"สหพัฒน์"จี้รัฐเร่งสร้างรถใต้ดินเล็งตั้งรง.ผลิตไฟฟ้าด้วยปรมาณู


ผู้จัดการรายวัน(12 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ประธานสหพัฒน์มาแหวกแนว สนใจลงทุนสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานปรมาณู ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ยันรัฐบาลควรส่งเสริมให้เอกชนทำ พร้อมทั้งแนะรัฐบาลต้องเร่งรีบสร้างระบบรถ ไฟฟ้าขนส่งมวลชน อย่าตัดทอน หวังให้เกิดเส้นทางครบวงจรดันธุรกิจใหม่ เกิดขึ้น เตรียมขนธุรกิจใหม่ๆของเครือฯเปิดบริการในสถานีรถไฟฟ้าใต้ ดิน ประเดิมร้านตัดผมคิวบี ต่อไปจับตาร้านขายสินค้าวัยรุ่นและร้านอาหาร

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางเครือสหพัฒน์มีแนวคิดและให้ความสนใจกับโครงการสร้างโรงงาน ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานปรมาณูที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังอยู่ระหว่างช่วงเริ่มต้นการศึกษาข้อมูล คงต้องใช้ระยะเวลาอีกนานกว่าที่โครงการจะเกิดได้ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยาก อีกทั้งยังต้องใช้เทคโนโลยีด้วย และมูลค่าการลงทุนสูง แต่ถือว่า เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากจะช่วยในการประหยัดต้นทุน และเป็นการหาพลัง-งานใหม่ๆเข้ามาทดแทนพลังงานน้ำมัน ที่ทุกวันนี้มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและต้องอิงกับตลาดโลกด้วย

อย่างไรก็ตาม โครงการรูปแบบ นี้ทางรัฐบาลน่าจะเปิดโอกาสให้เอกชน หรือสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาลงทุนเนื่องจากจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อีกทั้งต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนด้วยว่า พลังงานปรมาณูนั้นมีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมมาก เพราะถ้าหากโครงการแบบนี้เกิดขึ้นแล้วจะช่วยทำให้ไม่ต้องพึ่งพาพลังงาน น้ำมันมากเกินไป ต้นทุนการผลิตต่างๆ จะต่ำลง

นายบุณยสิทธิ์กล่าวถึงโครงการ เมกะโปรเจกต์ต่างๆ ของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือบนดิน ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคการขนส่งต่างๆ ด้วยว่า รัฐบาลควรเร่ง รีบทำโครงการเหล่านี้ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะถ้าหากยิ่งช้าจะยิ่งทำให้โครงการ มีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งไม่ควรจะไปตัดหรือลดทอนบางโครงการลง ซึ่งจะทำให้ระบบการขนส่งด้วยรถไฟฟ้าของไทยไม่สมบูรณ์แบบ และจะไม่เป็นแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถ ไฟฟ้า เพราะการเดินทางที่ไม่ครอบ คลุม มีเพียงบางเส้นทางเท่านั้น

หากระบบรถไฟฟ้าต่างๆเกิดขึ้น มาครบวงจร ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ดีขึ้น และมีโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก เช่นกรณี ล่าสุดคือ ระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน

"ในช่วงที่น้ำมันแพง ในมุมหนึ่ง มีปัญหา แต่อีกมุมหนึ่งผมมองว่าน่าจะเป็นโอกาสให้เกิดอาชีพใหม่ๆ เพราะคนต้องพยายามคิดให้มากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ซึ่งตรงนี้โครงการ โรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานปรมาณู ก็เป็นแนวคิดที่เกิดจากตรงนี้ หรือแม้ แต่ธุรกิจที่เกิดขึ้นกับสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ ก็มีความแปลกใหม่ขึ้น"

