาดว่าเมื่อมีการเปิดบริการบนเครือข่าย 3G โอเปอเตอร์ก็จะมีลูกเล่นใหม่ๆ แปลกๆ ออกมาให้เห็นกันอีกมาก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.