50องค์กรชักธงรบต้านกฟผ.


ผู้จัดการรายวัน(12 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

50 องค์การพันธมิตรคัดค้านการขายสมบัติชาติ ผนึกกำลังต้าน กฟผ.เข้าตลาดหุ้น เตรียมแจกใบปลิวทั่วกรุง 1 แสนใบ ชักชวนประชาชนเป็นแนวร่วมคัดค้าน หมอเหวงระบุชัด แปรรูปทำค่าไฟพุ่งซ้ำเติมค่าครองชีพคนไทย แฉค่าเอฟทีใหม่บวกกำไรโอเวอร์ ใช้วิธีสุดพิสดารรีดเลือดจากปู ด้านนักวิชาการจี้ทบทวนโครงสร้างราคาก๊าซของ ปตท.ใหม่ อัด กฟผ.ส่อเค้าผูกขาดมุ่งแสวงกำไรป้อนผู้ถือหุ้นซ้ำรอย ปตท.ไม่สนประชาชน

น.พ.เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย และแกนนำกลุ่มพันธมิตร เปิดเผยภายหลังการประชุม ตัวแทนองค์การ พันธมิตรคัดค้านการขายสมบัติชาติกว่า 50 แห่ง วานนี้ (11 ก.ย.) เพื่อหารือกันถึงแนวทางในการเคลื่อนไหวคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานโดยเฉพาะบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน)ที่กำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า สัปดาห์หน้าองค์การพันธมิตรจะนำใบปลิวที่มีเนื้อหาสาระคัดค้านการฉวยโอกาสปรับขึ้นค่าไฟ และ การแปรรูป กฟผ. จำนวน 100,000 ใบ ออกแจกจ่ายทั่วกรุงเทพมหานคร รวมถึงจะเปิดอภิปรายในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เพื่อกระจายข่าวสาร และดึงประชาชนเข้ามาเป็นแนวร่วมในการคัดค้านเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่องค์การพันธมิตรฯ ต้องการเรียกร้องคือ การไม่ไปซ้ำเติมประชาชนในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพรอบด้าน แต่รัฐบาลยังปล่อยให้ กฟผ.ขึ้นค่าไฟอีก 46.83 สตางค์ ทำให้ค่าไฟ ต่อหน่วยเท่ากับ 2.72 บาท นอกจากนี้ ยังนำวิธีพิสดารมาคำนวณ ค่าเอฟทีจากค่าเชื้อเพลิงล่วงหน้า 4 เดือนมาใช้ บวกเพิ่มเข้าไปในค่าไฟอีกทำให้ประชาชนเดือดร้อนเพิ่มไปอีก โดยผล กระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกิดจากแนวทางที่รัฐบาลพยายามผลักดันกระจายหุ้นของ กฟผ.เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

นอกจากนี้ การใช้ข้ออ้างว่าราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการขึ้นค่าไฟฟ้า ก็ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลหลอกลวงประชาชน เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าในประเทศส่วนใหญ่ใช้ก๊าซถึงร้อยละ 70 และราคาก๊าซวันนี้ไม่ได้สูงขึ้นเหมือนน้ำมัน โดยมีราคาเพียง 160 บาทต่อล้านบีทียูเท่านั้น และสามารถนำมาคำนวณเป็นต้นทุนผลิตไฟฟ้าเพียง 1.49 บาทหน่วยเท่านั้น เมื่อบวกกำไรให้แก่องค์กร เช่น กฟผ. และการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แห่งละ-ร้อยละ 20 จะได้ราคาค่าไฟฟ้าแค่ 2.18 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น ราคาค่าไฟ 2.72 บาทต่อหน่วย ที่รัฐบาลจะจัดเก็บใหม่นี้จึงเป็นการเอาเปรียบประชาชนมากเกินไป หวั่นซ้ำรอยผูกขาดเหมือน ปตท.

นางชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ็น นักวิชาการกลุ่มพลังไท วิเคราะห์การแปรรูป กฟผ.ขณะนี้ว่า จะซ้ำรอยการแปรรูป ปตท. ซึ่งยังคงสิทธิผูกขาดต่างๆ เอาไว้ และทำกำไรเพื่อประกันผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น โดยขาดระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ผู้บริโภค ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนจนถึงบัดนี้

เธอบอกว่า เวลานี้แม้ ปตท.จะมีสถานะเป็นบริษัท แต่ได้มีการโอนสิทธิประโยชน์ในฐานะรัฐวิสาหกิจและอำนาจรัฐบาลอย่างให้แก่ ปตท. ที่สำคัญคือ สิทธิในการผูกขาดกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ สิทธิในการเวนคืน และสิทธิในการยกเว้น ภาษีต่างๆ ปตท.จึงอยู่ในฐานะผู้ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวในการจัดหาก๊าซในประเทศ และการลงทุนในโครงการต่างๆ ของ ปตท. ยังได้รับการประกันผลตอบแทนการลงทุนในโครงการ (IRROE) จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึง 16% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก ปตท.จึงเป็นผู้ผูกขาดรายเดียวที่แทบจะไม่มีความเสี่ยงใดๆ ในการลงทุน

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการแปรรูปของ ปตท.ที่เห็นได้ชัดมีเพียงเป้าหมายซึ่งเดิมเป็นรัฐวิสาหกิจดำเนินกิจการสาธารณูปโภคเพื่อประชาชน กลายเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ ขณะที่เป้าหมายเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพสู่มาตรฐานสากล ความโปร่งใส และการเพิ่มการแข่งขันการให้บริการแก่ประชาชนซึ่งเป็นข้ออ้างสำคัญในการแปรรูปกลับไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันให้บริการประชาชน

"ก่อนการแปรรูป ปตท.เมื่อปี 44 มีคำมั่นสัญญาที่จะดำเนินการหลังนำหุ้นเข้าตลาดคือ จะแยก ธุรกิจท่อส่งก๊าซ ออกจากธุรกิจส่วนอื่นภายในหนึ่งปี เพื่อเปิดทางให้มีการแข่งขันลดการผูกขาด และจะจัดตั้งองค์กรกำกับอิสระก๊าซและไฟฟ้าเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่จนบัดนี้กลับไม่มีการแยกธุรกิจท่อส่งออกไปและเปิดให้มีการแข่งขันในธุรกิจจัดหาก๊าซ ไม่มีการจัดตั้งองค์กรกำกับอิสระ จนบัดนี้ ปตท. ยังคงผูกขาดอยู่เช่นเดิม" นักวิชาการกลุ่มพลังไท ทวงถาม

สำหรับคำสัญญาที่รัฐบาลรักษาและกระทำตามมีเพียงข้อเดียวคือ ประกันผลตอบแทนนการลงทุนของ ปตท. ในอัตรา 16% ตามมติ ครม. เมื่อเดือน ธ.ค. 46 ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติโครงการท่อส่งก๊าซ เส้นที่ 3 ของ ปตท. ซึ่งมีมูลค่า 100,000 ล้านบาท ท่ามกลางข้อวิจารณ์ว่าแผนการลงทุนดังกล่าวไม่คุ้มค่าการลงทุน เรื่องนี้ นายณอคุณ สิทธิพงษ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ก็ยอมรับในงานประชาพิจารณ์ แปรรูป กฟผ. ที่วุฒิสภาว่า แผนลงทุนท่อก๊าซเส้นที่ 3 ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนด้วยตัวของมันเอง

"แต่เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่กำหนด ท่อก๊าซเส้นที่ 3 จะต้องเก็บค่าผ่านท่อที่อัตรา 23.5 บาท/ล้านบีทียู ซึ่งจะต้องนำไปเกลี่ยราคาท่อส่งก๊าซเส้นที่ 1 และ 2 ที่ค่าผ่านท่อมีราคาอยู่ที่ 19.4 บาท/ล้านบีทียู เพื่อให้ราคาเป็นที่ยอมรับได้ เป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชนผู้บริโภคเพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทน 16% ตามที่รัฐบาลประกันไว้" นางชื่นชม ให้ข้อมูล

ไม่เพียงเท่านั้น ปตท.ยังขอขยายแผนและงบลงทุนจากเดิม 100,000 ล้านบาทเป็น 150,000 ล้านบาท โดยอ้างความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามแผนพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าหรือ พีดีพี 2004 และราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น จะเห็นได้ว่า การลงทุน ของ ปตท.ไม่จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องความเสี่ยงหรือประสิทธิภาพการลงทุนแต่อย่างใด เพราะยิ่งใช้งบลงทุนสูง ผลตอบแทนก็สูงมากขึ้นเนื่องจากรัฐบาลประกันผลตอบแทนล่วงหน้าไว้ให้แล้วนั่นเอง