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินนั้น ทางกลุ่มสหพัฒน์ก็มีความสนใจ ในการนำธุรกิจในเครือฯมาเปิดบริการ โดยล่าสุดคือ การเปิดร้านตัดผม คิวบีเฮาส์ ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสุขุมวิทเป็นแห่งแรก ซึ่งก่อนหน้านั้นมีแผนที่จะนำเอาร้าน 108 SHOP มาเปิดบริการในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเช่นเดียวกัน แต่ไม่สามารถเปิดได้เนื่อง จากทางร้านเซเว่นอีเลฟเว่นได้จองพื้นที่ทุกสถานีไปก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม สหพัฒน์ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาที่จะนำเอาธุรกิจใหม่ๆแบรนด์ใหม่เข้ามาเปิดบริการในพื้นที่ค้าปลีกของสถานีรถ ไฟฟ้าใต้ดินอีกหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจร้านขายสินค้าสำหรับวัยรุ่น ธุรกิจร้าน อาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนั้นยังมีตู้ขายสินค้าหยอดเหรียญที่จะนำมาติดตั้งในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน อยู่ระหว่างการนำเสนอให้ทางผู้บริหาร ของเมโทรมอลล์ด้วย เนื่องจากจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เข้ามาสริมการขายสินค้าให้แก่ผู้เดินทางได้ โดยใช้พื้นที่ไม่มากและมีความสะดวกในการซื้อสินค้าด้วยการหยอดเหรียญ

"หากในอนาคตเส้นทางรถไฟฟ้า ใต้ดินหรือบนดินมีการขยายตัวออก ไปมากขึ้น ก็จะเป็นอีกช่องทางที่ทำ ให้เกิดธุรกิจร้านค้าปลีกมากขึ้น เราเองก็สนใจและยังตอกย้ำกับความคิดที่ว่าควรจะให้มีรถไฟฟ้าเกิดขึ้นมากกว่านี้ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผม" นายบุณยสิทธิ์กล่าว

นายศิริศักดิ์ พันธ์นรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิวบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้เปิดร้านตัดผมคิวบีแล้ว 4 แห่ง คือที่ ธนิยะพลาซ่า เดอะมอลล์รามคำแหง สวนลุมไนท์บาซาร์ และสาขาล่าสุดที่สถานีรถ ไฟฟ้าใต้ดินสุขุมวิท พื้นที่ใหญ่สุด 25 ตารางเมตร หลังจากนั้นจะตามมาอีก 2 สาขา คือ ที่สถานีพหลโยธิน และจตุจักร ซึ่งเสียค่าเช่า 3,000 บาทต่อ ตารางเมตรต่อเดือน โดยลงทุนสาขาละประมาณ 3 ล้านบาท เฉลี่ย 2-4 ที่นั่งต่อสาขา พื้นที่ประมาณ 18-20 ตารางเมตร

ทั้งนี้ ในปีหน้ามีแผนที่จะขยายธุรกิจโดยมีเป้าหมายให้มีที่นั่งบริการรวม 100 ที่นั่ง จากปัจจุบันที่มีประมาณ 30 ที่นั่ง และคาดว่าจะมีลูกค้าเข้าใช้บริการเพิ่มเป็น 30 คนต่อที่นั่งต่อสาขา ต่อวัน จากปัจจุบันเฉลี่ย 20 คนต่อที่นั่งต่อสาขาต่อวัน คาดว่าจะคืนทุนประมาณ 3 ปี และมีแผนที่จะเปิดขาย แฟรนไชส์ด้วย โดยอยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียดและเงื่อนไข

สำหรับค่าบริการของร้านคิวบีจะคิดราคาเดียวคือ 100 บาทต่อคน ใช้เวลาตัดประมาณ 10 นาทีซึ่งเป็นจุดเด่นของร้าน จึงเหมาะสมกับการเปิดบริเวณรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งคิวบีในญี่ปุ่นเองนั้นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ร่วมทุนกับกลุ่มสหพัฒน์ก็มีสาขาเปิดในสถานีรถไฟฟ้าหลายแห่งและได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งตรงนี้เป็นไปตามนโยบายของประธานเครือสหพัฒน์ที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้เกิดขึ้นหลายเส้นทางเพื่อจะได้มีธุรกิจ ใหม่เกิดขึ้นตามมาในภาพรวม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.