เธอบอกว่า การผูกขาดจัดหาก๊าซของปตท. เพื่อจำหน่ายต่อแก่ลูกค้าหลักๆ คือ กฟผ. ประมาณ 36% โรงไฟฟ้าของผู้ลงทุนรายใหญ่อิสระ (IPP) 26% และผู้ลงทุนรายย่อย (SPP) 15% ที่เหลือเป็นการใช้ในภาคอุตสาหกรรม โรงแยกก๊าซและปิโตรเคมี ดังนั้นรายได้หลักของ ปตท. ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จึงมาจากภาคการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสูตรโครงสร้างราคาก๊าซ ที่ ปตท. ได้รับ คือ ราคาเฉลี่ยก๊าซที่ปากหลุมบวกกำไร บวกค่าผ่านท่อ (19.4 บาท/ล้านบีทียู) โดยค่าผ่านท่อ คำนวณจากฐานอัตราผลตอบแทนการลงทุนในการวางท่อก๊าซ 18% ซึ่งถือว่าสูงมาก

จุดนี้ทำให้ ปตท.มีรายได้มหาศาลจากการจำหน่ายก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ หากเทียบเงิน ค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคจ่ายในแต่ละ 100 บาท จะไปตกอยู่กับปตท.เกือบ 43 บาท ขณะที่ กฟผ.จะได้รับเพียง 27-28 บาท แต่เมื่อขึ้นค่าไฟแต่ละครั้ง กฟผ.มักจะตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์จากผู้บริโภค แต่ผู้ขูดรีดที่แท้จริงคือ ปตท.ไม่เคยถูกวิจารณ์เลยŽ นางชื่นชม กล่าว จี้ทบทวนโครงสร้างราคาก๊าซ

นักวิชาการอิสระจากกลุ่มพลังไท เสนอว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำเพื่อลดภาระของประชาชนคือ ทบทวนโครงสร้างราคาก๊าซโดยลดค่าผ่านท่อให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยให้ ปตท.กำไรมากโดยผู้บริโภครับภาระอย่างไม่เป็นธรรมดังเช่นที่เป็นอยู่

"บทเรียนจากกรณีแปรรูป ปตท. คือ การปล้นเงียบ ปล้นอย่างถูกกฎหมายและสง่างาม จึงไม่ควรปล่อยให้ กฟผ. เจริญรอยตาม ปตท." นางชื่นชม กล่าว

ด้านนางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านการแปรรูป กฟผ. และการขึ้นค่าไฟอย่างต่อเนื่อง ชี้ว่า จากประสบการณ์ของ ปตท. มาถึง กฟผ. หากยังไม่มีองค์กรกำกับกิจการไฟฟ้าที่แท้จริงและทำหน้าที่ได้จริง ก็ต้องไม่นำกฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ประเด็นองค์กรกำกับอิสระที่องค์กรผู้บริโภค เรียกร้องก็คือ เป็นองค์กรถาวรที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ. ประกอบกิจการไฟฟ้าฯ โดยคณะกรรมการฯ ต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีความทับซ้อนของผลประโยชน์ ไม่ถูก แทรกแซงจากนักการเมืองและธุรกิจ และมีอำนาจจริงไม่ใช่องค์กรกำกับฯชั่วคราวที่ตั้งขึ้นมาขัดตาทัพดังเช่นที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลานี้ ที่สำคัญต้องมีกระบวนการสร้างความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูล เช่น โครงสร้างราคาเชื้อเพลิง, สูตรการเรียกเก็บค่าพลังงานและบริการต่างๆ จากผู้บริโภค รวมถึงการมีตัวแทนผู้บริโภคเข้าร่วมในคณะกรรมการกำกับอิสระด้วย

นอกจากนั้น การออก พ.ร.บ.การประกอบกิจการไฟฟ้าจะต้องครอบคลุมกิจการก๊าซและพลังงานโดยรวมไม่ใช่เพียงพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น เพราะการผลิตไฟฟ้านั้นใช้ก๊าซฯ ซึ่ง ปตท. ผูกขาด เป็นเชื้อเพลิงในสัดส่วนสูงกว่า 70%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.